ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ เตรียมโต้วาทีกับ โจ ไบเดน คู่แข่งจากพรรคเดโมแครต ในการดีเบตประชันวิสัยทัศน์รอบสุดท้าย ในเวลา 21.00-22.30 น. ของวันนี้ (22 ตุลาคม) ตามเวลาท้องถิ่น หรือตรงกับช่วงเช้าพรุ่งนี้ตามเวลาไทย ที่มหาวิทยาลัยเบลมอนต์ เมืองแนชวิลล์ มลรัฐเทนเนสซี โดยมี คริสเตน เวลเกอร์ ผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบขาว จาก NBC News ทำหน้าที่ดำเนินรายการ
รูปแบบการดีเบตจะแบ่งออกเป็น 6 ช่วง 6 หัวข้อ ช่วงละ 15 นาที ผู้สมัครแต่ละฝ่ายจะได้เวลาคนละ 2 นาทีในช่วงเริ่มต้นเพื่อสามารถตอบคำถามได้ โดยที่อีกฝ่ายถูกปิดไมโครโฟนไม่ให้พูดแทรก
ขณะที่คณะกรรมการจัดดีเบต ประกาศหัวข้อสำหรับการดีเบตรอบนี้ แบ่งเป็น 6 หัวข้อใหญ่ ได้แก่
- การต่อสู้กับโควิด-19
- เชื้อชาติในอเมริกา
- การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
- ความมั่นคงของชาติ
- ภาวะผู้นำ
- ครอบครัวอเมริกัน
ซึ่งเวลเกอร์จะเปิดแต่ละช่วงด้วยคำถามจากหัวข้อเหล่านี้ ก่อนจะให้ผู้สมัครแต่ละฝ่ายตอบคำถามแสดงวิสัยทัศน์ ซึ่งทั้งทรัมป์และไบเดนต่างก็มีท่าทีและนโยบายที่แตกต่างกันในแต่ละหัวข้อ ดังนี้
การต่อสู้กับโควิด-19
โควิด-19 ถูกจับตามองว่าจะเป็นประเด็นใหญ่ในการดีเบตรอบนี้ หลังจากที่ทรัมป์กลายเป็นหนึ่งในผู้ติดเชื้อ ภายหลังเข้าร่วมการดีเบตรอบแรกกับไบเดนได้เพียงไม่กี่วัน แม้ว่าล่าสุดทรัมป์และทีมแพทย์จะยืนยันว่าเขามีผลตรวจเชื้อเป็นลบแล้ว และไม่แพร่เชื้อ แต่ก็ยังทำให้หลายฝ่ายเกิดข้อสงสัยว่าเขาหายดีแล้วจริงหรือ? และเขามีผลตรวจเชื้อเป็นลบครั้งสุดท้ายเมื่อใด?
ช่วงหลายสัปดาห์ หลังจากที่อาการของทรัมป์ดีขึ้น เขาพยายามแสดงให้ชาวอเมริกันเห็นว่าโควิด-19 นั้นไม่ใช่โรคระบาดร้ายแรงอย่างที่คิด แม้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมทั่วโลก ณ ปัจจุบัน จะสูงแตะหลัก 40 ล้านคน และสหรัฐฯ ติดเชื้อสูงเป็นอันดับ 1 กว่า 8.5 ล้านคน
อีกทั้งยังมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง หลังจากช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันของแต่ละรัฐพุ่งสูงทุบสถิติอย่างน้อย 10 รัฐ และผู้เชี่ยวชาญหวั่นวิตกว่าในอนาคตอันใกล้ ชาวอเมริกันอาจได้เห็นยอดผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มสูงกว่าวันละ 100,000 ราย
ขณะที่สถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ที่ย่ำแย่ ยังเป็นข่าวร้ายที่ก่อให้เกิดความไม่แน่นอนสำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ครั้งนี้ ทั้งในเรื่องรูปแบบการลงคะแนนที่อาจเปลี่ยนไปเป็นการลงคะแนนทางไปรษณีย์มากขึ้นเพื่อป้องกันการติดเชื้อ รวมทั้งนโยบายและมุมมองทางการเมืองของผู้สมัคร ซึ่งทรัมป์นั้นถูกโจมตีว่าล้มเหลวในการรับมือกับวิกฤตโรคระบาดใหญ่นี้ และไบเดนยังใช้จุดอ่อนนี้ในการตอกย้ำความผิดพลาดในการบริหารประเทศของทรัมป์
เชื้อชาติในอเมริกา
ถือเป็นประเด็นร้อนสำหรับผู้สมัครทั้งสองฝ่าย ซึ่งในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งทรัมป์และไบเดนต่างถูกกดดันให้แสดงออกถึงจุดยืนของพวกเขาที่มีต่อประเด็นการแบ่งแยกเชื้อชาติ โดยเฉพาะกลุ่มพลเมืองผิวสี
ซึ่งไบเดนนั้นเน้นย้ำเรื่องการสร้างความเป็นธรรมในระบบยุติธรรมของสหรัฐฯ ตลอดจนปรับปรุงนโยบายด้านเศรษฐกิจและการศึกษาเพื่อสนับสนุนชาวอเมริกันผิวสี
ขณะที่ทรัมป์ยืนยันว่าที่ผ่านมา เขาเป็นผู้นำที่ทำเพื่อชุมชนชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันมากกว่าผู้นำสหรัฐฯ คนใดในประวัติศาสตร์ ยกเว้นอดีตประธานาธิบดี อับราฮัม ลินคอล์น และก่อนหน้านี้ในเดือนกันยายน เขายังเปิดเผยแผนทุ่มงบประมาณ 500,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสนับสนุนชีวิตความเป็นอยู่ของพลเมืองผิวสี ทั้งการเพิ่มโอกาสเข้าถึงทางธุรกิจของผู้ประกอบการพลเมืองผิวสี และการจัดฝึกอบรมเรื่องความหลากหลายทางเชื้อชาติให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้บังคับใช้กฎหมาย เพื่อการปฏิบัติที่เหมาะสมต่อพลเมืองเหล่านั้น
อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ยังคงมีจุดยืนชัดเจนในการสนับสนุนการทำหน้าที่ของตำรวจและมั่นใจว่าตำรวจส่วนใหญ่นั้นเป็นคนดี
การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
สำหรับไบเดน ประเด็นนี้ทำให้เขาถูกมองว่ามีท่าทีเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา โดยในปี 2019 ในการดีเบตชิงตัวแทนพรรคเดโมแครต เขากล่าวว่าจะแบนการผลิตปิโตรเลียม ด้วยกรรมวิธีแบบ Fracking ที่ใช้น้ำและสารเคมี ก่อนที่ทีมหาเสียงจะรีบออกมาแก้ว่าไบเดนนั้นพูดผิด และไบเดนออกมาแก้ไขอีกครั้งว่าเขานั้นต้องการแบน Fracking แต่ทราบดีว่าเป็นไปไม่ได้
ขณะที่ทรัมป์หยิบเอาประเด็นนี้มาโจมตีไบเดนว่า การแบน Fracking นั้นจะส่งผลกระทบต่อการสร้างงานในอุตสาหกรรมถ่านหินและเหล็ก ตลอดจนการผลิตพลังงานในประเทศ ซึ่งแน่นอนว่าส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ
นอกจากนี้ยังมีประเด็นร่างกฎหมายเพื่อสิ่งแวดล้อมฉบับใหม่ที่เรียกว่า Green New Deal ซึ่งไบเดนประกาศว่าเขาไม่สนับสนุนร่างกฎหมายฉบับนี้ ที่ให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานทดแทนเพื่อรับมือกับปัญหาสภาพอากาศแปรปรวน
แต่ทรัมป์กล่าวว่าเขาสนับสนุน Green New Deal เป็นส่วนหนึ่งในกรอบการทำงานสำหรับแผนรับมือภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เผยแพร่ออกมาเมื่อเดือนกรกฎาคม
ส่วนนโยบายสำหรับสภาพภูมิอากาศโลกนั้น ที่ผ่านมาทรัมป์แสดงออกชัดเจนด้วยการถอนสหรัฐฯ ออกจากความตกลงปารีส (Paris Climate Accord) ซึ่งเป็นความตกลงเพื่อกำหนดมาตรการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ขณะที่ไบเดนประกาศว่าเขาจะนำสหรัฐฯ กลับเข้าร่วมความตกลงฉบับนี้อีกครั้งทันทีที่เขาชนะการเลือกตั้ง
ความมั่นคงของชาติ
ความมั่นคงเป็นอีกประเด็นที่สามารถดึงดูดความสนใจของประชาชน และถูกหยิบยกมาพูดในการดีเบตรอบแรก ซึ่งที่ผ่านมาไบเดนกล่าวโจมตีนโยบายความมั่นคงของทรัมป์ โดยเฉพาะท่าทีต่อกลุ่มหัวรุนแรงผิวขาวสุดโต่งที่เรียกว่า White Supremacist ซึ่งทรัมป์ไม่ยอมกล่าวประณามการก่อความรุนแรงของคนกลุ่มนี้ในการดีเบตรอบแรก
ขณะที่ช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ทางกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ ได้เปิดเผยผลประเมินภัยคุกคามของชาติ และชี้ว่ากลุ่ม White Supremacist เป็นหนึ่งในภัยคุกคามร้ายแรงที่สุดของสหรัฐฯ ในเวลานี้
ภาวะผู้นำ
ภาวะผู้นำหรือการขาดภาวะผู้นำ อาจเป็นใครก็ได้ ทั้งทรัมป์และไบเดน ซึ่งตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายต่างหยิบยกเอาเรื่องรูปแบบการบริหารงานของแต่ละฝ่ายมาโจมตี
โดยไบเดนมักจะชี้ความผิดพลาดในฐานะผู้นำของทรัมป์ที่สร้างความเข้าใจผิดต่อสาธารณชนเกี่ยวกับอันตรายของโควิด-19 และกล่าวโทษที่เขาไม่สนใจหลักวิทยาศาสตร์ ว่าเป็นความประมาทและบกพร่อง และโจมตีทรัมป์ว่าเป็นผู้นำที่สร้างความแตกแยกมากที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ ในขณะที่พยายามชูภาพลักษณ์ของเขาที่จะเป็นประธานาธิบดีสำหรับชาวอเมริกันทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนที่โหวตให้เขาหรือไม่ก็ตาม
“เราจำเป็นต้องปลุกจิตวิญญาณความร่วมมือร่วมใจในประเทศนี้ ถึงเวลาสร้างความปรองดองให้อเมริกาแล้ว” ไบเดนกล่าวระหว่างการเดินสายปราศรัยที่รัฐโอไฮโอก่อนหน้านี้
ในขณะที่ทรัมป์มักจะโจมตีไบเดนที่ไร้ประสิทธิภาพในการเป็นผู้นำ และเปรียบเทียบผลงานของตัวเองกับผลงานที่ไบเดนเคยทำในช่วงที่ทำงานให้กับรัฐบาล รวมถึงช่วงรับตำแหน่งรองประธานาธิบดี
“ข้อเท็จจริงคือ สิ่งที่ผมทำในฐานะประธานาธิบดี ช่วง 47 เดือนที่ผ่านมา มากกว่าที่ไบเดนทำมาตลอด 47 ปี” ทรัมป์กล่าวระหว่างหาเสียงในรัฐเนวาดา
ครอบครัวอเมริกัน
หัวข้อนี้ถือเป็นหัวข้อที่ค่อนข้างกว้างเกี่ยวกับนโยบายเพื่อครอบครัวอเมริกัน และยังไม่แน่ชัดว่าพิธีกรจะถามผู้สมัครแต่ละคนอย่างไร
โดยในการปราศรัยหาเสียงของทรัมป์ระยะหลัง มีการกล่าวถึงกลุ่ม Suburban Women หรือหญิงสาวชานเมือง ซึ่งเป็นกลุ่มผู้มีการศึกษาสูงและมีรายได้ปานกลางค่อนไปทางสูง ซึ่งทรัมป์มั่นใจว่าหญิงสาวกลุ่มนี้จะโหวตให้เขา เพราะต้องการความปลอดภัยและความมั่นใจในชีวิต
แต่โพลสำรวจความเห็นจาก Pew Research Center ชี้ว่าตอนนี้ ไบเดนได้เสียงสนับสนุนจากกลุ่มหญิงชานเมืองนี้กว่า 60%
ขณะที่ไบเดนมีโอกาสเอาชนะทรัมป์จากการโจมตีความล้มเหลวของทรัมป์ในการดำเนินนโยบายเพื่อครอบครัวชาวอเมริกัน หลังเป็นไปได้ว่าทรัมป์ยังไม่สามารถออกมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ได้ก่อนที่จะถึงวันเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 3 พฤศจิกายนนี้ เนื่องจากผ่านเส้นตายของสภาคองเกรส ในการหารือมาตรการเหล่านี้ไปเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (20 ตุลาคม)
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล
อ้างอิง: