ประธานาธิบดีสหรัฐฯ Donald Trump มีกำหนดเยือนภูมิภาคอ่าวเปอร์เซีย หรือที่เขาอาจเรียกว่าอ่าวอาหรับในวันที่ 13 พฤษภาคมนี้ โดยจะแวะเยือนซาอุดีอาระเบีย กาตาร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) การเยือนครั้งนี้เกิดขึ้นท่ามกลางความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่คุกรุ่น
การเยือนครั้งนี้มีวาระสำคัญทั้งการเจรจาหยุดยิงในสงครามอิสราเอล-กาซา ประเด็นน้ำมัน การค้า ข้อตกลงการลงทุน รวมถึงความเป็นไปได้ในการพัฒนานโยบายใหม่ๆ ด้านการส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูง และโครงการนิวเคลียร์ ซึ่งล้วนเป็นประเด็นที่ ‘เดิมพันสูง’ อย่างยิ่ง
Monica Malik หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จาก Abu Dhabi Commercial Bank ให้สัมภาษณ์กับ CNBC ว่า “เราคาดว่าจะได้เห็นการประกาศสำคัญๆ หลายอย่าง และคิดว่าครอบคลุมในหลากหลายด้านเช่นกัน” เธอยังชี้ถึงความเป็นไปได้ที่ Trump อาจยกเลิกภาษี 10% สำหรับอะลูมิเนียมและเหล็ก ซึ่งจะเป็นผลดีต่อรัฐอ่าวอาหรับบางแห่งที่ส่งออกโลหะเหล่านี้ไปยังสหรัฐฯ แม้จะมีสัดส่วนเพียงเล็กน้อยใน GDP ของประเทศเหล่านั้นก็ตาม
ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่าง Trump กับประเทศอาหรับในภูมิภาคอ่าว โดยเฉพาะสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) และซาอุดีอาระเบีย ซึ่งครอบครัวของเขามีธุรกิจและโครงการอสังหาริมทรัพย์หลายแห่ง อาจช่วยเสริมความแข็งแกร่งในการเจรจาข้อตกลงการค้าใหม่ๆ
ทว่าก็สร้างความกังวลในหมู่ผู้วิจารณ์ถึงผลประโยชน์ทับซ้อนที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่ครอบครัว Trump ปฏิเสธมาโดยตลอด ทั้งนี้ ซาอุดีอาระเบียยังเป็นเจ้าภาพการเจรจาที่ Trump หวังว่าจะยุติสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราชอาณาจักรแห่งนี้มีความสำคัญต่อวอชิงตันมากยิ่งขึ้น ส่วนกาตาร์ก็มีบทบาทสำคัญในการเจรจาระหว่างอิสราเอลและฮามาส
การเยือนของประธานาธิบดีครั้งนี้ยังดึงดูดบรรดายักษ์ใหญ่จาก Wall Street และ Silicon Valley สู่ซาอุดีอาระเบีย โดยการประชุม Saudi-U.S. investment forum ที่เพิ่งประกาศและจะจัดขึ้นในวันที่ 13 พฤษภาคม ณ กรุงริยาด จะมีแขกคนสำคัญ อาทิ Larry Fink ซีอีโอ BlackRock, Alex Karp ซีอีโอ Palantir และซีอีโอจากบริษัทชั้นนำอย่าง Citigroup, IBM, Qualcomm, Alphabet และ Franklin
Templeton รวมถึง David Sacks ที่ปรึกษาทำเนียบขาวด้าน AI และคริปโต
Monica Malik กล่าวเสริมว่า “เราคาดว่าจะมีการประกาศข้อตกลงการลงทุนจำนวนมากเช่นกัน และเป็นการลงทุนทั้งสองทาง เราได้เห็น UAE ประกาศลงทุนในสหรัฐฯ หลายโครงการแล้ว ทั้งในด้าน AI พลังงาน อะลูมิเนียม และเราก็คิดว่าจะมีโอกาสสำหรับบริษัทสหรัฐฯ ในการเพิ่มการลงทุนเช่นกัน” ทั้งซาอุดีอาระเบียและ UAE ได้ทุ่มงบประมาณมหาศาลในโครงสร้างพื้นฐานด้าน AI โดยตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีระดับโลก
ดังนั้น ประเด็นสำคัญสำหรับผู้นำเหล่านี้คืออนาคตการส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นชิปขั้นสูงที่พวกเขายังไม่สามารถเข้าถึงได้เนื่องจากข้อกังวลด้านความมั่นคงแห่งชาติ แต่สถานการณ์นี้อาจกำลังเปลี่ยนแปลง รัฐบาล Trump เพิ่งประกาศว่าจะยกเลิกกฎควบคุมการส่งออกชิป AI ขั้นสูงที่เข้มงวดของยุค Biden โดยจะนำมาตรการใหม่ที่เรียบง่ายกว่ามาแทนที่ โฆษกกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ระบุว่า กฎใหม่นี้จะช่วยปลดปล่อยศักยภาพด้านนวัตกรรมของอเมริกาและรักษาความเป็นผู้นำด้าน AI ของประเทศ
ประเด็นโครงการนิวเคลียร์อิหร่านก็เป็นอีกเรื่องสำคัญที่รัฐบาล Trump กำลังเจรจาอย่างแข็งขัน โดยได้รับการสนับสนุนจาก UAE และซาอุดีอาระเบีย ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากท่าทีในสมัย Obama ในขณะเดียวกัน ซาอุดีอาระเบียก็ต้องการมีโครงการพลังงานนิวเคลียร์ที่ไม่ใช่เพื่อการทหารเป็นของตนเอง และได้ขอการอนุมัติและความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ
ก่อนหน้านี้การสนับสนุนใดๆ จากสหรัฐฯ ขึ้นอยู่กับการที่ซาอุดีอาระเบียจะปรับความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิสราเอลให้เป็นปกติ แต่เงื่อนไขนี้อาจเปลี่ยนแปลงได้ในการเยือนครั้งนี้ Chris Wright รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ กล่าวระหว่างเยือนซาอุดีอาระเบียเมื่อเดือนเมษายนว่า ทั้งสองประเทศอยู่บน ‘เส้นทาง’ สู่ข้อตกลงโครงการพลังงานนิวเคลียร์ที่ไม่ใช่เพื่อการทหาร แต่การประกาศใดๆ เพิ่มเติมจะมาจาก Trump เอง
อนาคตของกาซาเป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญในการเจรจา Trump ประกาศชัดเจนว่าต้องการยุติความขัดแย้ง แต่ก็สร้างความไม่พอใจเมื่อเสนอแนวคิดว่าสหรัฐฯ อาจเข้าควบคุมพื้นที่กาซา Greg Branch ผู้ก่อตั้ง Branch Global Capital Advisors ที่ตั้งอยู่ใน UAE ให้ความเห็นว่า นี่อาจเป็นโอกาสสุดท้ายที่จะได้เห็นประเทศอาหรับร่วมกันแก้ไขปัญหากาซา โดยเชื่อว่าการเจรจาในประเด็นนี้จะดำเนินไปอย่างระมัดระวังและไม่เปิดเผยสู่สาธารณะ
นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่ารัฐบาล Trump อาจประกาศเปลี่ยนชื่อเรียกอ่าวเปอร์เซียเป็นอ่าวอาหรับ ซึ่งจะได้รับการต้อนรับอย่างกระตือรือร้นจากรัฐอาหรับ แต่อาจสร้างความไม่พอใจอย่างรุนแรงให้อิหร่านในช่วงเวลาที่การเจรจานิวเคลียร์มีความละเอียดอ่อน
ส่วนราคาน้ำมันก็อยู่ในความสนใจ Trump ผลักดันให้กลุ่ม OPEC ซึ่งนำโดยซาอุดีอาระเบียเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อลดราคาให้ผู้บริโภคชาวอเมริกัน ซึ่งซาอุดีอาระเบียก็กำลังทำเช่นนั้น แต่ อาจต้องเปลี่ยนทิศทางหากราคายังคงซบเซา กระทบรายได้ของราชอาณาจักร ดังนั้น การจัดหาเงินทุนจึงเป็นวาระสำคัญสำหรับซาอุดีอาระเบียในการเยือนของ Trump ครั้งนี้ ตามความเห็นของ Malik
โดยซาอุดีอาระเบียเคยให้คำมั่นในเดือนพฤศจิกายนว่าจะลงทุน 6 แสนล้านดอลลาร์ (ประมาณ 22.08 ล้านล้านบาท) ในสหรัฐฯ ตลอดวาระของ Trump แต่ก็มีค่าใช้จ่ายสูงลิ่วสำหรับโครงการลงทุน Vision 2030 ของตนเอง ซึ่งการเยือนครั้งนี้อาจเป็น ‘หัวเลี้ยวหัวต่อ’ สำคัญในหลายมิติ
ภาพ: Brandon Bell / Getty Images
อ้างอิง: