×

ประมวล 100 วันแรก ทรัมป์ 2.0 โค่นระเบียบโลกเพื่อ ‘America First’

28.04.2025
  • LOADING...
America First

คงจะไม่เกินจริง หากจะบอกว่า 100 วันแรกของโดนัลด์ ทรัมป์ ในตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมัยที่ 2 เปรียบเสมือนฝันร้ายของชาวอเมริกันและประชาชนทั่วโลกจำนวนมาก ที่กำลังเผชิญผลกระทบจากนโยบายแบบ ’สุดโต่ง’ ทั้งการขึ้นภาษีตอบโต้ทั่วโลก, หั่นความช่วยเหลือต่างประเทศ, ถอนสหรัฐฯ จากองค์การอนามัยโลก, ถอยห่างจากพันธมิตร NATO และรับฟังมุมมองของรัสเซียในการทำสงครามรุกรานยูเครน ตลอดจนมีแนวคิดที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ เช่น ต้องการยึดครองกรีนแลนด์, ต้องการยึดคลองปานามาคืน และต้องการทำให้แคนาดากลายเป็นรัฐที่ 51 ของสหรัฐฯ

 

ความวุ่นวายทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายในเวลาเพียง 100 วัน ภายใต้แนวคิดการบริหารประเทศแบบ America First หรือ อเมริกาต้องมาก่อน 

 

ท่าทีของทรัมป์ ที่ยากแก่การคาดเดา โดยเฉพาะเรื่องขึ้นภาษีที่กลับไปกลับมา ทำให้เกิดความปั่นป่วน โค่นล้มระเบียบโลกที่รัฐบาลวอชิงตันในอดีตเคยร่วมสร้างขึ้นมาหลังเถ้าถ่านของสงครามโลกครั้งที่สอง

 

และนี่คือประมวลผลงานและสิ่งที่เกิดขึ้นบางส่วนจากนโยบาย ของทรัมป์ ในช่วง 100 วันแห่งความวุ่นวาย ซึ่งแน่นอนว่ายัง ‘ไม่จบ’ และเพิ่งจะ ‘เริ่มต้น’ เท่านั้น

 

นโยบายในประเทศ: ถอนรากแนวคิดเสรีนิยม

 

เนรเทศผู้อพยพผิดกฎหมาย

ทรัมป์มุ่งเน้นนโยบายกวาดล้างผู้อพยพผิดกฎหมายอย่างจริงจัง ตามที่ให้คำมั่นไว้ในช่วงหาเสียง โดยบังคับใช้กฎหมายอย่างกว้างขวางและระดมกำลังเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองทำหน้าที่อย่างเข้มข้นนับตั้งแต่รับตำแหน่ง จนทำให้ ณ ปัจจุบัน อัตราผู้อพยพลักลอบข้ามพรมแดนผิดกฎหมาย ลดลงต่ำสุดในรอบกว่า 4 ปี

 

ชาวอเมริกันจำนวนมากสนับสนุนการปราบปรามผู้อพยพที่พวกเขามองว่าก่อปัญหาความเดือดร้อนและเหตุอาชญากรรม แต่การปราบปรามดังกล่าว ส่งผลกระทบทั้งต่อชุมชนนักศึกษาต่างชาติ และผู้อพยพที่มีสถานะอยู่อาศัยถาวร โดยบางคนถูกควบคุมตัวและต้องเผชิญกับการเนรเทศ เนื่องจากมีส่วนร่วมในการประท้วงสนับสนุนปาเลสไตน์ในมหาวิทยาลัย และถูกกล่าวหาว่าสนับสนุนกลุ่มฮามาส

 

ขณะที่ทนายความและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนเตือนว่า ผู้อพยพบางส่วนถูกเนรเทศโดยขาดกระบวนการตามกฎหมาย มีการกวาดล้างผู้บริสุทธิ์ในบรรดา ผู้อพยพที่ก่ออาชญากรรม ซึ่งทรัมป์ชี้ว่าเป็นเป้าหมาย 

 

กรณีหนึ่งที่ถูกวิจารณ์อย่างมาก คือการเนรเทศ อเบรโก การ์เซีย ชายชาวเอลซัลวาดอร์ ที่แต่งงานกับหญิงอเมริกัน และอาศัยอยู่ในรัฐแมริแลนด์ โดยมีใบอนุญาตทำงาน ซึ่งหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายคนเข้าเมืองและศุลกากรสหรัฐฯ (ICE) ได้เข้าควบคุมและเนรเทศเขากลับไปยังเอลซัลวาดอร์ อ้างว่าพบความเชื่อมโยงกับแก๊งอาชญากรรม ก่อนที่ศาลฎีกาสหรัฐฯ จะชี้ว่าเป็นการดำเนินการที่ผิดพลาด และมีคำสั่งให้รัฐบาลทรัมป์ ช่วยนำตัวเขากลับเข้าสหรัฐฯ​ แต่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ โต้แย้งคำสั่งศาลว่าเป็นการก้าวล่วงอำนาจประธานาธิบดี และไม่สามารถบีบบังคับให้เอลซัลวาดอร์ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลได้

 

ปฏิรูประบบราชการ

รัฐบาลทรัมป์ 2.0 พยายามปฏิรูประบบราชการอย่างจริงจัง ด้วยการจัดตั้งกระทรวงประสิทธิภาพรัฐบาล หรือ DOGE (Department of Government Efficiency) ทำการ ‘ล้างบาง’ หน่วยงานที่ถูกมองว่า ซ้ำซ้อนหรือมีบทบาทผลักดันวาระเสรีนิยม และไม่ปฏิบัติตามแนวทางของรัฐบาล โดยสั่งปลดเจ้าหน้าที่หลายหมื่นตำแหน่ง ลดงบประมาณ หรือแม้แต่พยายามยุบหรือรวมหน่วยงานต่างๆ เข้าด้วยกัน เช่น กระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม 

 

ละทิ้งความหลากหลายและความเท่าเทียม

ทรัมป์ยกเลิกนโยบายความหลากหลาย ความเสมอภาค ที่รู้จักกันดีในชื่อ DEI (Diversity, Equity, and Inclusion) ที่ริเริ่มในยุคโจ ไบเดน โดยอ้างว่าสิ่งเหล่านี้เป็น ‘การเลือกปฏิบัติ’ พร้อมประกาศว่าสหรัฐฯ รับรองเพศอย่างเป็นทางการ เพียงเพศชายและเพศหญิง 

 

ขณะเดียวกัน ยังสั่งห้ามการอบรมหรือแผนส่งเสริม DEI ในหน่วยงานของรัฐทั้งหมด และดำเนินการสอบสวนบริษัทเอกชนและสถาบันการศึกษาที่เชื่อว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับนโยบาย ‘DEI ที่ผิดกฎหมาย’ ซึ่งคำสั่งของทรัมป์ ทำให้บริษัทระดับโลก เช่น Meta และ Goldman Sachs ต้องลดหรือยกเลิกโครงการที่เกี่ยวข้องกับ DEI

 

นโยบายต่างประเทศ: ปิดประเทศ เปิดสงคราม

 

ลดความช่วยเหลือต่างประเทศ

สหรัฐฯ ภายใต้ทรัมป์ 2.0 สั่งระงับความช่วยเหลือต่างประเทศแทบทั้งหมด รวมทั้งตัดงบกว่า 90% ของหน่วยงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศสหรัฐ หรือ USAID (United States Agency for International Development) เป็นเวลา 90 วัน ตั้งแต่วันแรกที่เข้ารับตำแหน่ง ส่งผลกระทบต่อหน่วยงานช่วยเหลือและหน่วยงานภาคประชาสังคม ตลอดจนโครงการพัฒนาในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงไทย  

 

นโยบายตัดความช่วยเหลือที่เป็นเหมือนซอฟต์พาวเวอร์และเครื่องมือขยายความสัมพันธ์ของสหรัฐฯ มายาวนานตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สร้างความไม่พอใจแก่พันธมิตรตะวันตก และถูกวิจารณ์ว่าเป็นการเปิดพื้นที่ให้คู่แข่งมหาอำนาจอย่างจีน แทรกตัวเข้ามามีบทบาท

 

ถอนตัวองค์การอนามัยโลก 

ช่วงไม่กี่ชั่วโมงหลังรับตำแหน่ง ทรัมป์ ยังลงนามคำสั่งเริ่มกระบวนการถอนสหรัฐฯ​ ออกจากการเป็นสมาชิกองค์การอนามัยโลก (WHO) โดยให้เหตุผลว่า WHO ผิดพลาดในการรับมือกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 อีกทั้งยังเรียกร้องการสนับสนุนงบประมาณจากสหรัฐฯ มากกว่าจีนและประเทศอื่นๆ ซึ่งทรัมป์ มองว่าไม่เป็นธรรม 

 

พยายามยุติสงครามรัสเซีย-ยูเครน

นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งทรัมป์ พยายามผลักดันให้เกิดการเจรจาสันติภาพ ยุติสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน โดยเลือกแนวทางพูดคุยกับรัสเซียมากขึ้น ในขณะที่พยายามกดดันให้ยูเครนยอมรับแนวทางสันติภาพแบบกล้ำกลืน ที่ต้องแลกด้วยการสูญเสียดินแดนบางส่วน 

 

ขณะเดียวกัน เขายังมุ่งลดการสนับสนุนทางทหารและผลักดันให้ยุโรปแบกรับภาระมากขึ้น พร้อมทั้งพยายาม ‘เอาคืน’ ความช่วยเหลือมหาศาลที่ทุ่มไปในยุคไบเดน ด้วยการทำข้อตกลงแร่หายากกับรัฐบาลเคียฟ

 

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ ณ ปัจจุบันยังไม่มีท่าทีว่าการเจรจาสันติภาพจะคืบหน้าขณะที่ยูเครนยังตกอยู่ในสถานการณ์ลำบากจากการถูกสหรัฐฯ ระงับความช่วยเหลือทางทหาร

 

สงครามกาซา

กรณีความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับฮามาสในฉนวนกาซา เป็นประเด็นที่ทรัมป์ ให้ความสำคัญนับตั้งแต่รับตำแหน่ง โดยเขาสนับสนุนให้มีการหยุดยิงและปล่อยตัวประกัน ในขณะที่เสนอแนวคิดที่สร้างความตกตะลึงแก่ทั่วโลก ด้วยการเสนอให้สหรัฐฯ เข้าครอบครองกาซาและพัฒนาดินแดนแห่งความขัดแย้งให้กลายเป็นริเวียราแห่งตะวันออกกลาง เพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ในขณะที่ย้ายชาวปาเลสไตน์กว่า 2 ล้านคนไปอาศัยในดินแดนของเพื่อนบ้านชาติอาหรับอื่นๆ

 

ทั้งนี้ สถานการณ์ในกาซา ยังเผชิญการโจมตีจากอิสราเอลอย่างต่อเนื่อง โดยทรัมป์ สนับสนุนให้นายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู เปิดทางให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าไปในกาซา 

 

อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งยังทวีความรุนแรงและยืดเยื้อ ในขณะที่ทรัมป์ ยังคงขยายความตึงเครียดในตะวันออกกลาง ด้วยการเปิดฉากโจมตีทางอากาศถล่มเป้าหมายกลุ่มกบฏฮูตี ในเยเมน ซึ่งเป็นพันธมิตรกับกลุ่มฮามาส เพื่อตอบโต้การโจมตีเรือสินค้าในทะเลแดง 

 

นโยบายเศรษฐกิจ: เปิดฉากสงครามภาษีรอบใหม่

 

สงครามภาษี

รัฐบาลทรัมป์ 2.0 ยังสั่นสะเทือนโลกด้วยการเปิดฉากสงครามภาษีรอบใหม่ ด้วยการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าที่สำคัญบางรายการ เช่น เหล็กและรถยนต์ พร้อมทั้งประกาศมาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ต่อจีนและกว่า 180 ประเทศและเขตแดนทั่วโลก โดยกำหนดอัตราเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากทั่วโลก ขั้นต่ำที่ 10% ในขณะที่เพิ่มหรือลดอัตราภาษีสำหรับประเทศต่างๆ 

 

ทรัมป์อ้างเหตุผลในการขึ้นภาษีต่อบางประเทศ เช่น จีน แคนาดา และเม็กซิโก เพื่อบีบให้กวาดล้างการลักลอบขนส่งยาเสพติดเฟนทานิล ไปยังสหรัฐฯ และป้องกันผู้อพยพที่ลักลอบข้ามพรมแดนเข้าสหรัฐฯ 

 

ในขณะที่การกำหนดภาษีตอบโต้นั้น ทรัมป์ โดยอ้างว่าเพื่อแก้ไข ‘ความไม่เป็นธรรมทางการค้า’ และฟื้นฟูฐานการผลิตภายในประเทศ

 

ทรัมป์ยังมองว่าภาษีตอบโต้ที่รุนแรงจะบีบบังคับให้ประเทศต่างๆ เข้ามาเจรจาหาข้อตกลง ซึ่งประเทศที่เผชิญอัตราภาษีตอบโต้ในระดับสูง ล้วนเป็นประเทศที่มีดุลการค้าเกินดุลกับสหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงจีน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป ตลอดจนไทย และประเทศอาเซียน เช่น เวียดนามและกัมพูชา

 

แต่ท่าทีของทรัมป์ ต่อมาตรการภาษีตอบโต้ นั้นเรียกว่าเอาแน่เอานอนได้ยาก โดยหลังจากที่เขาประกาศมาตรการภาษีตอบโต้เพียงไม่กี่วัน ทรัมป์ ก็ตัดสินใจระงับการบังคับใช้มาตรการดังกล่าวเป็นเวลา 90 วัน ยกเว้นจีน ซึ่งเป็นประเทศเดียวที่ไม่ยอมอ่อนข้อและพร้อมขึ้นภาษีสู้กับสหรัฐฯ​ แบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน ทำให้สหรัฐฯ บังคับใช้อัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนสูงถึง 145% ในขณะที่จีนก็เรียกเก็บภาษีสินค้าที่นำเข้าจากสหรัฐฯ สูงถึง 125% และจำกัดการส่งออกแร่หายากไปยังสหรัฐฯ

 

มองไปข้างหน้า: 4 ปีโลกยุคทรัมป์ 2.0

 

ผลงานข้างต้นใน 100 วันแรกของรัฐบาลทรัมป์ 2.0 แสดงให้เห็นเจตนารมณ์ที่ชัดเจนว่า สหรัฐฯ จะไม่ทำหน้าที่ ‘ตำรวจโลก’ หรือ ‘ผู้พิทักษ์เสรีภาพ’ อีกต่อไป แต่จะหันมาใส่ใจผลประโยชน์ของตนเองอย่างเข้มข้นที่สุดเท่าที่เคยมีมา

จากนี้ไป สิ่งที่อาจเกิดขึ้นคือโลกที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งแบ่งขั้ว ความโกลาหล และสงครามที่ปะทุขึ้นได้ทุกเมื่อ ซึ่งจะส่งผลให้ระเบียบโลกที่ก่อตัวมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ภายใต้การนำของรัฐบาลสหรัฐฯ ในอดีต ต้องพังทลายลง

 

ภาพ: Andrew Harnik / Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising