วันที่ 20 มกราคม 2025 ถือเป็นวันที่ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ จับตามองเป็นพิเศษ โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed เนื่องจากเป็นวันที่ โดนัลด์ ทรัมป์ จะทำพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และจะได้รับทราบว่าทรัมป์จะดำเนินนโยบายอย่างไรบ้างในช่วง 100 วันแรกหลังเข้ารับตำแหน่ง ซึ่งก็จะทำให้ธนาคารกลางต่างๆ ตัดสินใจได้ถูกว่าควรจะดำเนินนโยบายการเงินอย่างไร โดยเฉพาะ Fed ที่ในการประชุมส่งท้ายปี เดือนธันวาคม 2024 ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ตามที่ตลาดคาดการณ์ แต่ปรับมุมมองคาดการณ์การปรับอัตราดอกเบี้ยในอนาคต (Fed Dot Plot) จากเดิมคาดว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 4 ครั้งในปี 2025 ก็ลดลงเหลือเพียง 2 ครั้ง
ขณะที่ เจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ก็มีท่าทีที่ Hawkish (ท่าทีที่จะใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวดเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ) โดยแสดงท่าทีแบบมั่นใจมากๆ ว่าเงินเฟ้อจะไม่ปรับลดลงง่ายๆ ทำให้ตลาดแปลกใจ เพราะที่ผ่านมาในการแถลงข่าวพาวเวลล์ไม่ได้มีท่าทีขึงขังเท่านี้ ซึ่งคาดว่าเป็นเพราะ Fed น่าจะกังวลกับนโยบายของทรัมป์นั่นเอง
เมื่อตลาดเห็นท่าทีแบบนี้จึงมั่นใจว่านับจากนี้ไปอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed ก็คงไม่น่าจะปรับลดลงได้เร็ว ซึ่งก็ส่งผลให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับลดลงค่อนข้างแรงหลังจากถ้อยแถลงออกมา ขณะที่ตลาดอื่นๆ ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เนื่องจากนักลงทุนต่างรอดูความชัดเจน โดยเงินดอลลาร์สหรัฐที่เคยไหลออกมาลงทุนในเอเชียเริ่มลดน้อยลง ทั้งเงินที่เข้ามาลงทุนในตราสารหนี้ ตลาดหุ้น รวมถึงเงินลงทุนโดยตรง (FDI)
ทั้งนี้ ผมมองว่าในการประชุม 3 ครั้งแรกในปี 2025 ของ Fed นั้นก็น่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับเดิม เพื่อรอติดตามผลที่เกิดจากนโยบายของทรัมป์ก่อน หรืออย่างเร็วที่สุดก็คงจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งที่ 3 ซึ่งก็จะทำให้นักลงทุนยังคงเห็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับสูงและนาน (Higher for Longer)
ในส่วนของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ปี 2025 ก็คาดว่าจะไม่สามารถเติบโตได้ในระดับ 3% และน่าจะเติบโตได้น้อยกว่าปี 2024 เนื่องจากมีความท้าทายอยู่มาก เช่น นโยบายขับไล่ผู้อพยพหรือสงครามการค้า ที่ไม่ได้กระทบเพียงแค่เศรษฐกิจคู่ค้าของสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ยังกลับมากระทบเศรษฐกิจสหรัฐฯ ด้วย
โดยจากตัวเลขของ SCB EIC คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ปี 2025 จะเติบโตได้ 1.9% จากในปี 2024 คาดว่าจะเติบโต 2.7% ขณะที่เศรษฐกิจทั่วโลกคาดว่าจะขยายตัวได้ 2.5% ต่ำกว่าปี 2024 ที่คาดว่าจะขยายตัว 2.7% โดยเศรษฐกิจยุโรปในปี 2024 คาดว่าจะขยายตัว 0.8% และปี 2025 ขยายตัวลดลงเหลือ 0.6% เศรษฐกิจญี่ปุ่นคาดว่าจะหดตัว -0.2% ในปี 2024 จะกลับมาขยายตัว 0.9% ในปี 2025 และเศรษฐกิจจีนที่ทางการตั้งเป้าหมายขยายตัวปีละ 5% ก็น่าจะทำไม่ได้ตามเป้าหมาย โดยในปี 2024 คาดว่าจะขยายตัวได้ 4.9% ส่วนปี 2025 คาดว่าจะขยายตัว 4.2%
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่กล่าวมา มองว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยมากกว่า Fed ด้วยเงื่อนไขเศรษฐกิจที่ต้องการการกระตุ้นมากกว่า ส่วนธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ก็คงจะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อ สวนทางกับธนาคารกลางอื่นๆ
ขณะที่ธนาคารกลางจีน (PBOC) แม้จะยังมีช่องทางให้ดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังต่ำมาก แต่คาดว่าธนาคารกลางจีนจะยังไม่ทำเช่นนั้น เนื่องจากค่าเงินหยวนอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐและเงินสกุลอื่น หากจีนดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายลงอีก จะยิ่งกดดันให้เงินหยวนอ่อนค่าลงไปอีก เพราะทำให้ส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยของจีนและสหรัฐฯ มีมากขึ้น
ดังนั้นเงินทุนจะยิ่งไหลออก ซึ่งเงินที่อยู่ในมือของภาคเอกชนและประชาชนทั่วไปในจีนนั้นมีส่วนสำคัญอย่างมากที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจจีนได้ หากกลุ่มนี้ต้องการย้ายเงินออกไปลงทุนต่างประเทศ ก็จะยิ่งทำให้รัฐบาลจีนเผชิญปัญหาหนักเข้าไปอีกในการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ
เบื้องต้นผมมองว่าทางการจีนคงจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกในช่วงเทศกาลตรุษจีนที่จะถึงนี้ เพียงแต่ต้องจับตานโยบายที่ออกมา เพราะหากเป็นนโยบายซ้ำๆ แบบเดิม อาจจะให้ผลไม่ได้มากเท่าที่เคยทำได้ ขณะที่หากจีนไม่ใช้มาตรการอะไรเลยก็ไม่ได้อีกเช่นกัน เพราะมีความจำเป็นที่ต้องใช้นโยบาย จึงจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ 5% ตามเป้าหมาย ท่ามกลางสถานการณ์ที่คนจีนมีเงินเหลือเก็บแต่ไม่ยอมนำมาใช้จ่าย เพราะขาดความเชื่อมั่น ขณะเดียวกันยังมีสงครามการค้ากับสหรัฐฯ เป็นภาระเพิ่มเติมที่รออยู่
สำหรับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผมมองว่าคงจะรอติดตามการดำเนินนโยบายของทรัมป์เช่นกัน ก่อนที่จะตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งถัดไปในปี 2025 โดยคาดว่าหากทรัมป์มีการปรับขึ้นภาษีนำเข้ากับสินค้าไทยด้วย ก็คงจะทำให้บางอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบและเกิดปัญหาด้านสภาพคล่องได้
เมื่อพิจารณาจากแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางหลักๆ ทั่วโลก รวมถึงไทยด้วย เพื่อพิจารณาตลาดหุ้นที่น่าสนใจ มองว่ายังคงเป็นตลาดหุ้นสหรัฐฯ ตามด้วยตลาดหุ้นญี่ปุ่นและยุโรป ที่ทำผลงานได้ดีอยู่ สามารถลงทุนระยะยาวได้ ส่วนตลาดหุ้นไทยนั้นยังต้องรอคอยจุดเปลี่ยนที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้าไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้ท่ามกลางราคาต่อกำไรต่อหุ้น (P/E) ที่ถือว่าแพงกว่าตลาดหุ้นเวียดนาม, เกาหลีใต้, จีน A-Share และจีน H-Share ขณะที่กำไรบริษัทจดทะเบียนไม่ได้เติบโตมากกว่าตลาดอื่นๆ
ทั้งนี้ คงต้องรอติดตามนโยบายของภาครัฐ เช่น การอัดฉีดนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการลดหย่อนภาษีหรือการแจกเงิน ว่าจะช่วยให้โมเมนตัมเศรษฐกิจดีขึ้นได้หรือไม่ ขณะที่การท่องเที่ยวแม้จะคึกคักขึ้น แต่ยอดใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวก็ยังไม่ได้มากเท่าในอดีต ส่วนปัจจัยท้าทายสำคัญที่รออยู่ ได้แก่ ปี 2025 จะมีผู้ที่ลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ครบกำหนดเงื่อนไขใหม่ 7 ปีเป็นปีแรก ซึ่งคิดเป็นเม็ดเงินไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท โดยหลายคนที่ลงทุนยังขาดทุนอยู่ก็จริง แต่หากกลุ่มนี้มีความต้องการใช้เงินและขายหน่วยลงทุนออกมาพร้อมกัน ก็จะส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยได้ เนื่องจากมูลค่าหน่วยลงทุนที่ขายได้สูงกว่าขนาดของกองทุนรวมวายุภักษ์ที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อพยุงหุ้นไทยอีก
ด้านสินทรัพย์ทางเลือกอย่าง ‘ทองคำ’ ยังมีโอกาสสะสมได้เมื่อพักฐาน เนื่องจากธนาคารกลางต่างๆ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่ไม่ได้เป็นมิตรกับสหรัฐฯ ยังคงเดินหน้าเก็บสะสมทองคำในทุนสำรองอยู่ โดยเฉพาะหากมีสงครามเกิดขึ้น การเก็บสะสมทองคำในทุนสำรองก็จะยิ่งมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ก็มีความท้าทายหากธนาคารกลางต่างๆ ดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัว
สุดท้ายนี้ผมแนะนำให้ผู้ลงทุนกระจายความเสี่ยง ลงทุนสินทรัพย์ทั่วโลกและหลากหลายในสัดส่วนที่เหมาะสม ใครที่เคยลงทุนหุ้นไทยเพียงอย่างเดียวหรือแม้แต่ลงทุนหุ้นจีนเพียงอย่างเดียว ก็ควรกระจายความเสี่ยงไปลงทุนตลาดหุ้นโลกบ้าง โดยอาจลงทุนผ่านกองทุนรวมเพื่อให้ผู้จัดการกองทุนช่วยดูแลเรื่องการลงทุนให้
หากกระจายการลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลกมากเพียงพอแล้ว ก็อาจคัดเลือกลงทุนในหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมที่น่าสนใจที่ผลการดำเนินงานไม่ได้ขึ้นอยู่กับวัฏจักรเศรษฐกิจเพิ่มเติมได้ เช่น กลุ่มสินค้าที่มีเทคโนโลยีน่าสนใจ ไม่ว่าใครก็ต้องการใช้ หรืออาจจะเลือกลงทุนในประเทศที่ประชากรเติบโต การบริโภคในประเทศกำลังเติบโต
คำเตือน:
- การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน
- เนื่องจากกองทุนไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน ผู้ลงทุนอาจขาดทุนหรือได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้
- ศึกษาข้อมูลกองทุนหลักและหนังสือชี้ชวนกองทุนเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด และแอปพลิเคชัน SCB EASY หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ SCB Call Center โทร. 0 2777 7777
ภาพ: Andrew Harnik / Staff / Getty Images