ในขณะที่ธุรกิจมากมายกำลังพยายามแสวงหาวิธีสร้างนวัตกรรมที่ล้ำสมัยไปพร้อมๆ กับการสร้างธุรกิจที่เหมาะสมกับโลกยุคดิจิทัล บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ในฐานะผู้นำด้านนวัตกรรมเพื่อการสื่อสารครบวงจรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เชื่อมั่นว่าวิธีที่ดีที่สุดในการสร้างอนาคตที่ดีอย่างยั่งยืนให้กับคนไทยต้องดึงศักยภาพด้านเทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคมที่ทันสมัยผนวกเข้ากับการดำเนินงานด้านความยั่งยืนที่ครอบคลุม 3 มิติ ได้แก่ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ภายใต้กรอบ 3 H’s Heart มุ่งมั่นทำธุรกิจด้วยใจที่ยั่งยืน Health มุ่งมั่นสร้างสังคมที่ยั่งยืน และ Home มุ่งมั่นเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน หลอมรวมเพื่อสร้างนวัตกรรมที่เชื่อมโยงทุกชีวิตบนโลกไว้ด้วยกัน
ผู้นำต้องทำให้เห็น
น่าจะมีหลายโครงการที่คนไทยคุ้นตา แต่ยังไม่รู้ว่าผู้อยู่เบื้องหลังนวัตกรรมเชื่อมสังคมไทยคือทรู เช่น นวัตกรรมที่มุ่งสร้างและพัฒนาสังคมที่ดีอย่างยั่งยืนอย่าง Braille Note Taker นวัตกรรมเครื่องจดบันทึกอักษรเบรลล์ หรือ MEM-เม็ม อุปกรณ์ที่จะช่วยผู้พิการทางการมองเห็นสามารถจดบันทึกและส่งต่อข้อมูลไปยังอุปกรณ์ไอทีต่างๆ เช่น โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ เพื่อส่งข้อความหรือสร้างเอกสารติดต่อกับคนปกติได้ หรือ Autistic Application เครื่องมือเสริมสร้างทักษะและพัฒนาศักยภาพให้แก่เด็กออทิสติก ช่วยฝึกทักษะในชีวิตประจำวันและชุดเครื่องมือฝึกการพูดและภาษา รวมถึง โครงการทรูปลูกปัญญา ผลิตคอนเทนต์เพื่อการศึกษา นำศักยภาพด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมการสื่อสารเป็นช่องทางเผยแพร่สู่ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ และสานอนาคตการศึกษา CONNEXT ED ยกระดับการศึกษาของโรงเรียนประชารัฐทั่วประเทศ ยึดหลัก 5 ยุทธศาสตร์สำคัญเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนให้กับระบบการศึกษาไทยในทุกมิติ
ทรูยังมุ่งมั่นสร้างนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง เช่น We Grow แอปพลิเคชันสนับสนุนให้ปลูกต้นไม้และรู้จักการดูแลรักษาต้นไม้ ตลอดจนการร่วมแบ่งปันข้อมูลเพื่อสร้างเครือข่ายสังคมออนไลน์ระหว่างผู้ใช้ หรือบัวลอย Water Crisis Sensor อุปกรณ์ติดตามระดับน้ำในแหล่งน้ำขนาดเล็ก มีเนื้อที่น้อยกว่า 50 ลูกบาศก์เมตร ที่พบในไทยกว่าหลักแสนแหล่งน้ำที่ไม่มีมาตรวัตรน้ำ เพื่อเก็บข้อมูลนำไปวางแผนการบริหารจัดการน้ำและภัยพิบัติ
‘บัวลอย’ Water Crisis Sensor
เทคโนโลยีที่ดีจะไม่แยกใครออกจากกัน
ปัญหาระหว่างคนกับช้างในประเด็นช้างป่าบุกรุกพื้นที่เกษตรกรรมเป็นเรื่องที่ทรูให้ความสนใจอย่างมาก เพราะการแก้ปัญหาด้วยการล้อมรั้วป้องกันช้างอาจสร้างความเจ็บปวดให้กับคนทั้งสองฝั่ง และไม่ใช่วิถีของการอยู่ร่วมกันเป็นสังคมที่ยั่งยืน
ล่าสุดทรูปล่อยภาพยนตร์สั้น ‘รั้ว’ ที่ได้แรงบันดาลใจจากเรื่องจริง พาเราถอยห่างจากรั้วขนาดใหญ่ที่แบ่งแยกระหว่าง ‘ช้าง’ กับ ‘มนุษย์’ เพื่อมองเข้าไปเห็นให้ถึงปัญหาที่แท้จริง… เพราะอะไรช้างจึงบุกรุกพื้นที่ทำกินของมนุษย์
การเล่าเรื่องผ่านสายตาของเด็กอาจมีนัยที่อยากบอกให้เราทุกคนลด ละ วาง ความเชื่อแบบเดิมๆ จนกลายเป็น ‘รั้ว’ ปิดกั้นจินตนาการที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ดีกว่า เพราะหากรั้วนั้นสร้างอันตรายให้กับสิ่งมีชีวิตทั้งสองฝั่ง นั่นคงไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง
เพราะสังคมคือการอยู่ร่วมกันโดยไม่มีอะไรมาขวางกั้น
ทรูเชื่อว่าสิ่งที่จะเชื่อมช้างและคนให้ใช้ชีวิตบนโลกใบเดียวกันอย่างสมดุลคือ ‘นวัตกรรม’ ไม่ใช่การล้อมรั้วกั้นเพียงเพราะ ‘พูดไม่เหมือนกัน คิดไม่เหมือนกัน’ เกิดเป็นโครงการเฝ้าระวังช้างป่าด้วยระบบเตือนภัยล่วงหน้า (Elephant Smart Early Warning System) ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และ WWF ประเทศไทย นำร่องในพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบและมีการสูญเสียทั้งคนและช้างป่า
ทรูได้พัฒนาโซลูชันที่ผสานศักยภาพเทคโนโลยีสื่อสารเข้ากับการทำงานของหน่วยลาดตระเวน (Ranger) ประกอบด้วยการก่อสร้างเสาสัญญาณบริเวณโดยรอบอุทยาน พร้อมติดตั้ง Camera Trap ที่มีซิมบริเวณด่านที่ช้างออก เพื่อบันทึกภาพช้างและข้อมูลพิกัดส่งไปยังระบบคลาวด์ โดยเจ้าหน้าที่ประจำการศูนย์ปฏิบัติการจะดำเนินการคัดกรองภาพและข้อมูลที่พบส่งไปยังสมาร์ทโฟนของหัวหน้าอุทยานและหน่วยลาดตระเวนเพื่อแจ้งเตือนการเคลื่อนไหวของช้างตามด่านต่างๆ เพื่อให้ดำเนินการผลักดันช้างเข้าป่าก่อนที่ช้างจะบุกรุกถึงพื้นที่เกษตรกรรมของชุมชนต่อไป
ทรูยืนระยะความเป็นผู้นำอย่างยั่งยืน ครองตำแหน่งสมาชิก DJSI 3 ปีซ้อน
เพราะสังคมคือความหลากหลายและเป็นของพวกเราทุกคน ทรูจึงมุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้วยความเข้าใจเพื่อคืนสมดุลให้กับทุกชีวิต ซึ่งเป็นแนวคิดการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนจนได้รับการยอมรับจากทั่วโลก ได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิก DJSI ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 และยังทำคะแนนสูงสุดในกลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคมทั่วโลก 2 ปีซ้อน
DJSI หรือดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices) เป็นดัชนีที่ใช้ประเมินประสิทธิผลการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของบริษัทชั้นนำระดับโลก จัดทำขึ้นด้วยความร่วมมือของ S&P Dow Jones Indices และ RobecoSAM โดยเชิญบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ทั่วโลกกว่า 3,400 แห่งใน 60 อุตสาหกรรมเข้าร่วมการประเมินผล ซึ่งเป็นที่ยอมรับในแวดวงธุรกิจระดับโลก รวมทั้งเป็นดัชนีที่กองทุนต่างๆ จากทั่วโลกใช้เป็นเกณฑ์อ้างอิงในการพิจารณาการลงทุน และมั่นใจว่าบริษัทที่ได้รับการรับรอง DJSI จะสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีและยั่งยืนให้กับผู้ลงทุนได้
โดยบริษัทต่างๆ ที่ได้รับการประเมินความยั่งยืนในปี 2019 นี้มีความหลากหลายและถูกประเมินอย่างเท่าเทียมกันด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า Corporate Sustainability Assessment ซึ่งเป็นเครื่องมือที่มีความแม่นยำ มีความสม่ำเสมอ และมีระเบียบวิธีที่ชัดเจน โดยประเมินจากข้อมูลเฉลี่ย 600 ประเด็นที่แต่ละบริษัทจะได้รับ และประเมินออกมาเป็นผลคะแนนเดียว ซึ่งกฎเกณฑ์ต่างๆ จะถูกระบุอยู่ใน DJSI
ความสำเร็จดังกล่าวตอกย้ำให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะดำเนินงานขับเคลื่อนด้านความยั่งยืนของบริษัทอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรมตามนโยบายความยั่งยืน 3 มิติ ได้แก่ ‘เศรษฐกิจ’ ทำธุรกิจ สร้างคุณค่าให้กับสินค้าและบริการด้วยหัวใจที่ยั่งยืน ควบคู่ไปกับการบริหารความสัมพันธ์ต่อลูกค้าและคู่ค่าด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม และเคารพสิทธิมนุษยชน ‘สังคม’ สร้างสังคมที่ยั่งยืน ยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยทุกคนผ่านการสร้างสรรค์นวัตกรรม สนับสนุนการศึกษา และสร้างโอกาสการเรียนรู้ที่เท่าเทียม และ ‘สิ่งแวดล้อม’ ดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบต่อสังคม เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างจิตสำนึกรักธรรมชาติด้วยการพัฒนานวัตกรรมที่เข้าใจทุกชีวิต
เพราะตลอดมาทรูแสวงหาวิธี ‘คืนสมดุลให้ทุกชีวิตด้วยนวัตกรรม’ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย จนนำไปสู่การคว้ารางวัล DJSI ดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ 3 ปีซ้อน และนำความภูมิใจมาสู่คนไทยอย่างทุกวันนี้
#TrueDJSI #TrueSustainability #TrueTogether
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์