×

1 ปีควบรวม ‘ทรู-ดีแทค’ ตั้งเป้าผู้นำ Telco-Tech ยันสัญญาณการใช้งานครอบคลุม-เน็ตไม่ลด

10.03.2024
  • LOADING...
ควบรวม ทรู-ดีแทค

สืบเนื่องจากประเด็นการวิพากษ์วิจารณ์จากเสียงของประชาชนผู้ใช้บริการหลังจากที่ทรูควบรวมกับดีแทค ซึ่งมีความเห็นเชิงลบกว่า 81% ที่พบว่าความเร็วสัญญาณอินเทอร์เน็ตลดลง สวนทางกับราคาค่าบริการที่ปรับเพิ่มขึ้น คือปัญหาอันดับ 1 จากผลสำรวจที่จัดทำขึ้นโดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และสภาองค์กรของผู้บริโภค ได้หารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ตามมาด้วยปัญหาสัญญาณหลุดบ่อยครั้ง และการติดต่อ Call Center ที่ยากมากขึ้น

 

บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ออกมาชี้แจงถึงประเด็นดังกล่าวว่า สาเหตุของปัญหาที่ผู้ใช้บริการพบเจอนั้นเป็นเพราะพฤติกรรมการเสพเนื้อหาของผู้คนนั้นหันไปหาสื่อประเภทวิดีโอมากขึ้น เช่น คลิปสั้น ที่มีอัตราการใช้ดาต้าที่สูงกว่าสื่อแบบโพสต์ข้อความ โดยผลสำรวจของบริษัทเผยให้เห็นว่า คนไทยใช้เวลากับอินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้นในเดือนมกราคม 2024 ที่ 5.38 ชั่วโมง ในขณะที่ถ้าเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2023 ตัวเลขนี้จะอยู่เพียง 4.40 ชั่วโมง

 

อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทก็มิได้นิ่งนอนใจพร้อมทั้งยืนยันว่า การควบรวมจะทำให้สัญญาณดีขึ้น เนื่องจากการควบรวมจะทำให้เสาสัญญาณผนวกรวมกัน ซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพการใช้งานครอบคลุมและรวดเร็วยิ่งขึ้น

 

“สิ่งหนึ่งที่เราเชื่อคือ ทรูได้นำเสนอคุณภาพบริการที่ดีให้กับลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ แต่ด้วยสภาวะความท้าทายทางเศรษฐกิจที่ส่งผลให้ความต้องการผ่อนคลายผ่านช่องทางดิจิทัลสูงขึ้น หรือจะเป็นการใช้ทำงานในโลกไฮบริด ฉะนั้นทางเราก็พยายามตอบสนองให้ได้ดีที่สุด” มนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าว

 

เป้าหมายสู่การเป็นผู้นำ Telco-Tech ของเมืองไทย

 

สำหรับเป้าหมายความก้าวหน้าในปี 2567 นี้ ทรู คอร์ปอเรชั่นคาดการณ์การเติบโตรายได้ไว้ที่ช่วง 3-4% พร้อมจัดสรรงบลงทุนกว่า 30,000 ล้านบาท และปรับกลยุทธ์เพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยการเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียว ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน การปฏิบัติการด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อพัฒนาความเข้าใจลูกค้าให้ได้อย่างตรงจุดและรวดเร็ว โดยได้วางกลยุทธ์ทางธุรกิจที่มุ่งเน้น 3 ด้าน คือ

 

  1. ยกระดับประสบการณ์ลูกค้า
  2. ดึงเทคโนโลยีดิจิทัลทรานส์ฟอร์มองค์กรธุรกิจ
  3. พลิกธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน

 

ในส่วนของการทรานส์ฟอร์มธุรกิจไปสู่ช่องทางดิจิทัล ชารัด เมห์โรทรา รองประธานคณะผู้บริหารของบริษัท กล่าวกับสื่อมวลชนถึงการนำ Mari (มะลิ) ซึ่งเป็น AI ที่ทรูพัฒนาขึ้นเพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีขึ้นให้กับลูกค้า

 

“ในช่วงที่ผ่านมาเราใช้ Mari ผ่านช่องทางแชตเพื่อตอบข้อสงสัยและแก้ไขปัญหาให้กับลูกค้า ซึ่งผลตอบรับก็ออกมาค่อนข้างดีจากที่ลูกค้าของเราพอใจ แต่เรายังจะเพิ่มฟีเจอร์ใน Mari ให้กลายเป็น Mari 2.0 ที่สามารถโต้ตอบผ่านเสียงกับลูกค้า พร้อมทั้งมีบทบาทในการช่วยเหลือทีมงานให้ตอบสนองข้อกังวลของลูกค้าได้เฉพาะตัวและทันทียิ่งขึ้นจากการมีเทคโนโลยีมาช่วยวิเคราะห์ข้อมูล”

 

ปัจจุบันทรู คอร์ปอเรชั่น มีลูกค้าผู้ใช้งาน 5G อยู่ทั้งหมด 10.5 ล้านราย และภายในปี 2026 บริษัทตั้งเป้าว่าจะขยายฐานลูกค้ากลุ่มนี้ให้ได้ถึง 25 ล้านราย หรือมากกว่า 2 เท่าของระดับปัจจุบัน

 

ภาพ: ทรู คอร์ปอเรชั่น

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising