×

ผลสำรวจผู้บริโภค พบ 5 ปัญหาใหญ่ 81% กระทบควบรวม TRUE-DTAC ด้าน นพ.ประวิทย์เผย ‘ผู้บริโภคร้อง-สัญญาณแย่-ราคาแพง-เน็ตช้าเพิ่มขึ้น 2 เท่า’

โดย THE STANDARD TEAM
15.12.2023
  • LOADING...
TRUE-DTAC

วันนี้ (15 ธันวาคม) จากการที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเปิดช่องทางระบบออนไลน์ เพื่อสำรวจความคิดเห็นผู้ใช้บริการเครือข่ายมือถือ หลังเกิดกระแสผู้บริโภคจำนวนมากต่างเจอปัญหาความเร็วอินเทอร์เน็ตคุณภาพต่ำสวนทางค่าบริการแพง ซึ่งเหตุนี้เกิดขึ้นหลังการควบรวมTRUE-DTAC อย่างเบ็ดเสร็จนับจาก 1 มีนาคม 2566 

 

อีกทั้งยังเจอปัญหาค่าบริการ TRUE-DTAC-AIS ปรับขึ้นแพงเท่ากัน ผู้ใช้บริการจึงหมดทางเลือก ทำให้เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและสภาองค์กรของผู้บริโภคได้หารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อขอคำชี้แจงปมค่าบริการแพงและแนวทางแก้ปัญหาให้กับผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งฝ่าย กสทช. ต้องการได้หลักฐานเชิงประจักษ์

 

พบ 5 ปัญหาใหญ่ 81% 

 

ล่าสุดมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและหน่วยงานประจำจังหวัดกรุงเทพมหานคร สภาองค์กรของผู้บริโภค ร่วมกันทำแบบสำรวจผลกระทบของผู้บริโภคหลังการควบรวมธุรกิจโทรคมนาคม เพื่อรับฟังเสียงสะท้อนผ่าน Google Forms ตั้งแต่วันที่ 9-23 พฤศจิกายน 2566 มีผู้ตอบแบบสำรวจทั้งสิ้น 2,924 ราย 

 

โดยผลการสำรวจพบ 5 ปัญหาใหญ่ที่สุดถึง 81% คือ สัญญาณอินเทอร์เน็ตช้า, สัญญาณหลุดบ่อย, โปรโมชันเดิมหมด ต้องใช้โปรโมชันที่แพงขึ้น, ค่าแพ็กเกจราคาเท่ากันหมด ทำให้ไม่มีทางเลือก และ Call Center โทรติดยาก ทั้งหมดนี้เป็นผลสำรวจความเห็นของผู้ใช้บริการมือถือที่ล้วนได้รับผลกระทบหลังการควบTRUE-DTAC

 

เสนอปรับปรุงคุณภาพสัญญาณอินเทอร์เน็ต

 

จากปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้บริโภคที่ตอบแบบสำรวจมีข้อเสนอแนะไปยังผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือทุกเครือข่ายต้องปรับปรุงคุณภาพสัญญาณอินเทอร์เน็ตให้ดีกว่าเดิม หรือดีเท่ากับช่วงก่อนควบรวมกิจการ ในเมื่อ TRUE-DTAC ควบรวมกันแล้ว อุปกรณ์เสาสัญญาณควรนำไปติดตั้งในพื้นที่ห่างไกล เพื่อขยายให้ครอบคลุมจุดรับสัญญาณ พร้อมปรับปรุงโครงข่ายให้มีความเสถียร เพียงพอต่อความต้องการ และสัมพันธ์กับความหนาแน่นของผู้ใช้งาน สัญญาณความเร็วต้องใช้ได้จริงตรงตามแพ็กเกจที่ลูกค้าจ่ายเงินซื้อ เพราะปัจจุบันไม่สอดคล้องกับราคาที่จ่าย 

 

ดังนั้นต้องนำข้อมูลการใช้งานของผู้บริโภคมาวิเคราะห์ เพื่อให้บริการสัญญาณที่เหมาะสมที่สุด ส่วนเพดานอัตราค่าบริการต้องลดลงเฉลี่ยลง 12% ทันทีโดยไม่มีข้ออ้าง ในเมื่อเป็นเงื่อนไขการควบรวม TRUE-DTAC ที่พ่วงมากับมติ กสทช. เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 ที่กำหนดต้องดำเนินการภายใน 90 วัน หลังควบรวมสำเร็จ แต่เวลานี้เลยกำหนดมาแล้ว แต่กลับยังเห็นการเพิกเฉย

 

ปรับแพ็กเกจตามอำเภอใจ ไม่ได้รับความยินยอมจากลูกค้า 

 

อีกประเด็นปัญหาสำคัญที่ผู้บริโภคสะท้อนผ่านการสำรวจความคิดเห็นมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคผ่านช่องทางออนไลน์คือ ผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือปรับแพ็กเกจตามอำเภอใจ โดยไม่ได้รับความยินยอมจากลูกค้า ดังนั้นจึงขอเรียกร้องให้ทำธุรกิจอย่างตรงไปตรงมา ต้องให้บริการตามเงื่อนไขที่ลูกค้าซื้อแพ็กเกจเท่านั้น หากมีเหตุขัดข้องที่เป็นความผิดพลาดของผู้ประกอบการ ต้องชดเชยอย่างเหมาะสมให้กับลูกค้า ที่สำคัญต้องใส่ใจดูแลปัญหาอย่างทันท่วงที ด้วยการมีเจ้าหน้าที่ Call Center ที่เป็นมนุษย์อย่างเพียงพอตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ใช่ใช้ AI อย่างทุกวันนี้

 

เสนอเรื่องต่อ ‘ผู้ให้บริการ-กสทช.’ เร่งตรวจสอบและแก้ปัญหา

 

นอกจากนี้ ยังมีความคิดเห็นที่เป็นข้อเสนอแนะจากผู้บริโภคฝากไปถึงคณะกรรมการ กสทช. เช่น ขอให้พิจารณามติควบรวม TRUE-DTAC เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นได้สะท้อนความเป็นจริงถึงสภาพตลาดที่ก่อให้เกิดการผูกขาด ผู้ใช้บริการไม่ได้รับความเป็นธรรมจากสินค้าและบริการ อีกทั้ง กสทช. ต้องมองโลกในความเป็นจริงให้มากกว่านี้ ศึกษาผลกระทบการควบรวมเครือข่ายมือถือให้รอบคอบ ต้องนึกถึงประโยชน์เพื่อประชาชนเป็นที่ตั้ง อย่าเป็นแค่เสือกระดาษ ต้องจริงใจ-จริงจัง กำหนดบทลงโทษที่เข้มแข็งจัดการผู้ประกอบการที่เอาเปรียบผู้บริโภคอย่างทันท่วงที โดยอิงตามมาตรฐานสากล ที่สำคัญต้องเปิดทางให้ทุกภาคส่วนโดยเฉพาะผู้บริโภคมีส่วนร่วมในการเอาผิดผู้ประกอบการ

 

ทั้งนี้ ผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ใช้บริการทุกเครือข่ายในระบบออนไลน์ เรื่อง ผลกระทบของผู้บริโภคหลังการควบรวมธุรกิจโทรคมนาคม มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจะนำไปเสนอต่อผู้ให้บริการและ กสทช. เพื่อเร่งดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาเพื่อสร้างความเป็นธรรมแก่ผู้บริโภค

 

พบสัญญาณโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตช้าลงเพิ่มขึ้น 2 เท่า

นอกจากนี้ ผู้บริโภคจำนวนมากประสบปัญหาคุณภาพสัญญาณโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตช้าลงเพิ่มขึ้น 2 เท่า ซ้ำร้ายบริษัทที่เกิดขึ้นหลังการควบรวมยังไม่ดำเนินการตามเงื่อนไข 20 ข้อของ กสทช. ในขณะที่คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม กสทช. เตรียมตรวจสอบปัญหาลดเสาสัญญาณลง โดยสภาองค์กรของผู้บริโภคสะท้อนปัญหาหลังควบรวม ผู้บริโภคจ่ายค่าโทรศัพท์แพงขึ้น 100 บาท จากกรณีที่มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจำนวนมากออกมาวิพากษ์วิจารณ์ในสื่อสังคมออนไลน์ถึงปัญหาความเร็วของอินเทอร์เน็ตโทรศัพท์มือถือที่ช้าลง และมีความหน่วง รวมถึงสัญญาณติดขัด จนส่งผลกระทบต่อปัญหาการใช้งาน

 

หลังควบรวมพบเรื่องร้องเรียน TRUE-DTAC 659 เรื่อง 

ขณะเดียวกัน วานนี้ (14 ธันวาคม) นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ประธานอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม กสทช. ให้ข้อมูลว่า จากสถิติตั้งแต่เดือนมกราคม-กรกฎาคม ก่อนที่จะควบรวม TRUE-DTAC เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา บริษัททั้งสองมีเรื่องร้องเรียนรวมกันประมาณ 570 เรื่อง แต่ในช่วง 4 เดือนหลังการควบรวมคือระหว่างเดือนสิงหาคม-พฤศจิกายน บริษัทใหม่ที่เกิดหลังควบรวมมีเรื่องร้องเรียน 659 เรื่อง เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนหน้าประมาณ 2 เท่า

 

ซึ่งปัญหาร้องเรียนส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องคุณภาพสัญญาณโทรศัพท์มือถือไม่ดี และค่าบริการ เช่น บางรายร้องเรียนว่าได้ซื้อโปรโมชันประมาณ 200 หรือ 290 บาท ได้สัญญาณอินเทอร์เน็ตประมาณ 10 กิกะไบต์ แต่ต่อมาได้รับแจ้งว่าโปรโมชันหมดแล้ว ต้องจ่ายเพิ่มเป็นราคา 300 หรือ 400 บาท และขยับเรตให้เป็น 20 กิกะไบต์ ทั้งที่ต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตเพียงแค่ 10 กิกะไบต์ แต่บริษัทชี้แจงว่าโปรโมชันเดิมไม่มีแล้ว ทำให้ผู้บริโภคไม่มีทางเลือก จึงจำเป็นต้องจ่ายในราคาที่แพงขึ้น

 

นพ.ประวิทย์ กล่าวอีกว่า สำหรับประเด็นเรื่องสัญญาณอินเทอร์เน็ตก็ได้รับร้องเรียนมาโดยตลอด เช่น กรณีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับสัญญาณอินเทอร์เน็ต โดยผู้บริโภคได้สมัครใช้บริการ 5G ที่จังหวัดสุพรรณบุรี และส่งพิกัดบ้านไปถามศูนย์บริการของค่ายมือถือว่ามีสัญญาณ 5G หรือไม่ ทางศูนย์บริการตอบว่ามีสัญญาณ ทำให้ผู้ใช้บริการตัดสินใจสมัครและซื้อโทรศัพท์มือถือราคาประมาณ 30,000-40,000 บาท เพื่อใช้สัญญาณ 5G แต่เมื่อทดลองใช้งานจริงกลับไม่สามารถใช้บริการได้ เป็นต้น

 

ลดเสาสัญญาณทำให้สัญญาณเน็ตไม่ดี กสทช. เตรียมเข้าตรวจสอบ

ส่วนการตั้งข้อสังเกตว่า หลังการควบรวมบริษัทมีการลดจำนวนเสาสัญญาณลงหรือไม่นั้น นพ.ประวิทย์ กล่าวว่า ต้องรอตรวจสอบปริมาณเสาสัญญาณ ปริมาณการลงทุนว่าจะขยายตามแผนหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องติดตาม โดยปัจจุบันมีข้อมูลจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคที่ระบุว่า สองบริษัทลดจำนวนเสาสัญญาณลง เพื่อบริหารต้นทุนไม่ให้เกิดการซ้ำซ้อนและประหยัดต้นทุน

 

ทั้งนี้ เนื่องจากเดิมพิกัดของเสาของ TRUE-DTAC ไม่ได้อยู่ต้นเดียวกัน เพราะเป็นคนละบริษัท ดังนั้นการลดจำนวนเสาสัญญาณจะส่งผลให้พื้นที่บริการเดิมหายไปบางส่วน และทำให้ผู้บริโภคบางพื้นที่อาจพบปัญหาสัญญาณโทรศัพท์หรือสัญญาณอินเทอร์เน็ตไม่ดี ซึ่ง กสทช. จะเข้าไปตรวจสอบในเรื่องนี้ 

 

สำหรับการตรวจสอบคุณภาพและความครอบคลุมของสัญญาณ ซึ่ง กสทช. กำหนดเงื่อนไขก่อนควบรวมกิจการ 20 ข้อ รวมถึงห้ามลดจำนวนเสาสัญญาณลงภายใน 3 ปีนั้น นพ.ประวิทย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา กสทช. ได้กำหนดให้บริษัทค่ายมือถือรายงานการดำเนินการเข้ามาให้ กสทช. พิจารณา แต่พบว่าบริษัทค่ายมือถือรายงานข้อมูลเพียง 5 ข้อ ส่วนอีก 15 ข้อยังไม่มีรายงานการดำเนินการ

 

“เงื่อนไขหนึ่งของการควบรวมธุรกิจคือควบรวมแล้วราคาเฉลี่ยต้องลดลงร้อยละ 12 แต่ในความเป็นจริงผู้บริโภคส่วนใหญ่กลับรู้สึกว่าค่าบริการแพงขึ้น ดังนั้นสิ่งที่บริษัทต้องทำคือรายงานเปรียบเทียบราคาก่อนควบรวมและหลังการควบรวม 6 เดือน ซึ่งปัจจุบันบริษัทส่งรายงานเข้ามาแล้ว แต่ขอแก้ไขข้อมูลเรื่องโปรโมชันเพิ่มเติม รวมถึงการมีโปรโมชันลับ จน กสทช. ไม่สามารถคำนวณได้ ดังนั้นคณะอนุกรรมการฯ ที่ดูแลเรื่องนี้จึงมีมติว่ารับทราบ แต่ไม่ยืนยันว่ามีการลดลงร้อยละ 12 จริงหรือไม่” นพ.ประวิทย์ ระบุ

 

ยังไม่ได้เสนอคณะกรรมการ กสทช. พิจารณา 

นอกจากนี้ นพ.ประวิทย์ ยังกล่าวอีกว่า คณะอนุกรรมการที่ดูแลเรื่องการควบรวมธุรกิจได้จัดทำรายงาน 6 เดือน เรื่องปัญหาการควบคุมตั้งแต่บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ควบรวมเป็นบริษัทใหม่ร่วมกันเสร็จสมบูรณ์ ในวันที่ 1 มีนาคม 2566 ซึ่งครบกำหนดในวันที่ 30 กันยายน 2566 โดยขณะนี้ทราบว่ารายงานฉบับดังกล่าวทำเสร็จเรียบร้อย แต่ยังไม่ได้เสนอต่อคณะกรรมการ กสทช. พิจารณา จึงอยากให้คณะกรรมการเปิดเผยรายงานดังกล่าวต่อสาธารณะ

 

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาสภาองค์กรของผู้บริโภคได้สรุปผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการควบรวมธุรกิจประเภทเดียวกันของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค พบว่า บริษัทใหม่ที่เกิดหลังการควบรวมได้เปลี่ยนแปลงแพ็กเกจให้ผู้บริโภคโดยไม่สมัครใจ ทำให้ราคาแพงขึ้นรายละ 100 บาทต่อเดือน สร้างภาระให้ผู้บริโภคต้องร้องเรียนโดยไม่มีความจำเป็น

 

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาการลดคุณภาพระบบอินเทอร์เน็ตช้าลง จนเป็นปัญหาการใช้งาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้แอปพลิเคชัน LINE ส่งข้อความและข้อมูล มีปัญหาการใช้งานด้านโทรศัพท์เกิดอาการติดๆ ดับๆ เป็นต้น

 

 

อ้างอิง: 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X