×

ควบรวม TRUE-DTAC และ AIS-3BB ผูกขาด ค่าบริการพุ่ง?

25.07.2022
  • LOADING...
TRUE-DTAC และ AIS-3BB

ว่ากันว่าโทรศัพท์มือถือเปรียบเสมือนปัจจัยที่ 5 ของมนุษย์ยุคปัจจุบัน แต่ความสำคัญของโทรศัพท์อาจเท่ากับศูนย์ หากไม่มีสัญญาณโทรศัพท์หรืออินเทอร์เน็ตที่คอยทำหน้าที่เชื่อมโลกทั้งใบเข้าด้วยกัน

 

ธุรกิจโทรคมนาคมของไทยอาจกำลังอยู่ระหว่างการเปลี่ยนครั้งใหญ่ เมื่อ TRUE และ DTAC เตรียมจับมือเดินหน้าควบรวมกิจการ เช่นเดียวกับ AIS ที่ประกาศเข้าซื้อ 3BB

 

ดีลยักษ์ใหญ่ทั้งสองกรณีไม่เพียงแค่ถูกมองว่าเป็น ‘เกมการตลาด’ ระหว่างธุรกิจโทรคมนาคม แต่ยังถูกตั้งคำถามว่านี่คือการ ‘ผูกขาด’ ใช่หรือไม่

 

THE STANDARD ได้รวบรวมข้อมูลจากฝั่งผู้ให้บริการ และการสัมภาษณ์ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) มาเปรียบเทียบให้ทุกท่านร่วมวิเคราะห์ไปพร้อมกันว่า ดีลที่มีผลประโยชน์ประชาชนเป็นเดิมพันครั้งนี้มีแนวโน้มจะดำเนินไปทิศทางใด

 

ดีล TRUE-DTAC และ AIS-3BB ผู้บริโภคได้หรือเสีย?

 

เป็นที่ทราบกันดีว่าปัจจุบันผู้ให้บริการโครงข่ายโทรศัพท์มือถือในไทยมีอยู่ 3 รายใหญ่ด้วยกัน คือ AIS เจ้าตลาดเบอร์หนึ่ง ตามมาด้วย TRUE และ DTAC ทั้งสามบริษัทครองตลาดทั้งหมดราว 97% ส่วนหมายเลขที่เหลือจะอยู่ในความดูแลของบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT

 

ในมุมมองของ TDRI การเตรียมเดินหน้าควบรวมกิจการระหว่างเบอร์ 2 ของตลาดก็คือ TRUE และเบอร์ 3 ของตลาดอย่าง DTAC ถือเป็นเรื่องที่ผู้บริโภคอย่างเราต้องจับตา เพราะเพียงหนึ่งทางเลือกที่หายไปอาจสร้างผลกระทบได้อย่างคาดไม่ถึง

 

ย้อนกลับไปในช่วงปี 2540 ยุคตั้งไข่ของโทรศัพท์เคลื่อนที่ ณ ตอนนั้น AIS เป็นผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์เพียงรายเดียวของประเทศ เมื่อตลาดถูกผูกขาด สิ่งที่เกิดขึ้นคือบริษัทย่อมสามารถใช้วิธีใดก็ตามเพื่อแสวงหาผลกำไรให้กับตัวเอง เช่น กำหนดค่าบริการในราคาสูง หรือใช้แผนการตลาด ‘ขายพ่วงแพ็กเกจ’ ผ่านการออกเงื่อนไขว่าต้องซื้อโทรศัพท์เฉพาะจาก AIS เท่านั้น แม้อาจสร้างความขุ่นเคืองใจให้แก่ผู้บริโภคไม่มากก็น้อย แต่ตอนนั้นมันก็ไม่มีทางเลือกอื่นให้เราเลือกใช้บริการ 

 

กระทั่งวันที่คู่แข่งอย่าง DTAC ก้าวเข้ามาสู่สังเวียน AIS ต้องเลิกทำการตลาดรูปแบบเดิม และเดินหน้าแข่งขันเพื่อมัดใจผู้บริโภคกับ DTAC ยิ่งเมื่อภายหลัง TRUE เข้ามาเป็นผู้เล่นรายที่ 3 การแข่งขันยกระดับความเข้มข้นขึ้นไปอีกขั้น ดังนั้นหากดีลระหว่าง TRUE และ DTAC สำเร็จ จะคล้ายกับว่าตลาดโครงข่ายโทรศัพท์มือถือย้อนถอยหลังกลับไปสู่ช่วงปี 2540 ทันที

 

ดร.สมเกียรติมีความเห็นว่า ส่วนแบ่งตลาดที่ต่างฝ่ายต่างมีผู้ใช้บริการคนละครึ่ง หรือ 50% อยู่ในมือ มีความเสี่ยงสมคบกันไม่แข่งราคา ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม 

 

โดยปกติหากมีเจ้าตลาดอยู่ 2 ราย และมีรายใหม่เกิดขึ้นมา รายใหม่ที่มีส่วนแบ่งตลาดน้อยจะใช้กลยุทธ์ฟันราคาเพื่อดึงลูกค้าให้มาอยู่กับตัวเอง หรือกรณีตลาดเหลือคู่แข่งอยู่ 2 ราย แต่ว่ารายหนึ่งมีส่วนแบ่ง 70% อีกราย 30% รายที่สัดส่วนแบ่งน้อยย่อมเห็นว่าต้องฟันราคาแข่งเช่นกัน

 

แต่เมื่อ 2 รายมีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 50% เทียบเท่ากัน การฟันราคายิ่งจะทำให้ได้กำไรน้อยลงทั้งคู่ ฉะนั้นจึงเป็นไปได้ที่ทั้ง 2 รายอาจจะยินดีอยู่เฉยๆ โดยไม่แข่งราคากัน

 

ที่สำคัญการศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เอง ตลอดจนการศึกษาโดยนักวิชาการอิสระเช่น ฉัตร คำแสง ผู้อำนวยการ 101 PUB บ่งชี้ด้วยว่าการควบรวมของ TRUE และ DTAC แม้สามารถช่วยลดต้นทุนได้ แต่ผลประโยชน์จะตกอยู่ที่ผู้ถือหุ้นของทั้งสองบริษัทมากกว่าผู้บริโภค เนื่องจากตัวเลือกที่ลดลงเอื้อให้ผู้ให้บริการฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาได้ง่าย และแบบจำลองหนึ่งที่ศึกษาพฤติกรรมของบริษัทต่างๆ ยังพบว่า ถ้าควบรวมกันจาก 4 ราย เหลือ 3 ราย ค่าบริการจะสูงขึ้น 12% ขณะที่จาก 3 ราย เหลือ 2 ราย ราคาจะสูงขึ้นถึง 33% เลยทีเดียว

 

นอกจากนี้ ผลการศึกษาของ กสทช. ยังชี้ว่า การควบรวม TRUE และ DTAC จะส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศมีอัตราการเติบโตลดลงจากราคาค่าบริการที่เพิ่มขึ้น และทำให้ GDP ลดลงได้ตั้งแต่ 0.17-0.33% ในกรณีร่วมมือกันระดับต่ำ และหากทั้งสองเจ้าร่วมมือกันในระดับสูง GDP จะลดลง 0.58-1.99% รวมทั้งอาจทำให้อัตราเงินเฟ้อในประเทศเพิ่มขึ้นอีก กรณีเลวร้ายที่สุดอาจสูงได้ถึง 0.60-2.07%

 

เปิดมุมมองภาคเอกชนควบรวมเพื่อแข็งแกร่งต่อสู้ระดับโลก

 

แต่ถ้าเราฟังข้อมูลจากฝั่งภาคเอกชน ซิคเว่ เบรคเก้ President and Chief Executive Officer แห่งเทเลนอร์ กรุ๊ป บริษัทแม่ของ DTAC ให้เหตุผลการควบรวมครั้งนี้ว่า อุตสาหกรรมโทรคมนาคมกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

 

จากเดิมที่อุตสาหกรรมมุ่งเน้นเรื่องการเชื่อมต่อผ่านการติดต่อสื่อสาร จะเปลี่ยนผู้เล่นและคู่แข่งใหม่ทั้งหมด ในมุมของภาคเอกชนมองว่าอุตสาหกรรมโทรคมนาคมยุคใหม่จะมีองค์ประกอบของ 5G, ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ Internet of Things (IoT) ซึ่งมันคือการที่ของใช้ในชีวิตประจำวันเชื่อมต่อกันได้ผ่านอินเทอร์เน็ตมาหลอมรวมกัน ซึ่งนั่นจะเปลี่ยนรูปแบบของการแข่งขันในตลาด รวมถึงคู่แข่งที่ไม่ใช่บริษัทโทรคมนาคมแบบเดิม แต่เปลี่ยนเป็นแพลตฟอร์มระดับโลกอย่าง AWS, Google และ Microsoft ที่จะพลิกโฉมตลาดและรูปแบบการทำธุรกิจใหม่ทั้งหมด

 

DTAC จึงต้องเปลี่ยนผ่านสู่การเป็น Telecom-Tech Company สร้างบริษัทเทคโนโลยีใหม่ที่จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้ และการจับมือกับ TRUE จะช่วยให้บริษัทมีโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ยกระดับความสามารถในการพัฒนาดิจิทัลและเทคโนโลยีของประเทศไทยให้ขึ้นไปอยู่แถวหน้าของภูมิภาคได้

 

ในมุมมองของซิคเว่ เขาเห็นว่าการมีบริษัทไทยที่แข็งแกร่ง 2 รายไปแข่งขันกับแพลตฟอร์มระดับโลกมันย่อมดีกว่า การมีบริษัทอย่าง AIS ที่แข็งแกร่งเพียงรายเดียว แต่อีก 2 รายอย่าง TRUE และ DTAC ไม่แข็งแกร่งเลย

 

แต่ว่าทันทีที่ TRUE และ DTAC ประกาศร่วมบ้านกัน AIS ในฐานะคู่แข่งในตลาด โต้กลับด้วยการทำหนังสือถึง กสทช. เพื่อชี้แจงผลกระทบและผลเสียที่อาจเกิดขึ้นจากการควบรวมกิจการระหว่างทั้งสอง ใจความโดยสรุประบุว่า ดีลการควบกิจการของทั้ง 2 รายนี้ จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อการแข่งขัน ทำให้สภาพตลาดมีการกระจุกตัวสูง และกระทบต่อผู้บริโภคอย่างร้ายแรง ทั้งยังขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายในการจัดสรรคลื่นความถี่ และขัดต่อหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ด้วย

 

ในเวลาเดียวกัน AIS ก็หาลู่ทางใหม่ขยายการเติบโตทางธุรกิจ ด้วยการเข้าซื้อกิจการ 3BB หากดีลนี้สำเร็จ จะทำให้ AIS เป็นเบอร์ 2 ของตลาดอินเทอร์เน็ตบ้านทันที จากเดิม AIS ที่มีลูกค้า 1.86 ล้านราย เมื่อได้ลูกค้า 2.42 ล้านราย (เก็บเงินได้จริง) จาก 3BB เข้ามาสมทบ จะมีลูกค้าทั้งสิ้น 4.28 ล้านราย ไล่หลัง TRUE เบอร์ 1 ของตลาดที่มีลูกค้า 4.7 ล้านรายไม่มากนัก (ตัวเลขผู้ใช้งานไตรมาส 1 ปี 2022)

 

กรณี AIS ซื้อ 3BB ในมุมของ ดร.สมเกียรติ ให้ข้อมูลว่า ค่าบริการอาจมีโอกาสสูงราว 10% แต่ก็ถือว่าน่าเป็นห่วงน้อยกว่า เมื่อเทียบกรณี TRUE และ DTAC

 

แบบไหนจึงเรียกว่า ‘ผูกขาด’

 

การมีผู้ให้บริการเพียงรายเดียวในตลาด ทุกคนทราบได้ทันทีว่าเป็นการผูกขาดอย่างไม่ต้องสงสัย แต่เมื่อผู้ให้บริการมีมากกว่าหนึ่งราย เราจะใช้อะไรเป็นมาตรวัดว่านี่คือ ‘การผูกขาด’

 

ตัวชี้วัดยอดนิยมสำหรับฉายภาพการกระจุกและกระจายตัวของส่วนแบ่งตลาดมีชื่อว่าเฮอร์ฟินดาห์ล-เฮิร์ชแมน (Herfindahl-Hirschman Index: HHI) ดัชนีดังกล่าวมีค่าตั้งแต่ 0-10,000 ยิ่งสูงก็จะสะท้อนว่าตลาดมีการกระจุกตัวมาก โดยตามประกาศคณะกรรมการโทรคมนาคม เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการควบรวม และการถือหุ้นไขว้ในกิจการโทรคมนาคม ฉบับแก้ไข พ.ศ. 2561 เซ็ตค่า HHI ภายหลังการควบรวมไว้ว่าต้องไม่มากกว่า 2,500

 

ซึ่งปัจจุบัน ค่า HHI ของ AIS และ 3BB ก่อนจะควบรวมกันก็มีตัวเลขอยู่ 2,644 หลังควบรวมแล้วจะเพิ่มขึ้นเป็น 3,385 ส่วนกรณี TRUE และ DTAC ก่อนควบรวมอยู่ที่ 3,624 หลังควบรวมตัวเลขจะสูงราว 5,032 ซึ่งนับว่าสูงมาก หากเรื่องนี้เกิดขึ้นในต่างประเทศ หน่วยงานที่กำกับดูแลก็จะเข้ามากลั่นกรองเป็นพิเศษ

 

แต่ในไทยหน่วยงานกำกับดูแลด้านโทรคมนาคมโดยตรงอย่าง กสทช. ช่วงแรกกลับยืนยันว่า ตามข้อ 5 ของประกาศฯ พ.ศ. 2561 ระบุเพียงให้ผู้ได้รับใบอนุญาต ‘รายงาน’ ต่อ กสทช. อย่างน้อย 90 วันก่อนการดำเนินการ แต่ไม่ได้มีขอบเขตถึงการอนุญาตหรือไม่อนุญาตการควบรวม ทำได้เพียงกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมเพื่อเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นเท่านั้น

 

ทว่าในมุมมองของนักกฎหมายหลายท่านมองว่า การจะพิจารณาอำนาจหน้าที่ของ กสทช. อย่างรอบด้าน ต้องดูข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ด้วย เช่น รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 60 มีการระบุไว้ว่า คลื่นความถี่เป็น ‘สมบัติของชาติ… โดยไม่ว่าการใช้ประโยชน์แบบใด ก็ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน’ พร้อมระบุต่อว่าให้จัดตั้งองค์กรเพื่อกำกับดูแลคลื่นความถี่ ซึ่งก็คือ กสทช. มีหน้าที่ต้อง ‘ป้องกันมิให้มีการแสวงหาประโยชน์จากผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรมหรือสร้างภาระแก่ผู้บริโภคเกินความจําเป็น’

 

ส่วนหน่วยงานดูแลการผูกขาดโดยทั่วไปอย่างสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ก็ปฏิเสธที่จะพิจารณาเรื่องนี้ โดยกล่าวว่า เป็นความรับผิดชอบของ กสทช. ในการพิจารณาควบรวมกิจการ TRUE-DTAC และ AIS-3BB

 

ประเด็นนี้ ดร.สมเกียรติ มองว่า การที่หน่วยงานกำกับดูแลต่างบ่ายเบี่ยงพิจารณา 2 ดีลยักษ์ใหญ่นี้ อาจเป็นไปได้ว่าพวกเขาตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของทุน ปรากฏการณ์ลักษณะนี้ในทางวิชาการเรียกว่า ‘Regulatory Capture’

 

ข้อเรียนรู้หนึ่งที่สำคัญเกี่ยวกับการผูกขาดคือ เศรษฐกิจกับการเมืองไม่อาจแยกออกจากกัน การผูกขาดเปิดช่องทางลัดให้กลุ่มทุนแสวงหาผลกำไรได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย และถ้าพวกเขาอยากรักษาอำนาจผูกขาดของตัวเองเอาไว้ ก็อาจใช้วิธีล็อบบี้ฝ่ายการเมือง นโยบายที่กำหนดออกมาจึงเป็นไปเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่นายทุนไม่ใช่ประชาชน ดังนั้นการผูกขาดทางเศรษฐกิจมักนำไปสู่การผูกขาดทางการเมือง

 

อย่างไรก็ตาม ภายหลัง กสทช. ได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาและวิเคราะห์การควบรวมระหว่าง TRUE-DTAC ขึ้นมา 4 คณะ โดยให้ระยะเวลาการศึกษาทั้งหมด 2 เดือน

 

ระหว่างนี้ทาง TRUE และ DTAC ได้ออกมาชี้แจงเพิ่มว่า ตามประกาศคณะกรรมการฯ ของ กสทช. ปี 2561 การควบรวมสามารถทำได้โดยไม่ต้องขออนุมัติจาก กสทช. และไม่ขัดต่อกฎหมาย เพราะไม่ใช่การซื้อกิจการเหมือนกรณี AIS-3BB ที่จะเหลือผู้ถือหุ้นเพียงฝ่ายเดียว พร้อมยกตัวอย่างการควบรวมที่เกิดขึ้นมาแล้วระหว่าง TOT-CAT เป็น NT ในปัจจุบัน ดังนั้นต้องรอติดตามกันต่อไปว่า กสทช. จะชี้ขาดอย่างไร

 

ถอดบทเรียนจากสหรัฐอเมริกา 

 

ตลอดเวลาที่ผ่านมา รอบตัวของเรามีการผูกขาดทางธุรกิจเต็มไปหมด และนับวันการผูกขาดก็คล้ายจะขยายตัวจากธุรกิจหนึ่งไปอีกธุรกิจหนึ่งมากขึ้นเรื่อยๆ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในธุรกิจค้าปลีก โรงภาพยนตร์ และอื่นๆ

 

บทเรียนจากต่างประเทศมีหลักฐานชัดเจนว่า การเปลี่ยนแปลงและการบังคับใช้กฎหมายแข่งขันทางการค้าอย่างจริงจังสามารถช่วยให้ประชาชนหลุดพ้นจากการผูกขาดของทุนใหญ่ได้หากฝ่ายการเมืองเข้าใจประโยชน์ของการแข่งขันและเอาจริงเอาจังกับการบังคับใช้กฎหมาย

 

เช่นที่เคยเกิดขึ้นกับสหรัฐอเมริกาช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ยุคนั้นธุรกิจควบรวมกันครั้งใหญ่หลายอุตสาหกรรม ทั้งธุรกิจรถไฟ, เหล็ก, ปูนซีเมนต์ และเหมืองแร่ เอื้อให้บรรดากลุ่มนายทุนร่ำรวยขึ้นกลายเป็นอภิมหาเศรษฐี ขณะที่ผู้บริโภคต้องอยู่อย่างอยากลำบาก

 

ความโกรธแค้นจากการถูกเอารัดเอาเปรียบ ปลุกให้ประชาชนอเมริกันตื่นตัวลุกขึ้นมาต่อสู้ กระทั่งกฎหมายต่อต้านการผูกขาดถูกตราขึ้นในปี 1890 แต่ช่วง 12 ปีแรกหลังมีกฎหมาย ศาลสูงสุดยังคงตัดสินเข้าข้างธุรกิจใหญ่ กระทั่งการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเกิดขึ้นได้เมื่อมวลชนสร้างแรงกดดัน และเลือก ธีโอดอร์ โรสเวลต์ ผู้หาเสียงว่าจะต่อสู้กับการผูกขาดขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 26 ของสหรัฐอเมริกา

 

บริษัทกลุ่มผู้ผูกขาดรถไฟที่นำโดยอภิมหาเศรษฐีผู้ทรงอิทธิพล รวมถึงบริษัทอื่นๆ ในขณะนั้นถูกปราบปรามอย่างต่อเนื่อง นำสหรัฐฯ ก้าวไปสู่ยุคก้าวหน้า (Progressive Era) ที่มีการปฏิรูปอย่างกว้างขวางทั้งภาครัฐและภาคสังคม

 

ด้านบรรดาอภิมหาเศรษฐีที่กอบโกยจากการผูกขาด ก็เป็นที่รังเกียจของประชาชน จนต้องพยายามกอบกู้ภาพลักษณ์ผ่านการทำกิจกรรมการกุศลช่วยเหลือสังคม มูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์และมูลนิธิคาร์เนกี จึงเกิดขึ้นมาในช่วงเวลาดังกล่าว และเป็นแนวทางที่บรรดามหาเศรษฐีอเมริกันยังคงใช้จนถึงปัจจุบัน

 

สำหรับประเทศไทย ดร.สมเกียรติกล่าวว่า แม้เราจะมีทั้งกฎหมายและหน่วยงานกำกับดูแลการผูกขาดมาหลายสิบปี แต่ยังไม่เคยมีผู้ผูกขาดรายใดที่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีทางอาญา เสมือนประเทศไทยไม่มีการผูกขาดที่ผิดกฎหมาย

 

สิ่งที่เราจะถอดบทเรียนจากสหรัฐอเมริกาเมื่อ 130 ปีก่อนได้คือ คนอเมริกันตื่นรู้ว่าการผูกขาดริดรอนความฝันของพวกเขา และถ้ารัฐกับทุนไปยืนอยู่ข้างเดียวกัน ประชาชนในฐานะผู้บริโภคจะต้องลุกขึ้นมาใช้สิทธิ์ใช้เสียงของตัวเองเท่าที่ทำได้ ด้วยการบอยคอตธุรกิจที่ตัวเองคิดว่าเป็นการผูกขาด

 

ส่วนในฐานะของพลเมือง ประชาชนจะต้องออกสิทธิ์ออกเสียง กดดันพรรคการเมืองที่ยอมให้มีการผูกขาด หรือเลือกพรรคการเมืองที่ประกาศนโยบายชัดเจนว่าจะต่อสู้กับเรื่องนี้ เหมือนสหรัฐอเมริกาครั้งเลือกประธานาธิบดีธีโอดอร์ โรสเวลต์ ขึ้นมาสู้กับทุนผูกขาด

 

และประเทศไทยเราพร้อมจะทวงคืนผลประโยชน์ของตัวเองกลับคืนมา เดินหน้าเข้าสู่ยุคใหม่แบบ Progressive Era แล้วหรือยัง

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X