×

สิ่งที่ต้องจับตาหลังจากบอร์ด กสทช. เห็นชอบแบบมีเงื่อนไขให้ ‘TRUE-DTAC’ รวมธุรกิจกัน

21.10.2022
  • LOADING...
TRUE-DTAC

เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 เป็นอีกวันหนึ่งที่ประเทศไทยต้องจารึกไว้บนหน้าประวัติศาสตร์ เพราะเป็นวันที่บอร์ด กสทช. ประชุมกันร่วม 11 ชั่วโมง เพื่อหารือมติเรื่องการรวมธุรกิจระหว่าง บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น หรือ TRUE และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ DTAC ซึ่งผลการประชุมสรุปออกมาว่า บอร์ด กสทช. มีมติรับทราบ ‘TRUE-DTAC’ ควบรวมกิจการภายใต้เงื่อนไขและมาตรการเฉพาะเพื่อลดผลกระทบต่อผู้บริโภค การแข่งขัน และอุตสาหกรรมโทรคมนาคม

 

จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จํากัด ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของ TRUE กับบริษัท เทเลนอร์ เอเซีย (Telenor Asia Pte Ltd.) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ DTAC ได้ร่วมกันตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาคือ บริษัท ซิทริน โกลบอล จํากัด แล้วจะให้บริษัทที่ตั้งร่วมกันนี้ซื้อหุ้นทั้งหมดของ TRUE และ DTAC


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


ประเด็นการรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC ทำให้สังคมเกิดคำถามขึ้นอย่างมากมาย และสร้างประเด็นถกถามกันในวงกว้างเกี่ยวกับการผูกขาดในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศไทย ความเที่ยงธรรมเชิงกฎหมาย การกำกับดูแลการประกอบธุรกิจ รวมถึงความเป็นธรรมต่อผู้บริโภค

 

ในด้านการให้บริการทางธุรกิจ TRUE และ DTAC สื่อสารกับสังคมอยู่บ่อยครั้งว่าการรวมธุรกิจจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้บริการมากขึ้น ทั้งจะช่วยให้ผู้ใช้บริการได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G ที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น พร้อมด้วยคุณภาพ ความเสถียร และความเร็วโครงข่ายที่ดีกว่าเดิม อีกทั้งการรวมโครงสร้างพื้นฐานของ 2 บริษัทเข้าด้วยกัน จะลดต้นทุนการดำเนินกิจการของบริษัทลง แล้วจะทำให้ผู้ใช้บริการได้รับค่าบริการที่ถูกลง

 

อย่างไรก็ตาม การรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC ทำให้ผู้ประกอบการด้านโทรคมนาคมของไทยหายไป 1 ราย จากเดิมที่มี 3 ราย เหลือเพียง 2 รายเท่านั้น ซึ่งการที่มีผู้เล่นเพียง 2 รายในอุตสาหกรรมใดๆ ก็ตาม ล้วนแต่ทำให้การแข่งขันระหว่างผู้ประกอบลดลง ในทางตรงกันข้าม ความไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคกลับเพิ่มขึ้น

 

ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 หลังจากที่ประชุมหารือกันมากว่า 11 ชั่วโมง ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ บอร์ด กสทช. มีมติเสียงข้างมาก 3 ต่อ 2 รับทราบการควบรวมกันระหว่าง TRUE และ DTAC ตามประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจฯ ปี 2561

 

โดยทาง กสทช. ได้กำหนดมาตรการเฉพาะที่จะใช้กำกับ เช่น ต้องลดค่าบริการเฉลี่ยลง 12% ใน 90 วัน, ต้องแยกแบรนด์กัน 3 ปี และต้องมีโครงข่าย 5G ที่ต้องครอบคลุม 85% ของประชากรใน 3 ปี

 

ผู้ประกอบการ ‘ได้ประโยชน์’ ทุกราย

ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส ประเมินกรณีการรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC จะเป็นบวกต่ออุตสาหกรรมการให้บริการมือถือ เพราะหลังการควบรวม จำนวนผู้เล่นหลักในตลาดผู้ให้บริการมือถือจะลดลงจาก 3 ราย เหลือ 2 ราย ซึ่งจะทำให้การแข่งขันมีแนวโน้มลดความรุนแรงลงจากปัจจุบันได้

 

โดยมองเป็นบวกต่อ TRUE และ DTAC ในด้านของศักยภาพในการแข่งขันจากฐานลูกค้าที่จะเพิ่มจากสิ้นไตรมาส 2/65 ที่มีลูกค้าอยู่ 33.3 ล้านราย และ 20.3 ล้านราย ตามลำดับ เป็น 53.6 ล้านราย หรือมีส่วนแบ่งการตลาดฐานลูกค้าประมาณ 50% นอกจากนี้ยังคาดหวังผลประกอบการที่ดีขึ้นจากต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่จะลดลง

 

สำหรับมาตรการต่างๆ ที่ กสทช. ออกมา มองว่าส่วนใหญ่น่าจะเป็นเงื่อนไขที่ TRUE และ DTAC ยอมรับได้ แต่อาจจะต้องศึกษาทำความเข้าใจให้ตรงกันกับ กสทช. ก่อน โดยประเด็นสำคัญคือการที่จะต้องลดราคาค่าบริการเฉลี่ย 12% และการห้ามลด Cell Site ซึ่งเรื่องค่าบริการที่จะลดลงมองว่าน่าจะชดเชยได้ด้วยการประหยัดต่อขนาด (Economy of Scales) ที่จะเกิดขึ้นหลังการควบรวม ขณะที่เรื่อง Cell Site ก็เป็นส่วนหนึ่งของแนวทางที่จะลดต้นทุนได้

 

ทั้งนี้ ตัวอย่างมาตรการที่จะนำมากำกับหลังการควบรวมมีดังนี้

  • โครงข่าย 5G ต้องครอบคลุม 85% ของจำนวนประชากรใน 3 ปี และ 90% ใน 5 ปี
  • ลดค่าบริการเฉลี่ยลง 12% ภายใน 90 วัน
  • ต้องแยกแบรนด์จากกัน 3 ปี
  • หนุนรายย่อยผ่าน MVNO
  • ห้ามลด Cell Sites
  • TRUE และ DTAC ต้องคงไว้ซึ่งเงื่อนไขของสัญญา
  • ส่งเสริมการแข่งขันเพื่อเพิ่มผู้บริการรายใหม่
  • จัดแพ็กเกจสำหรับผู้มีรายได้น้อยและผู้ด้อยโอกาส
  • รายงานผลการดำเนินงานทุก 6 เดือน เป็นเวลา 5 ปี
  • กสทช. มีอำนาจระงับ ยกเลิก ปรับปรุงเงื่อนไขหากมีพฤติกรรมผูกขาด
  • นำส่งข้อมูลต้นทุนที่จำเป็นให้หน่วยงานตรวจสอบ

 

3 มาตรการเสี่ยงกดดัน ‘กำไรบริษัทใหม่’

ฝ่ายวิจัย บล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) ระบุว่า ในส่วนของมาตรการเฉพาะที่บอร์ด กสทช. กำหนดไว้นั้น ส่วนใหญ่แล้วสอดคล้องกับที่ฝ่ายวิจัยประเมินไว้ แต่มี 3 มาตรการที่มีความเสี่ยงต่อประมาณการกำไรบริษัทใหม่ ได้แก่

 

  1. การควบคุมราคา คณะกรรมการ กสทช. กำหนดให้ลดค่าธรรมเนียมบริการเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักโดยผู้ใช้บริการลง 12% ซึ่งไม่ทราบแน่ชัดว่าหมายถึง 1. ลดลง 12% จาก ARPU มือถือปัจจุบัน หรือ 2. เพดานราคาปัจจุบันลดลง 12%

 

  1. การใช้คลื่นความถี่ กสทช. ไม่ได้กล่าวถึงรายละเอียดใดๆ เกี่ยวกับการรวมคลื่นความถี่ภายใต้นิติบุคคลเดียวหรือการโรมมิ่งเครือข่ายในบริษัทย่อยของบริษัทใหม่ หากอนุญาตให้รวมคลื่นความถี่หรือการโรมมิ่งเครือข่าย การคาดการณ์การประหยัดต้นทุนจากการใช้โครงข่ายร่วมกัน (1.77 หมื่นล้านบาทต่อปี จากปี 2570 เป็นต้นไป) จะไม่เปลี่ยนแปลง

 

  1. จำนวนสถานีฐาน (Cell Sites) กสทช. ออกคำสั่งห้ามไม่ให้ลดจำนวนสถานีฐาน (Cell Sites) ของทั้ง 2 บริษัทลงจากเดิม ซึ่งจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อกำไรของบริษัทใหม่ใน 3 ปีแรก

 

“เนื่องจากความไม่แน่นอนของมาตรการสำคัญ 3 ประการ TRUE และ DTAC มีแนวโน้มที่จะต้องหารือและสรุปมาตรการเฉพาะกับ กสทช. เราคาดว่าจะเห็นข้อสรุปด้านมาตรการต่างๆ ในเดือนพฤศจิกายน 2565 และนำไปสู่ VTO ในเดือนธันวาคม 2565 หรือมกราคม 2566 ดังนั้นการควบรวมกิจการน่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 1 ปี 2566”

 

เกาะติดการจัดทำ ‘คำเสนอซื้อ’ จากผู้ถือหุ้นเดิม

ขั้นตอนต่อไปคือ TRUE และ DTAC จะมีการจัดทำคำเสนอซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นเดิมในการประชุมผู้ถือหุ้นทั้ง TRUE และ DTAC เพื่อให้อนุมัติเกี่ยวกับบริษัทใหม่ที่จะเกิดจากการควบรวม จึงจะดำเนินการตั้งบริษัทใหม่ ซึ่งคาดจะเกิดได้ในปลายปีนี้หรือต้นเดือนมกราคม 2566

 

ด้าน บล.กสิกรไทย ระบุในบทวิเคราะห์ว่า เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม บอร์ด กสทช. ให้ TRUE-DTAC ควบรวมพร้อมกำหนดเงื่อนไขปฏิบัติตามเพื่อเยียวยาและรักษาผลประโยชน์ของผู้ใช้บริการ ซึ่งฝ่ายวิจัยมองว่าทั้ง 2 บริษัทจะเดินหน้าควบรวมบริษัท โดยกระบวนการทำคำเสนอซื้อคาดว่าจะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้ และกระบวนการแลกเปลี่ยนหุ้นน่าจะเกิดในเดือนธันวาคม และหุ้นใหม่ของ MergeCo น่าจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ภายในสิ้นปีนี้ อย่างไรก็ตาม นักลงทุนต้องติดตามเงื่อนไขของ กสทช.

 

โดยฝ่ายวิจัยคาดว่า ราคาเสนอซื้อ (VTO) ของ DTAC ที่ 47.76 บาท และของ TRUE ที่ 5.09 บาท จะเปลี่ยนจากแนวต้านเป็นแนวรับ โดยคงมุมมองเชิงบวกต่อการควบรวมของทั้งสองบริษัทจากการสร้างมูลค่าเพิ่มผ่านการลดต้นทุนและเพิ่มรายได้ นอกจากนี้คาดว่าการควบรวมระหว่าง TRUE-DTAC จะเป็นบวกกับหุ้น ADD เพราะจะได้แชร์ฐานลูกค้าของ DTAC จากเดิมที่เข้าถึงเพียง AIS และ TRUE

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X