บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดผลประกอบการประจำไตรมาส 2/2562 พบมีรายได้รวมทั้งหมด 33,573 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว 45.1% (ไตรมาส 2/2561 รายได้รวม 61,198 ล้านบาท) ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 1,060 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วราว 20% (ก่อนหักลบค่าชดเชยสำหรับพนักงานเกษียณอายุ 748 ล้านบาทตามพรบ. คุ้มครองแรงงาน กลุ่มทรูจะมีกำไรราว 1,800 ล้านบาท)
เมื่อจำแนกตามสัดส่วนรายได้ของแต่ละธุรกิจของกลุ่มทรู จะพบว่า รายได้จากค่าเชื่อมต่อโครงข่าย (IC), รายได้จากค่าเช่าโครงข่าย และรายได้จากการขายปรับลดจากปีก่อนหน้าทั้งหมด มีเพียงรายได้จากการให้บริการเท่านั้นที่เพิ่มขึ้น 1.4% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว รายได้รวมทั้งหมดอยู่ที่ 26,186 ล้านบาท
โดย ทรูมูฟ เอช ยังคงเป็นธุรกิจที่เติบโตทั้งในกลุ่มลูกค้าระบบรายเดือนและเติมเงิน มีรายได้รวมเพิ่มขึ้น 6.3% จากปีที่แล้วเป็น 19,500 ล้านบาท และมีรายได้เฉลี่ยจากผู้ใช้บริการต่อเดือนเพิ่มสูงขึ้นเป็น 212 บาท (ไตรมาสก่อนหน้าอยู่ที่ 205 บาท) ปัจจุบันมีฐานผู้ใช้งานทั้งหมด 29.8 ล้านราย มีลูกค้าใหม่รวม 229,200 ราย
สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้รายได้ของทรูมูฟ เอช เพิ่มขึ้นมาจากการทำแคมเปญการตลาดที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่มได้ตรงจุด โดยสภาวะการแข่งขันในตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ปรับตัวดีขึ้น จากการที่ผู้ให้บริการแต่ละรายต่างเดินกลยุทธ์ลดการนำเสนอแพ็กเกจความเร็วคงที่โดยใช้ดาต้าได้ไม่จำกัด และตลาดในภาพรวมก็มีการทยอยเพิ่มระดับราคาแพ็กเกจให้เหมาะสม
ทรูออนไลน์ มีรายได้จากการให้บริการบรอดแบนด์ อินเทอร์เน็ต และสื่อสารข้อมูลธุรกิจที่ 6,300 ล้านบาท จากฐานลูกค้ารวมทั้งหมดที่ 3.6 ล้านราย มีรายได้เฉลี่ยจากผู้ใช้บริการต่อเดือนที่ 552 บาท โดยปัจจุบันตลาดบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตยังคงมีการแข่งขันที่สูง ผู้ให้บริการแต่ละรายต่างดึงดูดลูกค้าด้วยการให้ส่วนลด และเพิ่มความเร็วอินเทอร์เน็ต
ด้านทรู วิชั่นส์มีรายได้จากการให้บริการ 3,000 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 15.1% จากปีที่แล้ว (ช่วงถ่ายทอดสดกีฬาฟุตบอลโลก 2018) ส่วนรายได้จากผู้ใช้บริการต่อเดือนอยู่ที่ 288 บาทจากฐานลูกค้าผู้ใช้บริการทั้งหมด 4 ล้านราย โดยคาดว่าการได้รับลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีกอังกฤษผ่านทุกแพลตฟอร์ม น่าจะช่วยสร้างการเติบโตให้กับกลุ่มทรูในช่วงครึ่งหลังของปีได้เป็นอย่างดี
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง