กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศฉบับที่ 11 ระบุว่า เมื่อเวลา 04.00 น. ของวันนี้ (3 ม.ค.) พายุโซนร้อน ‘ปาบึก’ (PABUK) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่าง โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 6.2 องศาเหนือ ลองจิจูด 105.5 องศาตะวันออก ความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกอย่างช้าๆ คาดว่าจะเคลื่อนผ่านปลายแหลมญวนและเคลื่อนลงอ่าวไทยในวันที่ 3 มกราคม 2562
และจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณรอยต่อระหว่างจังหวัดชุมพรและสุราษฎร์ธานีในช่วงค่ำของวันที่ 4 มกราคม 2562 โดยจะมีผลกระทบต่อภาคใต้ในช่วงวันที่ 3-5 มกราคม 2562 ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมาก ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ โดยมีผลกระทบดังนี้
ในช่วงวันที่ 3-4 มกราคม 2562 จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งกับมีลมแรงบริเวณจังหวัดชุมพร, สุราษฎร์ธานี, นครศรีธรรมราช, พัทลุง, สงขลา, ปัตตานี, ยะลา, นราธิวาส, กระบี่, ตรัง และสตูล
ในช่วงวันที่ 4-5 มกราคม 2562 บริเวณภาคใต้จะมีฝนตกเป็นบริเวณกว้าง และจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งกับมีลมแรงบริเวณจังหวัดเพชรบุรี, ประจวบคีรีขันธ์, ชุมพร, สุราษฎร์ธานี, นครศรีธรรมราช, พัทลุง, สงขลา, ปัตตานี, ยะลา, นราธิวาส, ระนอง, พังงา, ภูเก็ต, กระบี่, ตรัง และสตูล
สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันจะมีกำลังแรง โดยอ่าวไทยมีคลื่นสูง 3-5 เมตร ส่วนทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งภาคใต้ฝั่งตะวันออกระวังอันตรายจากลมแรงและคลื่นลมแรงที่พัดเข้าหาฝั่ง ชาวเรือบริเวณอ่าวไทยควรงดออกจากฝั่งตั้งแต่วันที่ 3-5 มกราคม 2562
ขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลข่าวพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยได้ที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา https://www.tmd.go.th หรือสายด่วนพยากรณ์อากาศ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ขณะที่ศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ เตรียมการเฝ้าระวัง ประเมินสถานการณ์น้ำเนื่องจากอิทธิพลของพายุโซนร้อนปาบึก โดยให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและกรมชลประทานพิจารณาเร่งการระบายน้ำเพื่อรองรับฝนและปรับการระบายน้ำไม่ให้เกิดผลกระทบกับพื้นที่ท้ายน้ำ
ทั้งนี้ พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้หน่วยงานที่มีอ่างเก็บน้ำในความรับผิดชอบในพื้นที่ภาคใต้มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 เร่งระบายน้ำเพื่อรองรับปริมาณน้ำฝน ติดตามสภาพฝนและการระบายน้ำให้สัมพันธ์กับพื้นที่ท้ายน้ำเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
ด้าน พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้สั่งการให้ทุกเหล่าทัพเฝ้าติดตามสภาพอากาศ พร้อมกำชับให้ทุกเหล่าทัพเตรียมกำลังพล ยุทโธปกรณ์ เครื่องมือช่าง รวมทั้งชุดแพทย์สนาม และสถาปนาระบบสื่อสารสำรองในพื้นที่ให้พร้อม โดยให้ประสานกับฝ่ายปกครองให้การช่วยเหลือเร่งด่วน อพยพประชาชนจากพื้นที่อันตรายที่อาจได้รับผลกระทบรุนแรงไปยังพื้นที่ปลอดภัย และวางแผนกระจายกำลังจากหน่วยทหารในพื้นที่ เร่งให้การช่วยเหลือเร่งด่วนขั้นต้นแก่ประชาชนในทุกพื้นที่ให้ทั่วถึง โดยเฉพาะพื้นที่ชายฝั่งอันดามันและอ่าวไทย ให้กองเรือเตรียมการเป็นฐานช่วยเหลือประชาชนและนักท่องเที่ยวริมชายฝั่งทะเล พร้อมทั้งให้เตรียมพร้อมอากาศยานสำหรับการลำเลียงสิ่งของยังชีพจากส่วนกลางเพื่อสนับสนุนการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์