×

มุมมองนักวิชาการไทย รัฐบาลขยับช้าไปหรือไม่-กลไก ‘Troika’ แก้วิกฤตเมียนมาได้จริงหรือ?

09.04.2024
  • LOADING...
กลไก Troika

จากกรณีที่รัฐบาลทหารเมียนมาส่งคำขอถึงรัฐบาลไทยตั้งแต่ช่วงเย็นวันที่ 6 เมษายนที่ผ่านมา โดยขอใช้สนามบินแม่สอด จังหวัดตากของไทย ระหว่างวันที่ 7-9 เมษายน เพื่อขนส่งผู้โดยสารและสิ่งของในเมืองเมียวดีกลับประเทศ และเริ่มเที่ยวบินพิเศษเที่ยวแรก เส้นทางแม่สอด-ย่างกุ้ง ในช่วงค่ำวันที่ 7 เมษายนนั้น 

 

ก่อให้เกิดการตั้งคำถามอย่างมากว่า รัฐบาลไทย โดยเฉพาะกระทรวงการต่างประเทศ ขยับช้าเกินไปหรือไม่ เพราะกว่าที่กระทรวงการต่างประเทศจะตั้งโต๊ะชี้แจงข้อเท็จจริงให้ประชาชนรับทราบนั้น ก็ล่วงเลยไปจนถึงเวลา 14.30 น. ของวันที่ 8 เมษายน 

 

ผศ.ดร.ลลิตา หาญวงษ์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเมียนมา จากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวกับ THE STANDARD ว่า การแถลงข่าวเพื่อสร้างความเข้าใจให้กับสาธารณชนอาจดูล่าช้าไปสักนิด แต่กระทรวงการต่างประเทศมีแนวทางการทำงานของตัวเอง ประกอบกับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเมียนมาขณะนี้ กระทรวงการต่างประเทศอาจไม่สามารถตัดสินใจได้เพียงหน่วยงานเดียว จึงมีความจำเป็นต้องปรึกษาหน่วยงานด้านความมั่นคงอื่นๆ เช่น สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.), กองทัพ และหน่วยข่าวกรอง 

 

สอดคล้องกับความเห็นของ รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และนักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง ซึ่งมองว่า เรื่องการต่างประเทศจะต้องรวดเร็วก็จริง แต่ขณะเดียวกันก็ต้อง ‘รอบคอบและระมัดระวัง’ ด้วย เพราะประเด็นเมียนมามีความ ‘ละเอียดอ่อน’ อย่างมากต่อไทย

 

รู้จัก ‘Troika’ และ ‘Troika Plus’

 

เดิมทีกลไก ‘Troika’ ได้รับการจัดตั้งขึ้นผ่านมติในที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน 2023 ขณะที่อินโดนีเซียนั่งเก้าอี้ประธานอาเซียนขณะนั้น โดยกลไกนี้จะประกอบด้วย คณะทำงานของประธานอาเซียนหมุนเวียนกัน 3 ประเทศ ได้แก่ ประธานอาเซียนเมื่อปีที่แล้ว ประธานอาเซียนคนปัจจุบัน และประธานอาเซียนในปีถัดไป ซึ่งในขณะนี้คือ อินโดนีเซีย สปป.ลาว และมาเลเซีย เพื่อประชุมและหารือแนวทางรับมือวิกฤตในเมียนมา

 

ต่อมา นพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานกรรมาธิการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ได้เสนอให้รัฐบาลผลักดันการเจรจาสันติภาพในเมียนมาผ่านกลไก ‘Troika Plus’ ซึ่งเป็น 1 ใน 4 ข้อเสนอแนะของ กมธ.การต่างประเทศ โดยให้ไทยมีบทบาทนำในการเชิญประธานอาเซียน รวมถึงจีนและอินเดีย เข้ามาร่วมผลักดันสันติภาพในเมียนมาด้วย 

 

รศ.ดร.สมชาย เชื่อว่า Troika Plus ที่มีการดึงประเทศมหาอำนาจในเอเชียอย่างจีนและอินเดีย ซึ่งต่างก็มีพรมแดนประเทศติดกับเมียนมา เข้ามาร่วมผลักดันการเจรจาสันติภาพในเมียนมา จะยิ่งมีส่วนทำให้ปัญหาได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังมากยิ่งขึ้น เพราะวิกฤตเมียนมาในขณะนี้ส่งผลกระทบเกินขอบเขตของอาเซียนแล้ว

 

ด้าน ผศ.ดร.ลลิตา มองว่า ไทยเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตในเมียนมาแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ ไทยจึงต้องแสดงบทบาทนำในเรื่องนี้ ไม่ว่ากลไกที่ว่านี้จะชื่อว่าอะไร สิ่งที่สำคัญคือ นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลไทยต้องเล็งเห็นถึงความสำคัญ โดยสิ่งที่เกิดขึ้นจะต้องเป็น ‘การบูรณาการทุกภาคส่วน’ เพราะข้อจำกัดของรัฐไทยในเวลานี้คือ หน่วยงานด้านความมั่นคงทั้งหมด ‘ไม่ทำงานร่วมกัน’ หากขาดการสั่งการของนายกรัฐมนตรี โอกาสที่จะขับเคลื่อนกลไกใดๆ ก็เป็นไปได้ยาก เพราะไม่มีโครงสร้างทีมทำงานที่ชัดเจน

 

นอกจากนี้ ผศ.ดร.ลลิตา ยังเชื่อว่า วิกฤตผู้อพยพไหลทะลักเข้าไทยจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนหากการสู้รบยังดำเนินต่อไป และกลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์ยังคงตั้งธงที่จะโค่นล้มรัฐบาลทหารเมียนมาให้ได้ 

 

ขณะนี้หลายพื้นที่ทางตอนใต้ของเมียนมายังไม่ถูกกลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์ยึดครอง หนึ่งในนั้นคือ รัฐมอญ ซึ่งมีเขตพื้นที่ติดกับจังหวัดกาญจนบุรีของไทย หากพื้นที่แถบนี้กลายเป็นพื้นที่สู้รบจะยิ่งทำให้ผู้อพยพข้ามมายังฝั่งไทยมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลไทยต้องเตรียมพร้อมรับมือ

 

แฟ้มภาพ: AFP / Myawaddy TV / AFPTV

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising