×

Tris Rating หั่นอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ ANAN พร้อมประกาศเครดิตพินิจ ‘เป็นลบ’ เซ่นปมแอชตัน อโศก

03.08.2023
  • LOADING...

ทริสเรทติ้งลดอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิและไม่มีหลักประกันของอนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ หรือ ANAN เป็น BB+ จาก BBB- หุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้านทุนเป็น B+ จาก BB และประกาศเครดิตพินิจ Negative

 

ทริสเรทติ้ง (Tris Rating) ลดอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิและไม่มีหลักประกันของบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) มาอยู่ที่ระดับ BB+ จากระดับ BBB- และลดอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุน ไม่มีประกันและไถ่ถอนเมื่อเลิกกิจการ (Hybrid Debentures) ของบริษัทมาอยู่ที่ระดับ B+ จากระดับ BB 

 

ทั้งนี้ ในส่วนอันดับเครดิต Hybrid Debentures ของบริษัทนั้น ทริสเรทติ้งจัดให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าอันดับเครดิตองค์กรของบริษัท 3 ขั้น ซึ่งสะท้อนถึงสถานะด้อยสิทธิอย่างมากของตราสาร รวมถึงความเสี่ยงในการขอเลื่อนการชำระดอกเบี้ยที่เพิ่มมากขึ้นสำหรับ Hybrid Debentures ที่ออกโดยบริษัทที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตองค์กรในระดับ Non-Investment Grade 

 

ในขณะเดียวกันทริสเรทติ้งยังออกประกาศเครดิตพินิจแนวโน้ม ‘Negative’ หรือ ‘ลบ’ สำหรับอันดับเครดิตองค์กรและอันดับเครดิตหุ้นกู้ของบริษัทอีกด้วย 

 

การลดอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้รวมทั้งการประกาศเครดิตพินิจดังกล่าวนี้ สืบเนื่องมาจากคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2566 ซึ่งให้ใบอนุญาตการก่อสร้างของโครงการแอชตัน อโศก (Ashton Asoke) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

 

ในการนี้การลดอันดับเครดิตจึงสะท้อนถึงผลกระทบที่อาจเกิดจากคำพิพากษาของศาลฯ ที่จะมีต่อสถานะทางเครดิตของบริษัท โดยมีแนวโน้มที่สถานะทางการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทที่อ่อนแออยู่แล้วจะถดถอยลงไปอีก รวมถึงจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการกู้ยืมใหม่ (รีไฟแนนซ์) อีกด้วย

 

ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาก่อนหน้าของศาลปกครองกลาง โดยที่ดินที่เป็นทางเข้าของโครงการแอชตัน อโศก ซึ่งเป็นที่ดินของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) นั้นไม่อาจนำมาให้เอกชนใช้ในการพัฒนาโครงการได้ ดังนั้นใบอนุญาตการก่อสร้างที่ออกโดยหน่วยงานใดๆ ของรัฐนั้นจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากโครงการไม่มีสิทธิในทางเข้า-ออกอาคารของโครงการที่ถูกต้องตามกฎหมาย

 

ทริสเรทติ้งมองเห็นถึงแนวโน้มผลกระทบในด้านลบ จากคำพิพากษาดังกล่าวที่จะมีต่อชื่อเสียงและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่จะมีต่อโครงการที่พัฒนาโดยบริษัท โดยกรณีดังกล่าวอาจเพิ่มความยากลำบากต่อบริษัทในการขายและโอนโครงการที่แล้วเสร็จต่อไปในอนาคต 

 

นอกจากนี้การรับรู้ในเชิงลบของตลาดทุนก็อาจส่งผลต่อความสามารถในการออกหุ้นกู้ใหม่ของบริษัทด้วยเช่นกัน

 

ในปัจจุบันโครงการแอชตัน อโศก มีห้องชุดที่ยังขายไม่ได้มูลค่ารวมทั้งสิ้น 828 ล้านบาทจากมูลค่าโครงการทั้งสิ้นที่จำนวน 6.5 พันล้านบาท บริษัทถือหุ้น 51% ในโครงการแอชตัน อโศก ในขณะที่ SEA Investment 5 Pte. Ltd. (บริษัทลูกของ Mitsui Fudosan Co., Ltd.) ถือหุ้นในส่วนที่เหลือ ทริสเรทติ้งคาดว่า บริษัทอาจต้องบันทึกค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการขาดทุนจากสินค้าคงเหลือที่ประมาณ 300-400 ล้านบาทสำหรับงบการเงินในไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 

 

นอกจากนี้บริษัทอาจต้องจัดสรรงบประมาณจำนวนมาก เพื่อใช้แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าว โดยในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดนั้นบริษัทอาจต้องชดใช้ความเสียหายให้แก่ลูกบ้านหากปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข 

 

ในกรณีนี้ทริสเรทติ้งเชื่อว่า บริษัทจะฟ้องร้องต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากโครงการดังกล่าวต่อไป ซึ่งโดยปกตินั้นจะใช้เวลานานหลายปีกว่าที่จะมีข้อสรุป

 

ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2566 บริษัทมียอดภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระในอีก 18 เดือนข้างหน้าจำนวน 1.34 หมื่นล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยเงินกู้โครงการจำนวน 4.6 พันล้านบาท และหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิและไม่มีหลักประกันอีกจำนวน 7.8 พันล้านบาท นอกจากนี้บริษัทยังมีสิทธิที่จะไถ่ถอนหุ้นกู้ Hybrid Debentures ที่จำนวน 1 พันล้านบาทในช่วงเดือนมีนาคม 2567 อีกด้วย

 

บริษัทมีวงเงินกู้ที่ยังไม่ได้เบิกใช้และไม่สามารถยกเลิกได้จำนวนประมาณ 2.7 พันล้านบาท และเงินสดในมือจำนวน 4.8 พันล้านบาท นอกจากนี้บริษัทยังมีที่อยู่อาศัยที่สร้างแล้วเสร็จเหลือขายในโครงการที่ปลอดภาระหนี้ ซึ่งมีมูลค่าขายรวมทั้งสิ้นอีกประมาณ 2.1 พันล้านบาท โดยสามารถนำมาใช้เป็นหลักประกันสำหรับวงเงินกู้ใหม่ได้หากมีความจำเป็น อีกทั้งบริษัทยังมีแผนการจะขายเงินลงทุน ซึ่งคาดว่าจะได้รับเงินสดสุทธิเข้ามาที่ประมาณ 3 พันล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่บริษัทอีกด้วย

 

ทริสเรทติ้งจะทบทวนเครดิตพินิจของบริษัทอีกครั้งเมื่อปัญหาดังกล่าวได้รับการแก้ไข และทริสเรทติ้งได้ประเมินอย่างถี่ถ้วนเกี่ยวกับผลกระทบที่จะมีต่อสถานะเครดิตของบริษัทแล้ว ในระหว่างนี้ทริสเรทติ้งจะคอยติดตามพัฒนาการเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวอย่างใกล้ชิด และจะพิจารณาดำเนินการทบทวนอันดับเครดิตที่เหมาะสมต่อไป

 

สำหรับรายละเอียดอันดับเครดิตองค์กรและอันดับเครดิตตราสารหนี้ มีดังนี้ 

 

  1. อันดับเครดิตองค์กร: BB+

 

  1. อันดับเครดิตตราสารหนี้: 

– ANAN23OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 746.6 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 BB+

– ANAN241A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,412.8 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 BB+

– ANAN241B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,188.3 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 BB+

– ANAN241C: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,224.2 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 BB+

– ANAN247A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,231.2 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 BB+

– ANAN251A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,811.7 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 BB+

– ANAN251B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,176.6 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 BB+

– ANAN256A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,275.8 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 BB+

– ANAN261A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,823.4 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2569 BB+

– ANAN19PA: หุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุน 1,000 ล้านบาท (Hybrid Debentures) B+

– ANAN20PA: หุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุน 1,000 ล้านบาท (Hybrid Debentures) B+

– ANAN21PA: หุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุน 1,000 ล้านบาท (Hybrid Debentures) B+

 

  1. แนวโน้มเครดิตพินิจ: Negative

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X