×

เบน แอฟเฟล็ก, ชาร์ลี ฮันแนม, การ์เรตต์ เฮดลันด์ กับสภาวะวิกฤตทางจิตใจที่อดีตฮีโร่ต้องเผชิญในภาพยนตร์ Triple Frontier

13.03.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • Triple Frontier คือผลงานออริจินัลคอนเทนต์เรื่องล่าสุดของ Netflix ที่ว่าด้วยเรื่องอดีตนายทหารหน่วย Special Force ที่กลับมารวมตัวปฏิบัติภารกิจสุดระห่ำร่วมกันอีกครั้ง หลังปลดระวางจากหน้าที่มาเป็นเวลานาน
  • สาเหตุสำคัญในการกลับมาปฏิบัติภารกิจของพวกเขาคือ ภาวะ Post-Traumatic Stress Disorder (PTSD) ที่ส่งผลให้เขาไม่อาจปรับตัวมาใช้ชีวิตประจำวันแบบคนปกติทั่วไปได้
  • แสดงนำโดย 5 นักแสดงระดับแนวหน้าของฮอลลีวูดอย่าง เบน แอฟเฟล็ก, ออสการ์ ไอแซก, ชาร์ลีย์ ฮันแนม, การ์เรตต์ เฮดลันด์ และ เปโดร ปาสคาล

ก่อนที่จะไปรับชมความบันเทิงเต็มรูปแบบจาก Triple Frontier ออริจินัลคอนเทนต์ของ Netflix ที่เพิ่งปล่อยสตรีมมิงไปสดๆ ร้อนๆ THE STANDARD มีโอกาสบินไปร่วมงานแถลงข่าวเปิดตัวภาพยนตร์เรื่องนี้ที่ประเทศสิงคโปร์ พร้อมพูดคุยกับ 3 นักแสดงนำ เบน แอฟเฟล็ก, ชาร์ลีย์ ฮันแนม, การ์เรต เฮดลันด์ และถอดประเด็นสำคัญที่สอดแทรกเอาไว้ผ่านฉากแอ็กชันระทึกใจไว้อย่างแนบเนียน มาเป็นการอุ่นเครื่องก่อนภารกิจสุดระห่ำจะเริ่มต้น

 

 

สิ่งที่ทำให้ประทับใจคือ ความเป็นมืออาชีพของนักแสดงนำทั้ง 3 คน ที่เราเพิ่งมาทราบทีหลังว่า พวกเขาเพิ่งผ่านการบินรอบโลก เพื่อไปงานเปิดตัวตามทวีปต่างๆ ติดกันเป็นเวลาหลายวัน ก่อนมาที่สิงคโปร์ เขาก็เพิ่งใช้เวลาเกือบ 14 ชั่วโมง บินมาจากกรุงมาดริด ประเทศสเปน มาถึงก่อนเวลาเริ่มงานเพียงแค่ 2 ชั่วโมง แต่ทันทีที่ก้าวบนพรมแดง พวกเขาก็ทิ้งความอ่อนล้าไว้เบื้องหลัง และเริ่มทักทาย ถ่ายรูปกับแฟนคลับที่มารอพบอย่างเป็นกันเอง

 

โดยเฉพาะ ชาร์ลี ฮันแนม ที่ออกมาเดินพรมแดงช้า ทำให้เขามีเวลาทักทายแฟนๆ น้อยกว่าเพื่อน แต่ทันทีที่จบงานแถลงข่าวบนเวที สิ่งที่แรกที่เขาทำคือ รีบวิ่งกลับไปหาแฟนคลับกลุ่มแรก เพื่อชดเชยเวลาที่เสียไป โดยไม่มีใครต้องเอ่ยปากร้องขอ

 

 

Triple Frontier คือภาพยนตร์หลากนิยามที่ผสมผสานระหว่างแนว Action-Thriller-Drama-Heist ไว้ด้วยกัน ว่าด้วยเรื่องของอดีตสมาชิกทีม Special Force ที่กลับมารวมตัวกันอีกครั้งหลังจบสงคราม เพื่อทำภารกิจ ‘ปล้น’ ครั้งใหญ่ที่จะเปลี่ยนชีวิตพวกเขาไปตลอดกาล

 

และยังเป็นผลงานที่รวบรวม 5 นักแสดงนำชายระดับแนวหน้าของฮอลลีวูด ทั้ง เบน แอฟเฟล็ก (Batman V Superman), ออสการ์ ไอแซก (Inside Llewyn Davis), ชาร์ลี ฮันแนม (Pacific Rim), การ์เรตต์ เฮดลันด์ (Tron: Legacy) และ เปโดร ปาสคาล (ซีรีส์ Narcos และ Game of Thrones) ที่ถึงขนาดเอ่ยปากในคลิปเบื้องหลังการถ่ายทำว่า เขารู้สึกเหมือนอยู่ในวง ‘บอยแบนด์’ ทุกครั้งที่เข้าฉากถ่ายทำร่วมกัน

 

เช่นเดียวกับที่ ชาร์ลส์ โรเวน โปรดิวเซอร์ใหญ่ ผายมือไปที่นักแสดงทุกคน แทนการตอบคำถามเรื่อง ความพิเศษของ Triple Frontier “ตัวละครทั้งห้าต้องปฏิบัติภารกิจเสี่ยงตายร่วมกัน เพราะฉะนั้นทีมเวิร์กคือเรื่องสำคัญที่สุด ไม่ใช่แค่ในจอ แต่พวกเขายังเป็นเพื่อนที่รู้จักกันมานาน พวกเขาจะรู้ใจและเข้าขากันมากขนาดไหน ลองดูหนังเรื่องนี้สิ แล้วคุณจะรู้

 

“การแคสติ้งตัวละครเรื่องนี้พิเศษมาก เขาไม่ได้มองแค่ความเหมาะสมหรือรูปลักษณ์ภายนอก แต่คิดไปถึงตัวตนและความสัมพันธ์ของพวกเราจริงๆ อย่างผมกับการ์เรตต์ก็เป็นเพื่อนสนิทกันมา 15 ปี จะมีใครที่เหมาะกับบทพี่น้อง 2 คนในเรื่องเท่ากับพวกเราล่ะ” ชาร์ลี ฮันแนม ที่รับบทเป็น วิลเลียม มิลเลอร์ หนึ่งในสมาชิกทีม Triple Frontier ตอบคำถามด้วยความมั่นใจว่าไม่มีใครเหมาะสมกับบทบาทนี้เท่ากับพวกเขาอีกแล้ว

 

 

การ์เรตต์ เฮดลันด์ เสริมว่า ไม่ใช่แค่พวกเขา แต่นักแสดงคนอื่นๆ ต่างก็รู้จักและสนิทสนมกันอยู่แล้ว “อย่าง ออสการ์ ไอแซ็ก ผมก็รู้จักกับเขามา 10 ปี เล่นหนังด้วยกันมา 3 เรื่อง ทุกคนมีส่วนเกี่ยวโยงกันหมด ซึ่งนอกจากฝีมือทางการแสดงแล้ว ความสนิทสนมกันเป็นเรื่องสำคัญที่ช่วยให้การถ่ายทำราบรื่นได้จริงๆ นะ เวลาเราเป็นเพื่อนกันจริงๆ แล้วมารับบทที่เป็นเพื่อนกัน ทุกอย่างในกองถ่ายมันจะดูถูกต้อง ลงตัวไปหมดเลย”

 

กระทั่ง เบน แอฟเฟล็ก ในฐานะพี่ใหญ่และหัวหน้าทีมปฏิบัติการที่ดูเคร่งขรึมตลอดการสัมภาษณ์ ก็ยังตอบประเด็นนี้แบบติดตลกว่า “ก่อนถ่ายทำพวกเราต้องเข้าไปฝึกกันจริงๆ กับทหารหน่วย SEAL และ Delta Force แน่นอนว่าด้วยเวลาจำกัดและการฝึกโหด ทำให้เราไม่สามารถทำทุกอย่างแบบที่ทหารทำกันจริงๆ ได้ทั้งหมด

 

“และที่สำคัญ ในกองถ่ายก็มีสตันท์แมนยืนรอเข้าฉากแทนพวกเราอยู่นะ แต่ผู้กำกับดันมีไอเดียว่า อยากให้พวกเราแสดงตัวด้วยตัวเองให้ได้มากที่สุดก่อน เพราะฉะนั้นมองไปทางไหนก็จะเห็นแต่พวกเรานี่แหละ (หัวเราะ) ความสนิทสนมเข้าขากันจริงๆ เลยเป็นเรื่องสำคัญ”

 

 

แต่นอกจากความเข้มข้นของเนื้อเรื่อง ฉากแอ็กชันสุดมัน และเสน่ห์อันล้นเหลือของนักแสดงนำทั้ง 5 คน ความน่าสนใจของ Triple Frontier คือการหยิบเอาภาวะ Post-Traumatic Stress Disorder (PTSD) หรือภาวะป่วยทางจิตหลังเกิดเหตุสะเทือนขวัญ มาเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมด

 

ภาวะ PTSD คืออาการวิตกกังวลที่ส่งผลต่อการดำรงชีวิตประจำวัน ของผู้ที่เคยผ่านเหตุการณ์รุนแรงที่ทำให้เกิดความเจ็บปวดและหวาดกลัว เช่น ถูกล่วงละเมิดทางเพศ, อุบัติเหตุร้ายแรง, ประสบภัยพิบัติ ฯลฯ ยกตัวอย่างเคสใกล้เคียงที่สุดคือ กรณี ‘ถ้ำหลวง’ ที่ถึงแม้เหตุการณ์จะผ่านไปแล้ว แต่ความทรงจำขณะอยู่ในถ้ำจะยังคงติดตามสมาชิกทีมหมูป่าอะคาเดมีต่อไปอีกนาน หากไม่ได้รับการรักษาหรือเยียวยาอย่างถูกวิธี

 

ส่วนภาวะใน Triple Frontier นั้นเกิดจากการผ่านสมรภูมิรบอันแสนโหดร้ายของสมาชิกหน่วย Special Force ทั้ง 5 คน ที่เป็น ‘ฮีโร่’ ในสงคราม หากแต่เมื่อหมดสิ้นภารกิจ พวกเขาก็กลับมาเป็นบุคคลที่แสน ‘ว่างเปล่า’ และไม่อาจปรับตัวไปสู่วิถีชีวิตอันแสนสงบของคนปกติได้ พวกเขาจึงตัดสินใจรวมตัวกันเพื่อออก ‘ปล้น’ ครั้งใหญ่ และตามหา ‘ความหมาย’ บางอย่างในชีวิตที่หายไปกลับคืนมา

 

 

“สิ่งที่น่าสนใจมากกว่าคำถามที่ว่า พวกเขาปล้นอย่างไร คือคำถามที่ว่า ทำไมพวกเขาถึงต้องออกปล้น มันไม่ใช่แค่ความโลภอย่างเดียวเท่านั้น แต่มันเกิดจากความกดดัน ความว่างเปล่า ความโหยหาบางสิ่งบางอย่างที่หายไป

 

“มันเป็นเรื่องยากเหมือนกันที่คนธรรมดาจะเข้าใจ แต่สำหรับทหารที่ออกปฏิบัติภารกิจมาอย่างยาวนาน เคยได้รับมอบหมายให้ทำภารกิจต่างๆ มีเพื่อนพ้องที่อยู่เคียงข้าง มีคนยอมรับ ได้รับเกียรติยศ ชื่อเสียง แต่อยู่มาวันหนึ่ง สิ่งเหล่านั้นก็หายไป” เบน แอฟเฟล็ก เริ่มพูดถึงจุดสำคัญที่ทำให้ Triple Frontier แตกต่างจากภาพยนตร์เรื่องอื่น

 

ชาร์ลี ฮันแนม เองก็คิดตรงกันว่า ภาวะ PSTD เป็นเรื่องสำคัญที่หลายคนควรทำความเข้าใจ “ลองคิดถึงภาพวันที่ทักษะ ความเชี่ยวชาญหนึ่งเดียวที่คุณทำมันได้ดีมาตลอด แต่แล้ววันหนึ่งสิ่งเหล่านั้นก็ไม่มีความจำเป็นในการใช้ชีวิตอีกต่อไป เหมือนกับที่สมาชิกทั้ง 5 คน พบว่า เขาสูญเสียเป้าหมายในการมีชีวิตทั้งหมดไป เงินเลยดูเหมือนเป็นสิ่งที่น่าจะมีความหมายกับพวกเขามากที่สุดในตอนนี้”

 

“เงินเป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะสิ่งที่สำคัญกว่าคือ พวกเขาได้ค้นพบสิ่งที่หายไประหว่างทางที่ออกไปปฏิบัติภารกิจ การได้ออกไปปฏิบัติภารกิจเสี่ยงตายร่วมกับเพื่อนๆ การได้ใช้ความสามารถที่มีอยู่ การมีเป้าหมายให้พิชิต รวมทั้งทางแยกในการตัดสินใจที่พวกเขาต้องเลือกระหว่างการทำเพื่อตัวเองต่อไป หรือกลับมาทำเพื่อใครอีกครั้ง” การ์เรตต์ เฮดลันด์ ย้ำถึงจุดเปลี่ยนสำคัญใน Triple Frontier ที่เริ่มจากจุดเล็กๆ และขยายขอบเขตออกไปเรื่อยๆ

 

นอกจากความสำคัญของสภาวะ PSTD ที่นักแสดงนำทั้ง 3 คน ให้ความสำคัญ อีกสิ่งหนึ่งที่เรารู้สึกว่า Triple Frontier สอดแทรกเอาไว้ภายใต้ห่ากระสุนและเสียงระเบิดคือ ภาวะวิกฤตวัยกลางคน (Midlife Crisis) ได้อย่างแนบเนียนและน่าสนใจ

 

 

วิกฤตวัยกลางคนคือ ภาวะกลับมาคิดทบทวนตัวเองอย่างหนัก ถึงคุณค่าชีวิตในช่วงที่ผ่านมา ส่วนมากจะเกิดขึ้นกับคนที่มีอายุ 35-45 ปี เพราะเป็นช่วงเวลาที่ได้ใช้ชีวิตมาพอสมควร แต่รู้สึกว่าตัวเองยังไม่สามารถทำอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอันได้เท่าไรนัก เกิดการเปรียบเทียบตัวเองกับคนที่ประสบความสำเร็จมากกว่า จนกลายเป็นภาวะว่างเปล่า สับสน ว่าอะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดระหว่างความฝัน ความสุข ความมั่นคง ความรัก ครอบครัว ฯลฯ และควรจะทำอย่างไรต่อไปกับชีวิตที่มีเวลาเหลือน้อยลงทุกขณะ

 

บางคนอาจค้นพบสิ่งที่ต้องการจริงๆ และลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเอง หรือทำอะไรบางอย่างในช่วงเวลาแห่งวิกฤตที่เกิดขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน บางคนก็อาจถูกภาวะดังกล่าวกดทับให้ความรู้สึกจมดิ่งลงไป เพราะปัจจัยรอบข้างไม่เอื้ออำนวยให้สามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งใดได้จริงๆ

 

ถึงแม้ว่าในประเด็นนี้ เบน แอฟเฟล็ก จะไม่ได้ตอบคำถามด้วยช่วงเวลา ‘วัยกลางคน’ ของเขาที่เคยพบกับปัญหาใกล้เคียงกันนี้โดยตรง แต่เขาก็ได้ยกตัวอย่างที่เกิดขึ้นจากสิ่งที่ตัวละครทั้งห้าใน Triple Frontier มาแสดงให้เห็นถึงทางออกของวิกฤตนี้ได้อย่างน่าสนใจ

 

 

“สิ่งที่หนังเรื่องนี้พยายามนำเสนอคือ ทำให้คนเข้าใจว่าสิ่งที่ทหารออกไปปฏิบัติภารกิจต้องพบเจอคืออะไร ความยากที่สุดของเขาไม่ใช่แค่ระหว่างออกไปรบ แต่เป็นช่วงเวลาหลังจบสงครามที่ไม่มีใครเหลียวแลเขาอีกต่อไป มันยุติธรรมหรือไม่ ที่เรายกย่องพวกเขาเฉพาะในช่วงเวลาที่มีปัญหา แต่เมื่อเหตุการณ์นั้นจบ ทุกคนก็ลืมมันไป แล้วปล่อยให้คนที่เคยเสี่ยงชีวิตเหล่านั้นกลับไปใช้ชีวิตอย่างสงบสุข แน่ล่ะ ว่าหลายคนต้องการสิ่งเหล่านั้น แต่ในมุมหนึ่งก็ควรทำความเข้าใจเหมือนกันว่า บางครั้งความเงียบเหงามันก็น่ากลัว

 

“สิ่งที่ผมอยากเห็นจริงๆ ก็คือการให้ความเคารพซึ่งกันและกันในทุกๆ เรื่อง และทุกๆ คน ไม่ใช่แค่เฉพาะกับทหารปลดประจำการที่เห็นในเรื่องนะ นั่นเป็นแค่ส่วนหนึ่งที่ช่วยสะท้อนให้เห็นปัญหาส่วนอื่นๆ ชัดขึ้น เพราะหลายครั้งที่ปัญหาความเครียด ความกดดันที่เพิ่มสูงขึ้นของคนในสังคม ก็มาจากการถูกลืม ถูกลดความสำคัญ ไม่ได้รับการยอมรับ หรือความเคารพเท่าที่ควร แต่ทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับว่า คนคนนั้นทำตัวคู่ควรกับความเคารพด้วยหรือเปล่านะ”

 

 

ความน่าสนใจอีกหนึ่งอย่างในกระบวนการสร้าง Triple Frontier คือจริงๆ แล้วภาพยนตร์เรื่องนี้เริ่มต้นโปรเจกต์ตั้งแต่ปี 2010 โดยมี Paramount Picture เป็นผู้ดูแลการสร้าง แต่เกิดปัญหาทั้งเรื่องการแคสติ้งนักแสดง ตัวผู้กำกับ คิวการถ่ายทำ ฯลฯ จนการถ่ายทำไม่คืบหน้า กระทั่งทีมของ Netflix เข้ามาสานต่อในปี 2017 จนภาพยนตร์เริ่มถ่ายทำได้ช่วงต้นปี 2018

 

ทำให้นอกจากจะเป็นแพลตฟอร์มสตรีมมิงขนาดใหญ่ที่เป็นผู้อำนวยการสร้างออริจินัลคอนเทนต์ใหม่ๆ ออกมาเป็นจำนวนมากในระยะหลัง Netflix ยังทำหน้าที่สานต่อโปรเจกต์ที่น่าสนใจ แต่ประสบปัญหาให้สามารถดำเนินการจนสำเร็จได้ในที่สุด ซึ่งจุดนี้นับว่าเป็นแต้มต่อสำคัญ ในปัญหาที่หลายคนกำลังพูดถึง ว่าแท้จริงแล้ว การมีอยู่ของ Netflix นั้นกำลังกัดกร่อนหรือสร้างคุณประโยชน์ให้กับวงการภาพยนตร์ได้เป็นอย่างดี

 

รวมทั้งข้อดีเล็กๆ ที่นักแสดงนำอย่าง การ์เรตต์ เฮดลันด์ เทหัวใจให้กับ Netflix อย่างเต็มที่ คือ “ผมชอบการดูคอนเทนต์ต่างๆ ใน Netflix มากเลยนะ นอกจากจะมีให้เลือกเป็นจำนวนมากแล้ว เรายังดูซ้ำ กดเพลย์ กดย้อนกลับกี่ครั้งก็ไม่ได้ไม่จำกัด เช่นเดียวกับที่ผมหวังว่าพวกคุณจะทำแบบนั้นกับ Triple Frontier ด้วยเหมือนกัน (หัวเราะ)”

 

ตัวอย่างภาพยนตร์ Triple Frontier

 

Photo: Courtesy of Netflix

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์, ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

FYI
  • Triple Frontier กำกับโดย เจ.ซี. แชนดอร์ ที่เคยฝากผลงานอย่าง Margin Call และ All Is Lost และได้โปรดิวเซอร์สายดาร์กอย่าง ชาร์ลส์ โรเวน เจ้าของผลงาน Suicide Squad, Man of Steel, Batman V Superman: Dawn of Justice มารับหน้าที่ดูแลงานสร้างทั้งหมด
  • ก่อนที่จะได้นักแสดงนำทั้ง 5 คน เคยมีชื่อของนักแสดงชื่อดังอย่าง ทอม แฮงส์, จอห์นนี เดปป์, วิลล์ สมิธ, แชนนิง เททัม, ทอม ฮาร์ดี้ และ มาเชอร์ฮาลา อาลี เป็นหนึ่งในตัวเลือกของ Triple Frontier มาก่อน
  • สามารถรับชม Triple Frontier ได้ทาง Netflix ตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม 2019
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising