วันนี้ (2 มิถุนายน) ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ อภิปรายชี้แจงข้อซักถามของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เกี่ยวกับกระทรวงศึกษาธิการว่า ปัจจุบันประเทศไทยใช้พระราชบัญญัติการศึกษา ปี 2542 ซึ่งจากสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ได้มีการปฏิรูปพระราชบัญญัติการศึกษาไทยตามกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเกิดขึ้น โดยกระทรวงศึกษาธิการได้จัดตั้งคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีวัตถุประสงค์ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาวงการการศึกษาของประเทศ โดยต้องอาศัยความร่วมมือกับภาคเอกชน
ได้มีการทำประชาพิจารณ์ตามขั้นตอนของกฎหมายรัฐธรรมนูญ และได้ประเด็นการแก้ไข 3 ประเด็น ให้กฤษฎีกาดังนี้
- การกำหนดวิชาชีพครู
- แก้ไขใบรับรองความเป็นครู
- การแก้ไขผู้บริหารการศึกษา
สำหรับขั้นตอนต่อไปจะนำเข้าสู่รัฐสภาเพื่อปรับปรุงหลักสูตรและจัดตั้งคณะกรรมการภายในเดือนพฤษภาคม 2565
ส่วนประเด็นสถานการณ์โควิด-19 ตรีนุชกล่าวว่า ทางกระทรวงศึกษาธิการไม่ได้นิ่งนอนใจกับสถานการณ์วิกฤตครั้งนี้ ได้มีการจัดเตรียมและออกแบบการเรียนรู้ให้กับนักเรียนในรูปแบบต่างๆ ซึ่งจะสามารถพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนของประเทศ เพื่อรองรับเหตุวิกฤตที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ และยอมรับว่าการเรียนที่ดีคือการเรียนภายในห้องเรียน หรือ On Site แต่สถานการณ์เช่นนี้จึงได้มอบหมายให้ผู้อำนวยการศูนย์แต่ละเขตพื้นที่การศึกษาจัดการเรียนการสอนมากกว่า 1 รูปแบบ คือ การเรียนผ่านทางไกล และการเรียนผ่านการออนแอร์ทางโทรทัศน์ผ่าน DLTV
“การที่มีการออกแบบรูปแบบการเรียนรู้ที่หลากหลาย 5 รูปแบบ เพื่อให้สามารถที่จะช่วยให้บุตรหลานไม่ได้หยุดกระบวนการเรียนรู้ เพื่อรองรับสถานการณ์ ในการจัดรูปแบบได้มอบหมายให้เขตพื้นที่การศึกษา ผู้อำนวยการโรงเรียน จัดรูปแบบให้เหมาะสม โดยคำนึงถึงความปลอดภัยมาอันดับแรก ขณะที่บางโรงเรียนที่สามารถมีเครื่องมือต่างๆ ก็สามารถเรียนออนไลน์ผ่านอินเทอร์เน็ตได้ หรือหากไม่มีคอมพิวเตอร์ ก็เชื่อว่าสามารถเรียนผ่านระบบออนแอร์ได้แน่นอน เพราะทุกบ้านน่าจะมีทีวีแน่นอน”
ส่วนประเด็นการจัดสรรงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการตามร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ที่มีตัวเลขกระทรวงศึกษาธิการถูกตัดลดงบประมาณถึง 2.45 หมื่นล้านบาท หรือลดลง 6.75% ว่า งบประมาณที่ถูกตัดเป็นส่วนของบุคลากรทางการศึกษาและงบอุดหนุนรายหัวของเด็กนักเรียน ที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากอัตราการเกิดที่ลดลง ทำให้ต้องถูกปรับลดงบประมาณตามไปด้วย แต่ยืนยันว่าทางกระทรวงศึกษาธิการจะยังเน้นเรื่องคุณภาพการศึกษาเป็นสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องการพัฒนาครูและการเรียนทางออนไลน์
“ขอให้มั่นใจว่าเรามีรูปแบบการเรียนรู้หลายรูปแบบ เชื่อว่าสามารถจัดการเรียนการสอนได้แม้อยู่ในสถานการณ์โควิด-19 กระทรวงได้ตระหนักถึงการเรียนการสอนในเรื่องดิจิทัล เพื่อสามารถจัดการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพ ขอให้มั่นใจว่าการเปิดเทอมได้มีมาตรการให้สถานที่มีความปลอดภัย เรามีวอร์รูมกลางของกระทรวงดูแล” ตรีนุชกล่าวในที่สุด
พิสูจน์อักษร: นัฐฐา สอนกลิ่น