สถานการณ์ราคาทองคำเดือนมกราคมที่ผ่านมาค่อนข้างผันผวนลักษณะขาลง โดยราคาปรับตัวลงไปแตะนิวโลว์ของเดือนที่ระดับ 1,780 ดอลลาร์ต่อออนซ์ จากที่เคยขยับขึ้นไปแตะที่ระดับ 1,850 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ในวันที่ 25 มกราคม 2565
นิวโลว์ของเดือนมกราคมเกิดจากแรงกดดันสกุลเงินดอลลาร์แข็งค่ามากสุดในรอบ 18 เดือนกว่าๆ หลังจาก Fed ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมีนาคม รวมถึงมีความเป็นไปได้ที่ Fed อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่า 0.25%
ขณะที่ทางด้านกองทุน SPDR Gold Trust เข้าซื้อทองคำสุทธิ 5.81 ตัน จากสัปดาห์ก่อน ส่วนทั้งเดือนมกราคมเข้าซื้อ 38 ตัน
YLG จับตา ‘Fed Action’ จริง มีนาคมนี้
วรุต รุ่งขำ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด กล่าวว่า ทิศทางราคาทองคำในไตรมาส 1 ปีนี้ จะขึ้นอยู่กับการดำเนินนโยบายทางการเงินของ Fed เป็นหลัก โดยทองคำเริ่มมีสัญญาณผันผวนตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว ที่มีการประชุม Fed และผลประชุมได้ส่งสัญญาณว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมีนาคมนี้
โดยนักลงทุนสถาบันขนาดใหญ่หลายรายได้คาดการณ์ว่าเดือนมีนาคมนี้ Fed จะประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอัตราที่มากกว่า 0.25% และจากนั้นจะทำการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากถึง 5-7 ครั้ง และจะเร่งการลดงบดุลให้เร็วขึ้นเป็นไตรมาส 2 ปีนี้ ซึ่งล้วนเป็นการดำเนินนโยบายถอนสภาพคล่องที่เร็วและแรงกว่าที่ตลาดเคยคาดการณ์ไว้
“แม้จะมีความชัดเจนว่า Fed จะดำเนินการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือนมีนาคมปีนี้ แต่ก็มีสิ่งที่ต้องติดตามต่อคือ Fed จะปรับขึ้นในอัตราเท่าใด และความถี่ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตลอดทั้งปีจะเป็นกี่ครั้ง ความคลุมเครือเหล่านี้กดดันราคาทองคำให้ปรับลดลง เพราะนักลงทุนต้องการลดความเสี่ยงไว้ก่อน” วรุตกล่าว
ทั้งนี้ มีสถิติที่น่าสนใจคือ 6 เดือนก่อน Fed ขึ้นอัตราดอกเบี้ย ราคาทองคำจะปรับลดลง และ 6 เดือนหลังจาก Fed ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ราคาทองคำจะปรับเพิ่มขึ้นและมีโอกาสที่จะปรับขึ้นมากกว่าสัดส่วนที่ปรับลดลงมา
รับปีนี้ราคาทองคำอาจ ‘ฉีกสถิติ’
อย่างไรก็ตาม สถิติดังกล่าวอาจไม่เกิดขึ้นในปีนี้ เนื่องจากเงินเฟ้อสหรัฐฯ ยังเพิ่มขึ้นและทรงตัวอยู่ในระดับสูง ทำให้มีการคาดการณ์กันว่า Fed จะใช้นโยบายการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างเร็วและแรง รวมถึงเร่งดำเนินการลดงบดุลด้วย ซึ่งจะกดดันราคาทองคำอย่างต่อเนื่อง
สำหรับปัจจัยที่สนับสนุนราคาทองคำในปีนี้คือความขัดแย้งระหว่างประเทศ เช่น รัสเซียและยูเครน โดยยิ่งความตึงเครียดมากขึ้น ราคาทองคำก็จะเร่งตัวขึ้นเร็ว และปัจจัยเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ซึ่งยังต้องติดตามว่าจะตึงเครียดเพิ่มขึ้นหรือไม่ รวมถึงปัจจัยเรื่องราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นและมีโอกาสที่จะแตะ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในปีนี้ ซึ่งจะทำให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นจนกระทบการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลให้ทองคำได้รับความสนใจอย่างมากอีกครั้งในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย
มองราคาสูงสุดปีนี้ 1,958 ดอลลาร์ต่อออนซ์
โดยทิศทางราคาทั้งปี 2565 มองแนวต้านที่ระดับ 1,958 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสแรกที่ยังมีแรงกดดันอยู่มาก ประเมินกรอบความเคลื่อนไหวราคาทองคำที่ 1,778-1,780 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และแนวรับถัดมาอยู่ที่ 1,753 ดอลลาร์ต่อออนซ์
กลยุทธ์การลงทุนทองคำในไตรมาส 1 คือทยอยขายเพื่อนำเงินสดมาเข้าทยอยสะสมเมื่อราคาย่อตัว
ณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.โกลเบล็ก กล่าวว่า ในช่วงไตรมาส 1 ปีนี้ มองว่าตลาดทองคำอาจจะซบเซาเล็กน้อยและเป็นจังหวะที่ลงทุนได้ยาก เพราะราคาอาจจะไม่ผันผวนมากนัก โดยมองกรอบการแกว่งตัวในไตรมาสนี้ที่ 1,750-1,850 ดอลลาร์ต่อออนซ์
โกลเบล็กมองกรอบ ‘26,650-29,600’ บาทต่อบาททองคำ
ขณะที่กรอบราคาปีนี้ประเมินไว้ที่ 1,700-1,870 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือคิดเป็นเงินบาทจะอยู่ที่ 26,650-29,600 บาทต่อบาททองคำ โดยตลอดทั้งปีนี้ราคาทองคำจะได้รับแรงกดดันจากการดำเนินนโยบายของ Fed เป็นหลัก ซึ่งหาก Fed ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอัตราและจำนวนครั้งที่เป็นไปตามคาด คือ 4 ครั้ง ในอัตรา 0.25% ทองคำก็จะปรับตัวเพิ่มขึ้นตามกรอบที่คาดไว้ แต่หาก Fed ขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอัตราและจำนวนครั้งที่มากกว่าตลาดคาดการณ์ ราคาทองคำก็จะปรับลดลงต่อเนื่องอีกครั้ง
ชี้ขาลงไม่แรง เหตุ SPDR รอช้อน
อย่างไรก็ตาม แม้จะเผชิญแรงกดดันอย่างหนักแต่เชื่อว่าราคาทองคำจะไม่ทรุดลงหนักมาก เนื่องจากมีแรงซื้อคอยเข้ารับสะสมอยู่ เช่น กองทุน SPDR ซึ่งเดือนมกราคมมีการเข้าซื้อสุทธิราว 38 ตัน
“แม้จะมองว่าทองคำเป็นเทรนด์ขาลงในช่วงนี้หรืออาจจะตลอดทั้งปี แต่ก็จะไม่ลดลงมากเพราะมีแรงซื้อของกองทุน SPDR รออยู่ โดยเท่าที่ดูสถิติพบว่า เมื่อราคาทองคำเป็นขาขึ้น กองทุน SPDR มักจะเข้าซื้อประมาณ 20-40 ตันต่อเดือน และเมื่อราคาทองคำเป็นขาลง กองทุน SPDR จะมีการขายประมาณ 10 ตันต่อเดือน”
ฮั่วเซ่งเฮงแนะเกาะติดแบงก์ชาติยุโรป
บทวิเคราะห์ บริษัท ฮั่วเซ่งเฮง โกลด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด ระบุว่า ปัจจัยที่ต้องติดตามสัปดาห์นี้ประกอบด้วย ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ ได้แก่ การจ้างงานภาคเอกชนทั่วประเทศเดือนมกราคมของ ADP ในคืนวันพุธ และการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนมกราคมในคืนวันศุกร์ รวมถึงการประชุมและการแถลงของธนาคารกลางยุโรป
อย่างไรก็ตาม สัปดาห์นี้ตลาดการเงินจีนปิดทำการ เนื่องจากเป็นวันหยุดยาวในช่วงเทศกาลตรุษจีน ทำให้ปริมาณการซื้อขายทองคำเบาบางลง ส่งผลให้ราคาทองคำระยะสั้นอาจเคลื่อนไหว Sideways
โดยราคาทองคำมีแนวรับ 1,780 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และแนวรับถัดไปที่ 1,770 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ขณะที่มีแนวต้าน 1,810 และ 1,820 ดอลลาร์ต่อออนซ์
ส่วนสัญญาณทางเทคนิคของราคาทองคำมีทิศทางไม่ค่อยสดใสหลังจากหลุดแนวรับสำคัญที่ 1,800 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นแนวรับค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 200 วัน ทำให้คาดว่าราคาทองคำ Spot มีทิศทางเป็นขาลง