×

‘คลัง’ ชี้เศรษฐกิจไทยต่ำกว่าศักยภาพ 9% คาดใช้เวลา 2 ปีฟื้นตัว เร่ง ธปท. ออกมาตรการระยะสั้นเพิ่ม

23.11.2020
  • LOADING...
‘คลัง’ ชี้เศรษฐกิจไทยต่ำกว่าศักยภาพ 9% คาดใช้เวลา 2 ปีฟื้นตัว เร่ง ธปท. ออกมาตรการระยะสั้นเพิ่ม

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่าเศรษฐกิจไทยปี 2563 ยังฟื้นตัวอย่างช้าๆ โดยประมาณการว่า GDP ปีนี้ยังจะติดลบราว 6% และต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี เศรษฐกิจไทยจึงจะฟื้นสู่ระดับก่อนโควิด-19 ขณะที่ตามปกติแล้วเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ระดับ 3% ดังนั้นจะเห็นว่ามีช่องว่างระหว่างระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดข้ึนจริงกับระดับศักยภาพ (Output Gap) ราว 9% จึงจะทำให้เศรษฐกิจกลับสู่ระดับปกติในปี 2564-2565

 

ทั้งนี้ปัจจุบันไทยอยู่ในฐานะติดลบ โดยกำลังซื้อหลักยังมาจากภาครัฐเป็นหลัก จึงจะเห็นมาตรการเยียวยาเพื่อลดผลกระทบจากโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่ปัจจุบันเข้าสู่ช่วงการใช้มาตรการเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น การกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท, เราเที่ยวด้วยกัน, คนละครึ่ง, ช้อปดีมีคืน

 

“เศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัว เห็นได้จากตัวเลขไตรมาส 3/63 ติดลบน้อยลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2/63 ที่ติดลบ 12.2% และเมื่อดู GDP ปรับฤดูกาลไตรมาส 3/63 ถือว่าเพิ่มขึ้น 6.5% จากไตรมาส 2/63 ถือว่าดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ และทำให้ทั้งปีนี้คาดว่า GDP ไทยจะติดลบ 6% และปี 2564 คาดว่า GDP จะโต 4% แต่ก็ยังไม่เต็มร้อย ซึ่งเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวเต็มที่ต้องใช้เวลา 2 ปี”    

 

ต้องยอมรับว่าวิกฤตครั้งนี้กระทบต่อเศรษฐกิจไทยด้านการท่องเท่ียวที่มีสัดส่วน 12% ของ GDP และกระทบจากฐานรากขึ้นสู่รายใหญ่ รวมถึงซัพพลายเชนของไทย ความหวังเรื่องการท่องเที่ยวขึ้นอยู่กับการพัฒนาวัคซีน หากสำเร็จจะสร้างความมั่นใจให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าสู่ประเทศได้ แต่ยังต้องติดตามความคืบหน้าต่อไป

 

ทั้งนี้กระทรวงการคลังพร้อมรับการฟื้นตัวปี 2563 และ 2564 ทั้งมิติเสถียรภาพทางการคลัง ด้านการเงินมีทุนสำรองสูงมาก ขณะที่งบประมาณปี 2564 ในวงเงิน 3.3 ล้านล้านบาทยังมี Fiscal Space หรือวงเงินนอกเหนือจากรายจ่ายประจำและลงทุนเพื่อจัดสรรในการกระตุ้นเศรษฐกิจปีหน้าอีกราว 30% (ราว 9.8 แสนล้านบาท) เป็นวงเงินที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติเพื่อโครงการต่างๆ เช่น การประกันรายได้พืชผล หากมีโครงการอื่นๆ ต้องพิจารณาเพิ่มเติม

 

นอกจากนี้การกระตุ้นเศรษฐกิจยังมีงบประมาณประจำปี 2564 และงบพระราชกำหนดเงินกู้ 4 แสนล้านบาท ที่ปัจจุบันมีการอนุมัติเพียง 1.2 แสนล้านบาทเท่านั้น

 

อย่างไรก็ตาม มองว่ามาตรการการเงินระยะสั้นยังต้องมีเพิ่มเติม โดยล่าสุดทางธนาคารแห่งประเทศไทยมีมาตรการดูแลค่าเงินบาท (ที่แข็งค่ารวดเร็วในระยะสั้น) 

 

ขณะที่ปี 2564-2565 ทางรัฐบาลจะมุ่งเน้นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่เดินหน้าใน 5-6 ปีที่ผ่านมา เช่น รถไฟฟ้าความเร็วสูง และรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ การลงทุนภาคพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมซึ่งจะล้อไปกับ Green Investment รถยนต์ไฟฟ้า (EV) การพัฒนาเฮลท์แคร์ของไทย รวมถึงการใช้ดิจิทัลกับทุกธุรกิจ 

 

“ตอนนี้ยังมีประเด็นในการทำนโยบายปี 2564 ที่จะมุ่งเน้นเรื่องการเสริมสภาพคล่องให้ภาคธุรกิจ เช่น สายการบิน โรงแรม ฯลฯ โดยที่ผ่านมาพระราชกำหนดกู้เงินให้ ธนาคารออมสินไปปล่อยกู้กับธนาคารพาณิชย์ แต่ยังไม่คืบหน้าเท่าไร เราเลยคิดกันอยู่ว่าจะทำอย่างไร” 

 

ขณะที่การลงทุนภาครัฐยังมองรูปแบบการลงทุนที่ลดภาระของภาครัฐ เช่น โครงการร่วมทุนกับเอกชน PPP โครงสร้างพื้นฐานในการลดภาระภาครัฐ โดยจะให้ส่วนแบ่งกับเอกชนมากขึ้น เช่น ทางด่วน, ไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ ฯลฯ เพื่อดูแลระดับหนี้สาธารณะของภาครัฐไม่ให้เกิน 60% จากปัจจุบันที่อยู่ 49% ซึ่งยังบริหารจัดการได้ 

 

นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างการศึกษาการปฏิรูปโครงสร้างภาษีเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ ทั้งการเอื้อให้คนในระบบสะดวกยิ่งขึ้น และมีประสิทธิภาพในการจัดเก็บมากขึ้น รวมถึงการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี เช่น การจูงใจให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ โดยกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการพิจารณาและศึกษาโครงสร้างภาษีให้เอื้อต่อการขยายตัวเศรษฐกิจ

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X