×

ขุมทรัพย์บนเว็บ SET (ตอนที่ 3)

13.03.2021
  • LOADING...
ขุมทรัพย์บนเว็บ SET (ตอนที่ 3)

บทความในตอนนี้จะอธิบายต่อจากตอนที่แล้ว เพื่อให้เห็นประโยชน์ของข้อมูลที่เผยแพร่อยู่บนเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ แบบฟรีๆ หากท่านเข้าใจวิธีการอ่าน ก็จะช่วยทำให้เกิดความสนใจและสร้างความมั่นใจเพื่อตัดสินใจลงทุนได้

 

การอ่านข้อมูลค่าสถิติที่สำคัญ ยกตัวอย่างหุ้น : DRT

 

รูปที่ 1

 

ค่าสถิติที่สำคัญของ DRT

 

การอ่านข้อมูลค่าสถิติที่สำคัญ ยกตัวอย่างหุ้น : DRT

 

1. ราคาล่าสุด

 

 

จากรูปที่ 1 แสดงราคาปิดของหุ้น DRT ย้อนหลัง 4 ปี (2560-2563) และราคาปิดล่าสุด ณ วันที่ 2 มีนาคม 2564 แม้ว่าเราจะไม่ได้เห็นราคาที่เคลื่อนไหวแต่ละวัน แต่ก็พอจะเห็นข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นแบบยาวๆ ถึง 4 ปีย้อนหลัง จากข้อมูลนี้ชี้ให้เห็นว่าหุ้น DRT อยู่ที่ราคา 5.70 บาท ในปี 2560 และเพิ่มเป็น 6.25 บาท ในปี 2562 ถ้าเราถือหุ้น DRT ในช่วง 3 ปีนี้ ส่วนเปลี่ยนแปลงราคา (Capital Gain) ซึ่งเป็นผลตอบแทนของหุ้นชนิดหนึ่งจะมีอัตรา (6.25-5.70/5.70) เท่ากับ 9.64% สำหรับปี 2563 ราคาหุ้น DRT มีระดับลดลงเหลือ 5.85 บาท ซึ่งในปีนี้คงได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เป็นผลให้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ อย่างไรก็ตาม ข้อมูล ณ วันที่ 2 มีนาคม 2564 ราคาหุ้น DRT ได้กลับมาอยู่ในระดับ 6.20 บาท ตามภาวะตลาดที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวหลังมีการวัคซีนรักษาโรค

 

แม้ว่าเราจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้น DRT ที่ไม่หวือหวานัก แต่ถ้าถือในระยะยาว แนวโน้มของราคาเป็นไปในทางอัปเทรนด์ ความไม่หวือหวาของหุ้นอาจมาจากขนาดของธุรกิจที่ไม่ได้มีการขยายตัวมากนัก ส่วนแบ่งการตลาดและยอดขายของธุรกิจจึงอยู่ในลักษณะอิ่มตัว ไม่จำเป็นต้องลงทุนขยายธุรกิจ (วิเคราะห์ผ่านข้อมูลผลประกอบการในตอนที่แล้ว) แต่สินค้าของบริษัทยังขายได้เรื่อยๆ สม่ำเสมอ มีกำไรที่ดี ธุรกิจแบบนี้ไม่จำเป็นต้องมีจุดขายที่ Asset Growth แต่ความน่าสนใจอยู่ที่ความมั่นคงของปัจจัยพื้นฐานเดิม ถ้าหากบริษัทมีกำไรดี จ่ายปันผลดี และสม่ำเสมอ หุ้นลักษณะนี้เข้าข่าย ‘หุ้นปันผล’ ได้ หากว่าใครที่ซื้อหุ้นตัวนี้มาในราคาที่ไม่แพงและติดตามมาตลอด คิดว่าน่าจะได้รับผลตอบแทนที่ดีทีเดียว เช่น ข้อมูลการจ่ายเงินปันผลของ DRT ในปี 2563 เท่ากับ 0.40 บาท หากสมมติว่าเราเคยซื้อ DRT มา ตั้งแต่ราคา 4 บาท และยังไม่เคยขายออกเลย อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลจะเท่ากับ (0.40/4.00) หรือ 10% ต่อปี ซึ่งคือว่าน่าสนใจมากทีเดียวเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในปัจจุบัน

 

2. มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด

 

ข้อมูลนี้เกิดจากการนำราคาตลาดซึ่งเป็นราคาปิดของหุ้นคูณด้วยจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดในขณะนั้น ซึ่งมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดนี้จะเพิ่มได้ อาจมาจากราคาตลาดที่เพิ่มขึ้นและ/หรือจำนวนหุ้นสามัญที่เพิ่มขึ้น เช่น การเพิ่มทุน จากข้อมูลของ DRT จำนวนหุ้นไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ การเปลี่ยนแปลงของมูลค่าหลักทรัพย์จึงมาจากราคาตลาดเป็นสำคัญ

 

3. P/E (เท่า)

 

        

อัตราส่วนนี้มีประโยชน์สำหรับผู้ลงทุน สามารถนำมาเปรียบเทียบว่าหุ้นใดมีราคาแพงหรือราคาถูก เพราะไม่สามารถจะดูที่ราคา (P) ของหุ้นได้โดยตรง เนื่องจากหุ้นแต่ละตัวมีฐานของราคาต่างกัน เนื่องจากมี Par Value ที่ไม่เท่ากัน

 

เช่น

 

 

จากข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นว่า ราคาหุ้นอาจไม่เหมือนราคาสินค้าบริการในตลาดที่บอกได้ว่า 120 บาท แพงกว่า 30 บาท เพราะราคา Par ต่างกัน และสตอรีการเติบโตที่ผ่านมาก็มีประวัติที่ต่างกัน เวลาเปรียบเทียบ หากนำกำไรต่อหุ้นไปหารทั้ง 2 หุ้น ก็จะสามารถเปรียบเทียบได้ เพราะเมื่อหารเสร็จตัวหารจะมีค่าเป็น 1 เสมอ ดังนั้น P/E ของหุ้น A = 10:1 หรือ 10 เท่า อธิบายว่าใน 1 หน่วยของกำไร ผู้ลงทุนให้ราคาตลาดของหุ้น A เป็น 10 เท่าของกำไร ในขณะที่ P/E ของหุ้น B เท่ากับ 15:1 หรือ 15 เท่า อธิบายว่าผู้ลงทุนให้ราคาตลาดของหุ้น B เป็น 15 เท่าของกำไร

 

เนื่องจากเป็นการเปรียบเทียบใน 1 หน่วยของกำไรเหมือนกัน ใครที่มีค่า P/E สูงกว่าจะถือว่ามีราคาหุ้น (โดยเปรียบเทียบกับกำไร) ที่สูงกว่า ซึ่งอาจเทียบจากตนเองในอดีต หรือเปรียบเทียบกับคู่แข่งก็ได้

 

             

จากข้อมูล P/E ในช่วง 4 ปี ย้อนหลังของ DRT พบว่า P/E ของ DRT มีระดับที่ลดลง จาก 13.58 เท่าในปี 2560 เหลือประมาณ 9 เท่าในปัจจุบัน ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ไม่แพงเมื่อเทียบกับในอดีต ผู้ลงทุนสามารถนำ P/E ของ DRT นี้ไปเทียบกับคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน หรือเทียบกับ P/E ของตลาดหลักทรัพย์ฯ หาก P/E ของ DRT ต่ำกว่า ก็สรุปจากข้อมูลนี้ได้ว่าราคาหุ้น DRT มีระดับที่ถูกกว่า (โดยธรรมชาติ ผู้ลงทุนจะชอบของราคาถูกและดี) ซึ่งของถูกดูได้จาก P/E ที่ต่ำ แล้วค่อยไปค้นเพิ่มว่าเป็นของดีด้วยไหม

 

4. มูลค่าหุ้นตามบัญชีต่อหุ้น (Book Value per Share)

 

ต้องเริ่มกล่าวจาก Book Value หรือมูลค่าตามบัญชีของหุ้นก่อน Book Value คือส่วนของผู้ถือหุ้นในงบการเงินนั่นเอง ซึ่งมีที่มาจาก

 

Book Value = สินทรัพย์-หนี้สิน

 

ถ้าบริษัทหนึ่งมีสินทรัพย์ตามงบการเงิน ซึ่งถือว่าเป็นราคาตามบัญชีอยู่ ณ วันใดๆ แต่มูลค่าสินทรัพย์ตามบัญชีนี้มิใช่เป็นของผู้ถือหุ้นทั้งหมด เนื่องจากการได้มาซึ่งสินทรัพย์นี้อาจมาจากการกู้ยืมเงินจากเจ้าหนี้ จึงเกิดหนี้สินที่บริษัทมีภาระผูกพันจะต้องจ่ายคืน ดังนั้นถ้าจะดูสินทรัพย์ในส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้น จึงต้องหักหนี้สินให้ได้สินทรัพย์สุทธิ ซึ่งถูกเรียกว่า Book Value

 

Book Value มีความสำคัญเพราะกลายเป็นมูลค่าพื้นฐานของธุรกิจ หากเราต้องการลงทุนซื้อหรือขายธุรกิจ ส่วนใหญ่จะใช้ Book Value เป็นจุดตั้งต้นขั้นต่ำว่าไม่ควรขายต่ำกว่านี้ มีแต่จะสูงกว่านี้เพราะ

 

  1. สินทรัพย์ที่มีอยู่ในงบการเงิน อาจมีมูลค่าตลาดที่สูงกว่ามูลค่าตามบัญชี
  2. บริษัทอาจมีสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตนอื่นๆ ที่มีมูลค่าแต่ยังไม่ถูกตีค่าในทางบัญชี เช่น ลิขสิทธิ์นวัตกรรม แบรนด์ 
  3. ผลประโยชน์สุทธิในอนาคตที่ธุรกิจอาจสร้างขึ้นมาได้

 

Book Value per Share (BV)

= Book Value / จำนวนหุ้นสามัญของบริษัท

= มูลค่าหุ้นตามบัญชีต่อหุ้น

 

 

5. P/BV (เท่า)

 

ผู้ลงทุนจำนวนมากมักใช้ Book Value ต่อหุ้น (BV) ไปเทียบกับราคาตลาดต่อหุ้น (P) เช่น สร้างเป็นอัตราส่วนที่เรียกว่า Price to Book Ratio (P/BV) และหาหลักการว่าถ้า P/BV มีค่าน้อย เมื่อเทียบกับในอดีต หรือเทียบกับคู่แข่งจะถือว่าหุ้นนั้นมีราคาถูก หลักการคล้ายกรณีที่อธิบายเรื่อง P/E เพราะเมื่อนำ BV มาเป็นตัวหาร หารเสร็จตัวส่วนจะมีค่าเป็น 1 ทำให้นำมาเปรียบเทียบได้ นอกจากนี้ยังสามารถอธิบายเพิ่มได้ว่า P/BV ที่มีค่าต่ำ และ P มีค่าใกล้ BV นั้น อาจเป็นเพราะว่า ค่า P ซึ่งมาจากราคาซื้อขายปัจจุบันในตลาดนั้น ผู้ลงทุนอาจยังมองไม่เห็นมูลค่าส่วนเพิ่มที่ธุรกิจนั้นจะทำได้ในอนาคต จึงให้ราคา P ใกล้ๆ กับมูลค่า BV ถ้าเราวิเคราะห์แล้วและมั่นใจว่าธุรกิจดี เขาซื้อตอนที่ P/BV มีค่าน้อย และในอนาคตหากธุรกิจที่เราว่าดีนั้นทำธุรกิจได้ดีจริง มีการเติบโตของรายได้และกำไร ก็จะทำให้ P และ P/BV ในอนาคตสูงขึ้น ผู้ที่ลงทุนซื้อในขณะที่ P/BV ปัจจุบันที่อยู่ในระดับต่ำก็จะได้ประโยชน์

 

 

จะเห็นได้ว่า หุ้น DRT เมื่อมองจากมุม P/BV เป็นหุ้นที่มีราคาไม่แพงเลย อยู่ในระดับ 2 เท่ากว่าๆ เมื่อเทียบกับ Book Value เราอาจมองว่า ราคา (P) ก็ไม่ค่อยไปไหน รวมทั้ง BV ก็ไม่ค่อยขยับไปไหนเหมือนกัน ดูจืดชืดไปไหม ถ้าเราย้อนกลับไปดูธุรกิจที่พบว่าไม่ต้องขยายการลงทุนมากแล้ว แต่มีกำไรและนำมาจ่ายปันผลได้อย่างสม่ำเสมอ จึงไม่จำเป็นต้องเก็บเป็นกำไรสะสมไว้มากเกินไป การลงทุนซื้อไว้ตอนราคาต่ำๆ (P/BV ที่ต่ำ) แบบนี้แหละที่จะได้ประโยชน์โดยเฉพาะจากเงินปันผล (Dividend) มากกว่าที่จะมองจากประโยชน์จากส่วนต่างราคา (Capital Gain)

 

6. อัตราส่วนเงินปันผลตอบแทน (Dividend Yield)

 

Dividend Yield = (Dividend / Price) x100 %

 

ข้อมูลอัตราส่วนเงินปันผลตอบแทนมีประโยชน์ในการใช้เป็นข้อมูลประมาณการว่า ถ้าเรานำเงินไปลงทุนซื้อหุ้นตัวนี้ 100 บาท และเราถือไว้ 1 ปี โดยได้รับเฉพาะเงินปันผลเท่านั้น เราจะได้อัตราผลตอบแทนต่อปีเท่าไร เราอาจนำข้อมูลเหล่านี้ไปดูเปรียบเทียบกับการลงทุนประเภทอื่น เช่น อัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร อาจทำให้เราสนใจที่จะลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ก็ได้ 

 

 

จะเห็นได้ว่าในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา Dividend Yield ของ DRT ให้อัตราผลตอบแทนดีมากอยู่ในช่วง 5-7% และจะยิ่งน่าสนใจเข้าไปอีก ถ้าผู้ลงทุนที่หาของดีราคาถูกมาตั้งแต่ต้น เช่น ลงทุนที่ต้นทุน 4 บาท โดยยังไม่ขายออกไป สมมติว่าบริษัทจ่ายปันผล 0.40 บาทต่อหุ้นมาอย่างสม่ำเสมอ คิดเป็นอัตราผลตอบแทนสูงถึง 10% ต่อปี แบบนี้เขาเรียกว่า ‘หุ้นห่านทองคำ’ ที่ให้ไข่ทองคำแก่เราทุกปีสม่ำเสมอ เราเองก็ไม่จำเป็นต้องรีบขายห่านทองคำออกไป เก็บไว้กินไข่ก็ดีไม่ใช่น้อย

บทความตอนนี้เป็นตอนสุดท้ายของขุมทรัพย์บนเว็บ SET แต่ถือว่าเป็นจุดตั้งต้นให้ท่านที่สนใจสามารถเข้าไปดูข้อมูลหุ้นแบบฟรีๆ บน www.set.or.th โดยลองฝึกอ่านข้อมูลแบบย่อของหุ้นตามที่ผมอธิบาย อ่านแล้วพอใจหุ้นตัวไหน ลองไปค้นอ่านต่อเชิงลึกได้เลยครับ เว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นเหมือนเหมืองทองคำที่ใครรู้จักค้น รู้จักหา ก็สามารถเจอหุ้นทองคำดีๆ อีกจำนวนมากครับ

 

ภาพประกอบ: ฉัตรชัย เฉยชิต 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising