×

เที่ยว ‘น่าน’ ให้ถึง ‘น่าน’ ในเส้นทางวิถีชุมชน

11.07.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 MINS READ
  • ชาวชุมชนวัดพระเกิดได้ร่วมกันคิดค้นตุงค่าคิง ซึ่งเป็นตุงที่จำลองแบบมาจากพระเจ้าค่าคิงแห่งวัดพระธาตุแช่แห้ง โดยเอกลักษณ์ของตุงค่าคิงคือ ตุงแต่ละผืนต้องมีความยาวเท่ากับความสูงจริงของเจ้าของตุง
  • ผ้าทอลายน้ำไหลที่มีลวดลายพลิ้วไหวดั่งสายน้ำ เป็นของดีประจำเมืองน่านที่ต้องห้ามพลาดที่จะซื้อติดไม้ติดมือกลับมา
  • อยากฝึกสมาธิต้องมาลองกิจกรรมแกะสลักพระไม้แกะ ที่เชื่อมโยงไปถึงพระประธานวัดมหาโพธิ์ ซึ่งสร้างจากไม้มงคลไม่ต่ำกว่า 8 ชนิด

ไม่ต้องรอให้ถึงฤดูหนาว ไม่ต้องรอให้หมอกพร่างพรม เพราะน่านไม่ได้มีเพียงความงามของธรรมชาติเป็นจุดขาย แต่น่านยังมีสีสันของวิถีชุมชน ซึ่งเป็นดั่งสะพานแห่งกาลเวลาพาข้ามสู่ภาพอดีตเมืองน่านให้กลับมาแจ่มชัดอีกครั้ง

 

มากไปกว่าเส้นทางไหว้พระอิ่มบุญ ภาพจิตรกรรมฝาผนัง ‘กระซิบรักบรรลือโลก’ หรือ ‘ปู่ม่านย่าม่าน’ แห่งวัดภูมินทร์ บ่อเกลือภูเขา วิถีไทลื้อ และดอยเสมอดาว ปลายทางที่แสนเนิบช้าอย่างน่าน ยังมีเรื่องราวของเส้นทางท่องเที่ยววิถีชุมชนเป็นอีกโจทย์ที่น่าสนใจ โดยเสน่ห์ของการท่องเที่ยววิถีชุมชนเมืองน่านอยู่ที่การหยิบยกอัตลักษณ์ของแต่ละถิ่นย่านมาเล่าใหม่ด้วยจังหวะลีลาที่ต่างกัน บ้างเป็นเกร็ดประวัติศาสตร์ บ้างเป็นงานสืบสานวัฒนธรรมที่ใกล้สูญหาย บางกิจกรรมสร้างสรรค์โดยผู้เฒ่าวัยเกษียณ และมีอีกหลายกิจกรรมที่ทำให้คนแปลกหน้าอย่างเราๆ สามารถสัมผัสเมืองเล็กกลางหุบเขาได้อย่างลึกซึ้ง…กว่าที่เคย

 

ภาพจิตรกรรมฝาผนังกระซิบรักบรรลือโลก หรือปู่ม่านย่าม่าน แห่งวัดภูมินทร์

 

เปลี่ยนวัดเป็นศูนย์วัฒนธรรม

มาน่านแล้วไม่ได้เที่ยววัด บอกเลยว่ามาไม่ถึง เพราะที่น่านโดยเฉพาะในเขตเมืองเก่านั้นมีวัดเล็กใหญ่ให้สักการะอยู่แทบทุกหัวถนน แต่โปรแกรมพิเศษในครั้งนี้ปักหมุดไปที่วัดพระเกิด วัดเล็กที่นอกจากจะมีพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านที่รวบรวม ‘ตั๋วเมือง’ หรือ คัมภีร์ใบลานอักษรล้านนากว่า 20 หมวดหมู่ นับรวมได้กว่า 2,000 ผูกแล้ว วัดพระเกิดยังเป็นต้นความเชื่อเรื่องการสืบชะตาแบบล้านนาที่เรียกว่า ‘ตุงค่าคิง’ ซึ่งออกแบบโดย อ. คำรบ วัชราคม ปราชญ์ชาวบ้านผู้ล่วงลับ และเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักในการรวมช่างพื้นบ้านเพื่อทำตุงค่าคิง

 

ตุงค่าคิงถูกออกแบบให้เป็นรูปหน้าคน และสวมใส่เสื้อผ้าเครื่องประดับสวยงาม

 

“ตุงค่าคิงเป็นหนึ่งในตุงมงคลของล้านนา ปกติแต่ละวัดจะออกแบบตุงแตกต่างกันไป ที่วัดพระเกิดมีพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน ซึ่งประดิษฐานพระเจ้าค่าคิงที่แกะจากไม้ ยึดแบบมาจากพระเจ้าค่าคิงที่วัดพระธาตุแช่แห้ง พระเจ้าค่าคิงเป็นพระพุทธรูปที่สร้างตามความสูงของผู้สร้าง เมื่อตอนอาจารย์คำรบคิดจะทำตุงสืบชะตาของวัดพระเกิดให้สวยงามเป็นเอกลักษณ์ ท่านก็เลยยึดแบบให้เหมือนพระเจ้าค่าคิงที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์” ป้าติ๋ม-ดรุณี เทียมแสน ผู้นำทัวร์ประจำวัดพระเกิด วัย 69 ปี ชี้ให้เห็นความพิเศษของที่ตุงค่าคิง ซึ่งถูกออกแบบให้เป็นรูปหน้าคน ทั้งยังสวมเสื้อผ้าเครื่องประดับสวยงาม

 

โดยความยาวของตุงค่าคิงแต่ละผืนจะต่างกันไปตามความสูงของผู้ที่จะนำไปบูชา ซึ่งนั่นก็แปลว่า ต้องมีการสั่งจองทำตุงค่าคิงล่วงหน้าตามความสูงจริงของแต่ละคนเท่านั้น

 

งานฝีมืออย่างแท้จริง

 

ผู้เป็นเจ้าของต้องประกอบตุงด้วยตนเองก่อนถวายเป็นพุทธบูชา

 

ด้วยความที่ตุงค่าคิงใช้เพื่อสืบชะตาชีวิต เจ้าของตุง เจ้าของชีวิต จึงต้องเผื่อเวลามาแต่งแต้มตุงให้มีชีวิตด้วยตนเอง โดยทางวัดจะเตรียมงานตอกและตัดกระดาษเป็นรูปปาก ตา จมูก เครื่องประดับ และสัญลักษณ์ประจำราศีให้พร้อม รอให้เจ้าของตุงมาติดประกอบด้วยตัวเอง เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาประดับไว้ในพระอุโบสถ ส่วนใครที่ต้องการเรียนรู้งานตอกกระดาษทำตุงก็สามารถแวะมาพูดคุยกับเหล่าผู้เฒ่าซึ่งเป็นช่างพื้นบ้านที่นั่งทำตุงอยู่ที่วัดได้ตลอด

 

นอกจากวัดพระเกิดแล้ว วัดมหาโพธิ์ยังเป็นอีกจุดหมายเส้นทางท่องเที่ยวชุมชนที่ต้องห้ามพลาด เพราะที่นี่คือสถานที่แห่งเดียวในจังหวัดที่ยังคงมีการอนุรักษ์งานแกะสลักพระไม้ ซึ่งเชื่อมโยงไปสู่เนื้อแท้ของพระประธานภายในโบสถ์วัดมหาโพธิ์ ที่แกะจากไม้มงคลราว 8 ชนิด และนี่คือเหตุผลที่ทำให้ชาวชุมชนละแวกวัดมหาโพธิ์ในอดีตนิยมแกะสลักพระไม้ขนาดเล็กถวายเป็นพุทธบูชาที่วัด ผิดกับปัจจุบันที่ช่างแกะพระไม้นั้นหาได้ยากเต็มที และหนึ่งในนั้นก็คือ ท่านเจ้าอาวาสวัดมหาโพธิ์ที่เรียนรู้งานแกะพระไม้ด้วยตัวเอง พร้อมเปิดวัดเป็นศูนย์การเรียนรู้ขนาดเล็ก ชวนนักท่องเที่ยวและคนในชุมชนให้เข้ามาฝึกแกะสลักพระไม้ ที่รับประกันได้เลยว่า มีเพียงองค์เดียวในโลก

 

ฝึกแกะสลักพระไม้ที่มีเพียงองค์เดียวในโลก

 

งานแกะสลักพระไม้เชื่อมโยงไปสู่พระประธานภายในโบสถ์วัดมหาโพธิ์ที่แกะจากไม้มงคลราว 8 ชนิด

 

สัมผัสล้านนาในงานสถาปัตย์

เมืองน่านไม่ได้มีเพียงกลิ่นอายความเป็นล้านนาให้ได้ถวิลหา ที่นี่ยังมีประวัติศาสตร์ยุคโคโลเนียลแจ่มชัดอยู่ในตึกรังสีเกษม อดีตโรงเรียนแบบตะวันตกที่ก่อตั้งโดยคณะมิชชันนารี อาคารก่ออิฐถือปูนสีแดงเข้มขนาด 2 ชั้น และความสวยงามที่ผสมผสานระหว่างล้านนาและยุโรปคือเอกลักษณ์ที่อยู่คู่กับตึกรังสีเกษมมากว่า 100 ปี ส่วนปัจจุบันที่นี่คือพิพิธภัณฑ์มีชีวิตที่ยังคงรักษาโครงสร้างงานสถาปัตยกรรมเดิมไว้ได้อย่างสมบูรณ์ โดยเฉพาะห้องครัวที่ยังคงมีเตาอบขนมแบบเก่าไว้ให้ได้เห็น

 

อดีตโรงเรียนแบบตะวันตก ก่ออิฐถือปูนสีแดงเข้ม ผสมผสานระหว่างล้านนาและยุโรป

 

นั่นไง ห้องครัวที่ยังคงมีเตาอบขนมแบบเก่า

 

อีกไฮไลต์ของตึกรังสีเกษม ได้แก่ การเก็บเฟอร์นิเจอร์เก่าที่สั่งลงเรือมาจากยุโรป อย่างโต๊ะไม้ที่สามารถถอดสลักเปลี่ยนจากโต๊ะขนาดใหญ่ให้เป็นโต๊ะขนาดเล็กได้ นอกจากนี้ยังมีห้องจัดแสดงภาพเก่าเมืองน่านที่รวบรวมภาพขาวดำไว้ร่วม 2,000 ภาพ

 

แต่ละภาพนอกจากจะสะท้อนภาพความเจริญของเมืองน่านที่เป็นศูนย์กลางการค้าขายกับตะวันตกแล้ว ก็ยังมีภาพการแต่งกายของชนพื้นเมืองต่างๆ รวมทั้งกิจการปางไม้ขนาดใหญ่ที่ยากจะหาชมได้ในปัจจุบัน

 

อย่างที่บอกว่า ตึกรังสีเกษมไม่ต่างอะไรกับพิพิธภัณฑ์มีชีวิต นอกจากการนำชมตึกโดย คุณหิรัญ อุทธวงค์ ซึ่งรู้จักข้าวของทุกชิ้นที่ประกอบเข้ากันเป็นตึกรังสีเกษมแล้ว ที่นี่ยังชวนนักท่องเที่ยวนุ่งซิ่นแบบล้านนาเข้ามาจิบน้ำชายามบ่าย พร้อมกินขนมอบรำลึกความหลังในอาคารเก่า พร้อมกันนั้นยังได้จำลองห้องเรียนภาษาล้านนาให้ได้ฝึกอ่านภาษาล้านนาเบื้องต้น รวมทั้งเขียนชื่อตัวเองเป็นภาษาล้านนาลงบนย่ามทอ ไว้เป็นของฝากให้ระลึกถึงเมืองน่านไปอีกนาน

 

เขียนชื่อตัวเองเป็นภาษาล้านนาลงบนย่ามทอไว้เป็นของฝาก

 

และสำหรับใครที่ยังอินต่อเนื่องกับงานสถาปัตยกรรมเมืองน่าน แนะนำให้ไปกันต่อที่ ‘โฮงเจ้าฟองคำ’ เรือนแฝดสร้างจากไม้สักยกใต้ถุนสูงอายุอานามกว่าร้อยปีที่มีเกร็ดประวัติศาสตร์ของเจ้านายสมัยล้านนาบันทึกไว้ทุกตารางนิ้ว ไม่ว่าจะเป็นห้องนอน ห้องทำงาน ห้องพระ รวมทั้งข้าวของทุกชิ้นของเจ้าของเดิมซึ่งก็คือ เจ้าศรีตุมมา หลานเจ้ามหาวงศ์ผู้ครองนครน่านองค์ที่ 11 ในราชวงศ์หลวงติ๋นมหาวงศ์

 

ปัจจุบันเรือนหลังนี้ได้ตกทอดสืบต่อมายังเจ้าฟองคำและลูกหลาน ที่ยังคงเก็บข้าวของเครื่องใช้ทุกอย่างไว้ครบถ้วน พร้อมทั้งยังได้เปิดใต้ถุนเรือนเป็นศูนย์เรียนรู้การทอผ้าลาย ‘น้ำไหล’ ที่ได้ถักทอความพลิ้วไหวของสายน้ำน่านลงบนผืนผ้า

 

ใต้ถุนเรือนถูกปรับเป็นศูนย์เรียนรู้การทอผ้าลายน้ำไหล

 

 

ตามรอยแม่น้ำน่านสู่ความชิลที่หนองน้ำครก

เมื่อเอ่ยถึงแม่น้ำน่านแล้ว ก็อดไม่ได้ที่จะย้อนรอยเส้นทางแม่น้ำน่านเก่าไปที่บ้านม่วงตึ๊ด ซึ่งชาวบ้านในชุมชนได้ร่วมใจกันเปลี่ยนความรกร้างของป่าไมยราพและหนองน้ำครก อันเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ที่เชื่อว่า เป็นทางน้ำของแม่น้ำน่านสายเก่า ให้กลายเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของเมืองน่านที่ครบถ้วนทั้งสวนเกษตร แปลงดอกไม้ แหล่งดูนก และจุดชมวิวพระอาทิตย์ตกที่ว้าวไม้แพ้บนยอดภูเลยสักนิด

 

นอกจากวิวที่ว้าวแล้ว ความน่ารักของหนองน้ำครกอยู่ที่ระบบการจัดการที่เกิดจากความร่วมมือของชาวบ้านอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นทุ่งดอกดาวเรือง ทุ่งทานตะวันที่ชุมชนปลูกขายเพื่อนำเงินมาเป็นกองกลางในการดูแลพื้นที่ ผัก ผลไม้ และอาหารพื้นบ้านจากคนท้องถิ่นนำมาจัดจำหน่าย ไม่นับรวมแปลงผักขนาดใหญ่ที่คนในชุมชนผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาดูแล


ทุ่งดอกดาวเรืองเคียงคู่ทุ่งดอกทานตะวัน  

 

อีกไฮไลต์ของหนองน้ำครกที่ห้ามพลาดคือ การเดินย่ำไปบนสะพานไม้ไผ่สาน ลัดเลาะไปยังเกาะแก่งริมหนองน้ำ ถ้าวันไหนโชคดีอาจได้เจอกับเจ้าถิ่นอย่างนกเป็ดน้ำ นกเป็ดแดง รวมทั้งอีโก้งที่เล่นซ่อนแอบอยู่ในกอหญ้ากลางหนอง และในวันที่ฝนตกก็อาจจะได้เจอแจ็กพ็อตเป็นหมอกขาวลอยเอื่อยๆ อยู่บนผิวน้ำ เรียกได้ว่า วินาทีนี้ไม่มีที่ไหนฮอตฮิตไปกว่าหนองน้ำครกอีกแล้ว

 

แลนด์มาร์กแห่งใหม่ของเมืองน่าน

 

สะพานไม้ไผ่สานลัดเลาะไปยังเกาะแก่งริมหนองน้ำ

FYI
  • หนองน้ำครก ตำบลม่วงตึ๊ด อำเภอภูเพียง โทร. 08 4808 9813, 08 9854 0387  
  • ติดต่อสั่งทำตุงค่าคิง โทร. 08 1765 2710, 08 1724 6454
  • การท่องเที่ยวเชิงสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมชุมชนบ้านมหาโพธิ์ โทร. 08 1023 4452
  • สอบถามข้อมูลเส้นทางท่องเที่ยวชุมชนจังหวัดน่านได้ที่ อพท. สำนักงานพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน โทร. 0 5477 1077
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X