รมช.คลัง ย้ำความสำคัญประเด็น ‘สินค้าผ่านทาง’ (Transshipment) เชื่อไทย ‘ได้เปรียบ’ เวียดนามด้านนี้ ลั่นผู้ชนะไม่ใช่ประเทศที่ได้อัตราภาษีที่ต่ำที่สุด แต่ผู้ชนะคือประเทศที่ได้ดีลที่ดีที่สุด ซึ่งหมายถึง การจัดสรรผลประโยชน์สูงสุดให้ประชาชน ‘ทั้งประเทศ’
วันนี้ (17 กรกฎาคม) ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เน้นย้ำว่าในการเจรจาเรื่องภาษีทรัมป์นั้น ‘ผู้ชนะไม่ใช่คนที่ได้เรตที่ต่ำที่สุด แต่ผู้ชนะคือคนที่ได้ Deal ที่ดีที่สุด’ โดย ‘Deal ที่ดีที่สุด’ หมายถึงการสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับประเทศและประชาชนโดยรวม ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึงทั้งสิ่งที่ประเทศได้และสิ่งที่ประเทศเสียไป โดยครอบคลุมทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นผู้ส่งออก ภาคเกษตรกร ภาคปศุสัตว์ และภาคส่วนอื่น ๆ ทั้งหมด
เมื่อกล่าวถึงการเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ เช่น เวียดนาม ดร.เผ่าภูมิ เตือนว่า การมองเพียงแค่ตัวเลขภาษี Reciprocal Tariff ซึ่งเวียดนามได้ 20% ไม่เพียงพอ โดยย้ำว่า “เราต้องมองให้ลึกว่าประเทศเหล่านั้นต้องเอาอะไรไปแลกบ้าง” ดร.เผ่าภูมิ กล่าวในงาน ‘ปลดล็อกอนาคตประเทศไทย: สู้วิกฤติโลก Unlocking Thailand Future’ ซึ่งจัดโดยสำนักข่าวไทย (MCOT)
นอกจากนี้ ดร.เผ่าภูมิ ตั้งข้อสังเกตไปยังอัตราภาษีสินค้าผ่านทาง (Transshipment) โดยยกตัวอย่างกรณีของเวียดนามที่มีภาษี 2 อัตราคือ 20% และ 40% ซึ่งอธิบายอีกว่า เส้นแบ่งของภาษี 2 อัตรานี้อยู่ที่ Regional Value Content (RVC) หรือสัดส่วนของมูลค่าสินค้าที่ผลิตในภูมิภาค หากการผลิตในภูมิภาคมีสัดส่วนมาก จะเสียภาษี 20% แต่หากน้อยกว่าเส้นแบ่ง จะเสียภาษี 40%
ดร.เผ่าภูมิ ประเมินว่า สินค้าจากเวียดนามส่วนใหญ่คาดว่าจะเสียภาษีในอัตรา 40% ต่างจากไทย เนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยมีความโตเต็มที่ (Mature) กว่าและมีห่วงโซ่อุปทานที่ยาวและลึกกว่า ซึ่งหมายความว่าไทยมีการผลิตในประเทศมากกว่า หากเจออัตราเดียวกัน ประเทศไทยจะได้เปรียบมากกว่า
ในท้ายที่สุด ดร.เผ่าภูมิ ยืนยันและให้ความมั่นใจว่า ทีมไทยแลนด์ ซึ่งนำโดย พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กำลังทำงานอย่างเต็มที่เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด และ ‘กลมกล่อมที่สุด’ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนทั้งประเทศ