อัตรา เงินเฟ้อ ผู้บริโภคในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมามีการเติบโต 7.7% เมื่อเทียบกับปี 2564 และเป็นสถิติอัตราเงินเฟ้อที่สูงที่สุดในรอบ 14 ปีของประเทศไทย ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันได้ถึงปัญหาที่เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ นั่นคือปัญหาราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้น แน่นอนว่าผู้บริโภคคือผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้า เนื่องจากในช่วงภาวะเศรษฐกิจที่เปราะบาง ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงเวลาการฟื้นตัว ผู้บริโภคยังคงมีรายได้ไม่เปลี่ยนแปลง แต่จำเป็นต้องแบกรับค่าครองชีพที่สูงขึ้น จึงส่งผลกระทบต่อเงินออมที่มีอยู่
อย่างไรก็ดี ฝั่งภาคธุรกิจที่เป็นผู้ผลิตสินค้าและบริการ ต่างก็เผชิญปัญหาใหญ่ไม่แพ้กัน เนื่องจากภาคธุรกิจจำเป็นต้องแบกรับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น โดยทิศทางของปัจจัยราคาพลังงาน ต้นทุนค่าขนส่ง และราคาวัตถุดิบทั้งภาคอุตสาหกรรมและเกษตร ต่างก็ทยอยปรับเพิ่มขึ้นพร้อมกันในช่วงครึ่งปีแรก ส่งผลให้ผู้ประกอบการเริ่มประสบปัญหาในการแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นด้วย
โดยดัชนีราคาผู้ผลิตในเดือนมิถุนายน 2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 13.8% ส่งผลให้ดัชนีราคาผู้ผลิตในช่วงครึ่งปีแรกปรับตัวเพิ่มขึ้น 11.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ดังนั้น ประเด็นสำคัญที่ภาคธุรกิจต้องตัดสินใจคือ การส่งผ่านราคา (Price Transferring) ผ่านการปรับขึ้นราคาสินค้าให้สูงขึ้น สอดคล้องกับต้นทุนที่ปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าเป็นประเด็นที่ต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน เนื่องจากการปรับเพิ่มราคาสินค้าอาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่อธุรกิจ และกระทบการบริโภคสินค้าของผู้บริโภค
การตัดสินใจของภาคธุรกิจในการส่งผ่านราคา อาจมีรูปแบบที่แตกต่างกันไปในแต่ละอุตสาหกรรม ขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยหลักคือ ความจำเป็นในการปรับขึ้นราคา และความสามารถในการปรับขึ้นราคา ซึ่งในแต่ละอุตสาหกรรมจะมีความสามารถและความจำเป็นที่แตกต่างกันออกไป ในส่วนของความจำเป็นในการปรับขึ้นราคา สามารถพิจารณาได้จากสัดส่วนของต้นทุนวัตถุดิบการผลิตที่คิดเป็นต้นทุนทางตรงที่ธุรกิจต้องแบกรับ (Cost of Goods Sold) หรือสัดส่วนกำไรก่อนภาษีและดอกเบี้ยที่จะแสดงให้เห็นว่า ต้นทุนที่สูงขึ้นกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงกำไรมากน้อยเพียงใด นอกจากนี้ ยังสามารถพิจารณาประเด็นความผันผวนของราคาวัตถุดิบ และส่วนต่างของอัตราหมุนเวียนลูกหนี้และเจ้าหนี้การค้าควบคู่ไปตามความเหมาะสมได้เช่นกัน
ประเด็นเรื่องความสามารถในการขึ้นราคานั้น ภาคธุรกิจควรพิจารณาถึงลักษณะของสินค้าว่ามีความจำเป็นในชีวิตประจำวันมากน้อยเพียงใด เนื่องจากกลุ่มสินค้าจำเป็น (Necessity Good) จะมีความต้องการบริโภคสูง แม้จะมีการปรับขึ้นราคา ยิ่งไปกว่านั้น ภาคธุรกิจควรพิจารณาถึงความสามารถในการทดแทน (Substitution Power) สินค้าของตน เนื่องด้วยสินค้าที่ไม่มีคู่แข่งทดแทนได้โดยง่าย จะส่งผลให้ภาคธุรกิจมีอำนาจในการปรับขึ้นราคาเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ธุรกิจควรพิจารณาถึงอำนาจในการโฆษณาชวนเชื่อ และการแข่งขันราคาในตลาดระหว่างผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม เมื่อพิจารณาถึงความสามารถในการปรับขึ้นราคาของสินค้า
ผลการวิเคราะห์ผ่านงบการเงินและธรรมชาติของภาคธุรกิจ จากกลุ่มตัวอย่างกว่า 35,000 บริษัท บนสมมติฐานความเป็นไปได้ในการส่งผ่านราคาสินค้าไปยังผู้บริโภค ตามปัจจัยสำคัญ 2 ประการที่กล่าวไปเบื้องต้น เราสามารถแบ่งกลุ่มธุรกิจได้เป็น 6 กลุ่มสำคัญ ดังนี้
- กลุ่มที่มีความสามารถในการปรับราคาสูง และมีความจำเป็นสูง เช่น สินค้ากลุ่มพลังงาน เคมีภัณฑ์ ปิโตรเคมิคอล และวัสดุก่อสร้าง เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ต้นทุนสินค้ามีการขยับตัวเร็ว และสัดส่วนกำไรค่อนข้างต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับภาคบริการ ทำให้เมื่อมีการขยับของราคาต้นทุน จึงมีความเป็นไปได้สูงที่ราคาสินค้าของกลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้ จำเป็นต้องขยับราคาเพื่อรักษาสถานะทางการเงินของกิจการ
- กลุ่มที่มีความสามารถในการปรับราคาสูง และมีความจำเป็นปานกลางถึงต่ำ เป็นกลุ่มที่ลักษณะสินค้าและบริการของอุตสาหกรรมมีความจำเป็นในการดำรงชีพของผู้คน สินค้ามีคุณสมบัติที่ไม่สามารถใช้สินค้าอื่นทดแทนได้ง่าย เช่น ผู้ค้าส่งข้าว ธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตไฟฟ้า และธุรกิจสุขภาพ แต่เนื่องจากกลุ่มเหล่านี้มีสัดส่วนกำไรที่สูงกว่า และต้นทุนทางตรงที่ต่ำกว่า เมื่อเทียบกับกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ จึงมีความถี่ของการปรับราคาที่ลดลง สามารถประคองตัวได้ในช่วงที่ราคาสินค้าปรับตัวขึ้นสูง
- กลุ่มที่มีความสามารถในการปรับราคาปานกลาง และมีความจำเป็นสูง จากสัดส่วนต้นทุนทางตรงที่สูง และกำไรที่ไม่มากนัก เช่น กลุ่มเกษตรกรเลี้ยงสัตว์ และจากประเด็นของความผันผวนด้านราคาต้นทุน เช่น กลุ่มผลิตภัณฑ์จากเหมืองแร่ อาจต้องให้ความสำคัญเรื่องการจัดการต้นทุนภายในกิจการเป็นสำคัญเพื่อรักษาพื้นที่กำไร โดยเฉพาะกลุ่มที่มีลูกค้าน้อยราย หรือรูปแบบการขายที่อยู่ภายใต้สัญญารับซื้อที่มีระยะเวลา เป็นต้น
- กลุ่มที่มีความสามารถในการปรับราคาปานกลาง และมีความจำเป็นกลางและต่ำ เป็นกลุ่มที่สามารถพิจารณารูปแบบการแข่งขันภายในแต่ละอุตสาหกรรม และดำเนินแนวทางการแข่งขันได้ โดยมีแรงกดดันด้านราคาต้นทุนเป็นปัจจัยรอง เช่น กลุ่มผู้ขายรถยนต์และอุปกรณ์ประกอบ กลุ่มเครื่องดื่ม กลุ่มท่องเที่ยว กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น
- กลุ่มที่มีความสามารถในการปรับราคาต่ำ และมีความจำเป็นสูง ด้วยข้อจำกัดการปรับราคาอาจกระทบอุตสาหกรรมที่มีความจำเป็นต้องขึ้นราคาสินค้าจากต้นทุนทางตรงที่สูง เช่น เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย กลุ่มบรรจุภัณฑ์ และกลุ่มค้าปลีกค้าส่ง ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ควรเร่งพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและเน้นตอบโจทย์ผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน เพื่อรักษาหรือเพิ่มพื้นที่กำไรในช่วงที่ต้นทุนหลายด้านยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
- กลุ่มที่มีความสามารถในการปรับราคาต่ำ และมีความจำเป็นปานกลางและต่ำ เป็นกลุ่มที่ลักษณะสินค้ามีความจำเป็นไม่สูงต่อการดำรงชีพ เช่น กระดาษและสิ่งพิมพ์ หรือเป็นกลุ่มที่มีสินค้าป้ายราคา เช่น สินค้าอุปโภคบริโภค และเฟอร์นิเจอร์ รวมถึงกลุ่มโทรคมนาคมที่มีราคาขายอยู่บนสัญญาระยะยาว เป็นต้น การปรับราคาสินค้าของสินค้าในกลุ่มนี้อาจเป็นเรื่องที่ยากลำบาก และอาจต้องใช้ช่วงเวลาที่เหมาะสม รวมถึงควรเน้นกลยุทธ์ทางการตลาดที่เจาะตลาดบนที่มีกำลังซื้อสูง
โดยสรุป การส่งผ่านราคาสินค้าในอุตสาหกรรมที่สามารถปรับเปลี่ยนราคาได้ดี จะสามารถทำให้ผู้ประกอบการปรับตัวกับปัญหาเงินเฟ้อได้ดี โดยจะควบคุมกำไรให้อยู่ในระดับที่ใกล้เคียง ผ่านการส่งผ่านราคาให้แก่ผู้บริโภค สำหรับผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจที่มีความสามารถปรับราคาได้ปานกลางและน้อย ภายใต้สถานการณ์ต้นทุนสินค้าที่ยังคงอยู่ในระดับสูงในปัจจุบัน ควรต้องมุ่งเป้าไปที่การจัดการต้นทุนเพื่อรักษาสัดส่วนกำไร รวมถึงพัฒนามูลค่าเพิ่ม และเน้นตอบโจทย์ของผู้บริโภคในปัจจุบัน เพื่อขยายพื้นที่กำไรรองรับต้นทุนที่เหมาะสมในอนาคต
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP