×

เจาะผลกระทบวาระร้อน ‘เก็บภาษีขายหุ้น’ ได้คุ้มเสียจริงหรือไม่? หลังต้นทุนคนเทรดเพิ่ม 2 เท่า ขณะที่เสน่ห์ด้านสภาพคล่องตลาดหดหาย

01.12.2022
  • LOADING...
เก็บภาษีขายหุ้น

ในช่วงส่งท้ายเดือนพฤศจิกายนปีนี้ ตลาดทุนเกิดเรื่องช็อกวงการอีกครั้ง จากวาระร้อนที่อาจไม่ลับที่เสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐ (ครม.) เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบในหลักการให้จัดเก็บ ‘ภาษีขายหุ้น’ จากธุรกรรมการขายหุ้น (Transaction Tax) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตามที่กระทรวงการคลังเสนอในอัตรา 0.10% 

 

แม้ก่อนหน้านี้จะเห็นกระแสของคนในอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ออกมาคัดค้านไม่เห็นด้วยมาตลอด ตั้งแต่ที่คลังเริ่มจุดพลุเมื่อปลายปี 2564 ว่าจะมีการทบทวนกลับมาเก็บ Transaction Tax ที่ยกเว้นให้มานานมากกว่า 30 ปี 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


แน่นอนว่าเรื่องภาษีขายหุ้นมีผลกระทบในวงกว้างกับทุกคนที่ลงทุนซื้อ-ขายในตลาดหุ้น เพราะเมื่อบังคับใช้ ต้นทุนของนักลงทุนทุกกลุ่มจะเพิ่มขึ้นทันที และหากวิเคราะห์ลงลึกไปมากกว่านั้น อาจมีผลกระทบอื่นๆ เพิ่มเติมอีกด้วย

 

ในเรื่องของผลกระทบต่อตลาดทุนและเศรษฐกิจ เริ่มมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นข้อมูลความรู้ให้ทราบแล้ว

 

แต่ก่อนที่จะไปเจาะลึกถึงข้อมูลเหล่านั้น ลองมาไล่เรียงไทม์ไลน์ก่อนว่า ภาษีขายหุ้นก่อนได้รับไฟเขียวจาก ครม. มีที่มาอย่างไร

 

จุดเริ่มต้นของ Transaction Tax

เริ่มจากปลายปี 2564 ที่กระทรวงการคลังออกมาระบุว่า กำลังเริ่มพิจารณาการกลับมาจัดเก็บ Transaction Tax ซึ่งตามกฎหมายของตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนดให้เป็นกิจการที่อยู่ในข้อบังคับต้องเสียภาษีในอัตราภาษี 0.10% ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่าย แต่ที่ผ่านมามีการออกพระราชกฤษฎีกายกเว้นมาตั้งแต่ปี 2534 เป็นต้นมา เพื่อบรรเทาภาระภาษีให้กับกิจการซื้อ-ขายหุ้นในตอนนั้น

 

แต่ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันกดดันให้คลังจำเป็นต้องหารายได้จากแหล่งใหม่ๆ เข้ามาเพิ่ม เพราะที่ผ่านมาจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าหมายค่อนข้างมาก ส่วนการจะไปขอปรับขึ้นอัตราเก็บภาษีอื่นๆ ที่มีอยู่แล้วทำได้ค่อนข้างยากในภาวะที่เศรษฐกิจกำลังอยู่ในช่วงเริ่มฟื้นตัว 

 

อย่างไรก็ตาม ทันทีที่คลังรื้อกฎหมายนี้ขึ้นมาใหม่ก็มีกระแสต่อต้านขึ้นมาในทันที จนทำให้ อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในช่วงเดือนมีนาคมปีนี้มีอาการชะงักและขอกลับไปใช้เวลาศึกษา 

 

แต่หลังจากนั้นก็ได้ออกมาส่งสัญญาณที่ชัดเจนมาโดยตลอดว่า การจัดภาษีขายหุ้นควรจะมีการจัดเก็บมานานแล้ว เพราะว่ายกเว้นการเก็บในส่วนนี้มากว่า 30 ปี รัฐบาลมีความจำเป็นต้องเก็บภาษีดังกล่าวเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับภาครัฐ โดยการเก็บภาษีนี้จะให้โบรกเกอร์เป็นผู้หักภาษีธุรกิจเฉพาะจากเงินที่ขายหุ้น

 

รู้ไทม์ไลน์ เตรียมรับมือ Transaction Tax 

ขั้นตอนถัดจากนี้จะต้องนำร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ Transaction Tax ส่งต่อสำนักงานกฤษฎีกาเพื่อตรวจร่างฯ ตามกระบวนการทางกฎหมาย หลังจากนั้นต้องขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย เพื่อเตรียมประกาศในราชกิจจานุเบกษา และจะประกาศช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2566 คาดว่าจะมีผลบังคับใช้เริ่มจัดเก็บ Transaction Tax จริงได้ในช่วงกลางปี 2566 เป็นต้นไป 

 

ในช่วงปีแรกที่มีการจัดเก็บ Transaction Tax นั้น อัตราการจัดเก็บอาจลดลงจากอัตราจริงราว 50% โดยน่าจะเริ่มจัดเก็บในอัตรา 0.05% ไปจนถึงสิ้นปี 2566 ซึ่งเป็นไปตามที่ FETCO ยื่นขอเสนอมา เพื่อให้ภาคธุรกิจได้มีโอกาสในการปรับตัว 

 

จากนั้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 จะกลับมาจัดเก็บในอัตราปกติที่ 0.10% ตามเดิม และจะมีการจัดเก็บภาษีท้องถิ่นเพิ่มอีก 0.01% รวมเป็นอัตราจัดเก็บทั้งสิ้นรวม 0.11%

 

ทั้งนี้ กรมสรรพากรคาดการณ์ว่าจะมีรายได้จาก Transaction Tax บนสมมติฐานวอลุ่มซื้อปัจจุบันของตลาดอยู่ที่ประมาณ 1.5-1.6 หมื่นล้านบาทต่อปี

 

จุดยืนภาคตลาดทุน ‘ค้านเก็บภาษีขายหุ้น’ ตอนนี้ไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม

ไพบูลย์ นลินทรางกูร กรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ทิสโก้ กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า มีจุดยืนไม่เห็นด้วยการเก็บ Transaction Tax เพราะในระยะยาวจะเป็นผลเสียกับตลาดหุ้นไทย เนื่องจากเป็นการลดความสามารถในการแข่งขันของตลาดหุ้นไทยลง

 

โดยเฉพาะช่วงสถานการณ์ปัจจุบันที่ยังไม่เหมาะสม ทั้งมูลค่าซื้อรวมของตลาดหุ้นไทยที่ปรับตัวลดลงเบาบางอย่างหนักในรอบหลายปีอยู่แล้ว โดยการเก็บ Transaction Tax จะเป็นปัจจัยมาซ้ำเติมให้สภาพคล่องการซื้อ-ขายยิ่งลดลงไปอีก  

 

ส่วน กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ FETCO ระบุว่า ขอยืนยันว่าช่วงนี้ยังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมสำหรับการเก็บภาษีขายหุ้น เคยส่งจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมา และได้ทักท้วงอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา หลังจากสภาพคล่องของตลาดหลักทรัพย์ไทยลดลงอย่างต่อเนื่องจนเหลือน้อยกว่าครึ่งของมูลค่าการซื้อ-ขายเฉลี่ยช่วงก่อนหน้า เนื่องจากตอนนี้ตลาดผันผวนปั่นป่วนอย่างยิ่ง หุ้น พันธบัตร ทองคำ ค่าเงิน สินทรัพย์ใหม่ และจะผันผวนไปอีกระยะ ทั้งยังมีวิกฤตเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นรออยู่ข้างหน้า 

 

‘เก็บภาษีขายหุ้น’ ได้ไม่คุ้มเสีย ฉุดวอลุ่มเทรด

ประกิต สิริวัฒนเกตุ กรรมการผู้จัดการ บลจ.เมอร์ชั่นพาร์ทเนอร์ ให้สัมภาษณ์เรื่องการเก็บภาษีขายหุ้นในรายการ MORNING WEALTH ของ THE STANDARD WEALTH ว่า การเก็บภาษีขายหุ้นในจังหวะเวลานี้ยิ่งเป็นปัจจัยซ้ำเติมให้สภาพคล่องในตลาดหุ้นไทยยิ่งหายไปอีก เพราะปัจจุบันแม้จะยังไม่มีการเก็บภาษีขายหุ้น แต่มูลค่าการซื้อ-ขายของตลาดหุ้นไทยกำลังขาลงอย่างหนักอยู่แล้วจากปี 2564 ที่เคยสูงถึงระดับ 8.8 หมื่นล้านบาทต่อวัน 

 

แต่หากดูตัวเลขเฉลี่ยเฉพาะในเดือนพฤศจิกายนลดลงมาเหลือ 6 หมื่นล้านบาทต่อวัน และในบางวันมูลค่าการซื้อ-ขายลดลงไปที่ 3.6 หมื่นล้านบาทต่อวัน ทำจุดต่ำสุดในรอบ 3 ปีมาแล้ว เนื่องจากหลายปัจจัยที่มากระทบ ทั้งจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีการทำ Quantitative Tightening (QT) ทำให้สภาพคล่องในระบบลดลง รวมทั้งเม็ดเงินลงทุนจากการลงทุนในตลาดหุ้นที่ไหลออกจากตลาดหุ้นกลับไปสู่ภาคเศรษฐกิจจริง และมีนักลงทุนจำนวนมากที่ซื้อถือหุ้นไว้ในราคาสูงแล้วมีผลขาดทุน

 

ดังนั้นเมื่อคำนวณรายได้ที่รัฐบาลได้รับจากการจัดเก็บภาษีขายหุ้นจะอยู่ที่ประมาณ 1,000 บาทต่อมูลค่าการซื้อ-ขายที่ 1 ล้านบาท หากคิดบนฐานตัวเลขที่มีมูลค่าการซื้อ-ขายที่ 5 หมื่นล้านบาทต่อวัน จะทำให้รัฐบาลจัดเก็บภาษีรายได้ส่วนที่ได้ราว 1 หมื่นล้านบาทต่อปี แต่การเก็บภาษีส่วนนี้จะมีผลกระทบทำให้วอลุ่มซื้อ-ขายลดลง ซึ่งแน่นอนว่ารายได้จากการจัดเก็บก็จะลดลงไปด้วย

 

“จะดีกว่าหรือไม่ถ้าเก็บรายได้ภาษีหุ้นได้ปีละ 1 หมื่นล้านบาท แล้วจะมีโอกาสเก็บได้เพิ่มขึ้นอีกในปีต่อๆ ไปในอนาคตเพิ่มเป็น 2-3 หมื่นล้านบาท คือควรส่งเสริมแหล่งที่มาเก็บภาษีให้เติบโตขึ้น เพื่อเก็บรายได้ภาษีได้เพิ่มขึ้น แต่การมาเก็บภาษีในจังหวะเวลานี้จะยิ่งทำให้สภาพคล่องหายไปอีก จะยิ่งทำให้เก็บภาษีส่วนนี้ลดลงไปเรื่อยๆ เพราะสภาพคล่องที่หายไปจึงไม่คุ้มกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามในอนาคต”

 

พร้อมเสนอว่าหากต้องการเก็บภาษีจากตลาดหุ้นควรเลือกเก็บจาก Capital Gain Tax จะเหมาะสมมากกว่า เพราะจะเก็บบนฐานเฉพาะส่วนที่นักลงทุนที่ได้กำไรจากการขายหุ้น แต่ Transaction Tax จะเก็บภาษีทั้งฝั่งคนที่มีกำไรและขาดทุน จึงมองว่าไม่ยุติธรรมกับผู้ขายหุ้นแล้วขาดทุน เพราะเปรียบเทียบเหมือนต้องมาจ่ายค่าต๋งเพื่อมาเล่นหุ้นไทย

 

ส่วน ไพบูลย์ นลินทรางกูร ให้ข้อมูลด้านผลกระทบต่อวอลุ่มว่า จากข้อมูลที่เคยคำนวณก่อนหน้านี้ ในกรณีที่มีการจัดเก็บ Transaction Tax จะมีผลกระทบให้มูลค่าการซื้อ-ขายเฉลี่ยรวมในตลาดหุ้นเสี่ยงจะลดลง 30-40% เหลือราวเฉลี่ย 5 หมื่นล้านบาทต่อวัน จากฐานตัวเลขเฉลี่ยตอนนั้นอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 8 หมื่นล้านบาทต่อวัน

 

ขณะที่ตัวเลขมูลค่าการซื้อ-ขายเฉลี่ยรวมปัจจุบัน ค่อนข้างเบาบางเหลือเพียง 3-4 หมื่นล้านบาทต่อวัน แม้ยังไม่มีผลกระทบจาก Transaction Tax โดยเฉพาะระบบซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติ High Frequency Trading (HFT)

 

ภาษีขายหุ้นทำต้นทุนรายย่อยเทรดพุ่ง 2 เท่า

ประกิตอธิบายต่อว่า การเก็บภาษีขายหุ้นที่อัตรา 0.11% เทียบเคียงได้กับค่าคอมมิชชันในการเทรดเฉลี่ยของนักลงทุนที่ 0.12% ต่อครั้ง ซึ่งถือว่าสูงมาก หากซื้อ-ขายไปกลับ 2 ขา เท่ากับจะมีค่าคอมมิชชันอยู่ที่ 0.24% รวมต้นทุนภาษีขายหุ้นอีก 0.11% เป็น 0.35% บวกกับมีภาษี VAT ที่ต้องจ่ายด้วย จะเทียบเท่าการขยับของหุ้น 1-2 ช่อง ซึ่งจะทำให้การซื้อ-ขายเก็งกำไรแบบรวดเร็วหายไป ซึ่งมีผลกระทบทำให้สภาพคล่องของตลาดหายไปด้วย เพราะตลาดหุ้นที่ดีต้องมีส่วนผสมกันระหว่างการเทรดแบบเก็งกำไรและถือลงทุนระยะยาว 

 

ขณะที่ไพบูลย์มองว่า จะมีผลกระทบต่อนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งถือเป็นกลุ่มหลักในตลาดหุ้นไทย เพราะจะมีภาระต้นทุนในการซื้อ-ขายเพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 2 เท่า ซึ่งจะทำให้สถานะนักลงทุนต่างชาติที่เพิ่งเริ่มกลับมาซื้อสุทธิในปีนี้เป็นปีแรก หลังจากที่ขายสุทธิหุ้นไทยออกมาอย่างต่อเนื่องหลายปี อาจต้องชะงักลงไป

 

สถาบันมองการเก็บภาษีขายหุ้นลดเสน่ห์หุ้นไทย

ในมุมมองนักลงทุนสถาบันอย่างบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) มีความเห็นว่า การเก็บภาษีขายหุ้นจะส่งผลกระทบตรงต่อสภาพคล่องในตลาดและผลตอบแทนการลงทุนที่ลดลง เนื่องจากภาษีดังกล่าวจะทำให้ต้นทุนการลงทุนเพิ่มขึ้น

 

อีกทั้งส่งผลกระทบทางอ้อมต่อการบริหารจัดการกองทุนรวม โดยเฉพาะกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนแบบ Active ที่มีธุรกรรมการซื้อ-ขายหุ้นหลายครั้ง และยอดธุรกรรมค่อนข้างมาก ซึ่งน่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด และส่งผลกระทบให้ความน่าสนใจของกองทุนไทยลดลงเมื่อเทียบกับการลงทุนในต่างประเทศ

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising