×

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเผย พะยูนในตรังมีแนวโน้มลดลงจากปีที่ผ่านมา

03.04.2024
  • LOADING...
พะยูน

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เผย พะยูนในทะเลตรังมีแนวโน้มลดลงจากปีที่ผ่านมา และกระจายตัวในพื้นที่กว้างมากขึ้น ซึ่งเป็นไปได้ว่าพะยูนมีการอพยพย้ายถิ่นไปยังแหล่งหญ้าทะเลในพื้นที่ใกล้เคียง 

 

เมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่จากสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัลและอากาศยาน ลงพื้นที่ออกสำรวจการแพร่กระจายสัตว์ทะเลหายากบริเวณจังหวัดตรัง ด้วยวิธีการบินสำรวจโดยใช้อากาศยานปีกตรึง 9 ที่นั่ง สำรวจแบบ Line Transect และ Hot Spot ซึ่งการสำรวจครั้งนี้ครอบคลุมพื้นที่การสำรวจได้มากขึ้น ถึงบริเวณเกาะลิบง เกาะมุก เกาะสุกร แหลมไทร และบริเวณแนวหญ้าทะเลใกล้เคียง ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดของจังหวัดตรัง 

 

ผลการสำรวจในครั้งนี้พบพะยูนประมาณ 86-121 ตัว เป็นพะยูนคู่แม่-ลูกอย่างน้อยประมาณ 3 คู่ เต่าตนุจำนวน 107-152 ตัว และโลมาจำนวน 13 ตัว (ซึ่งมีโลมาคู่แม่-ลูก จำนวน 4 คู่) อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจในปี 2566 จะพบว่าพะยูนมีแนวโน้มจำนวนประชากรลดลง และกระจายตัวในพื้นที่กว้างมากขึ้น ซึ่งข้อสันนิษฐานการลดลงของพะยูนในพื้นที่เกาะมุกและเกาะลิบง เป็นไปได้ว่ามีการอพยพย้ายถิ่นไปยังแหล่งหญ้าทะเลในพื้นที่ใกล้เคียง จากการสำรวจพะยูนบริเวณเกาะศรีบอยาและบริเวณเกาะสุกรนั้น พบพะยูนมีจำนวนเพิ่มขึ้น 

 

ทั้งนี้ ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้รับมอบหมายจาก พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้เร่งดำเนินการส่งนักวิชาการ นักวิจัย และเจ้าหน้าที่กรม ทช. ที่เกี่ยวข้อง ร่วมเฝ้าระวัง และเร่งดำเนินการสำรวจประชากรพะยูนและสัตว์ทะเลหายาก รวมถึงแหล่งหญ้าทะเลตลอดแนวชายฝั่งทะเลอันดามันเพิ่มเติม เพื่อติดตามข้อมูลในภาพรวมของจำนวนประชากรและการแพร่กระจายของพะยูนทั้งหมดอีกครั้ง พร้อมนำเรือตรวจการณ์และเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการสำรวจ เพื่อรวบรวมเป็นฐานข้อมูลและกำหนดแนวทางการอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายาก 

 

นอกจากนี้ ทช. ขอความร่วมมือเรือนำเที่ยวและเรือประมงในพื้นที่ให้เพิ่มความระมัดระวังในการขับเรือ ป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายกับสัตว์ทะเลดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ สามารถแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านทะเลชายฝั่ง รวมถึงสัตว์ทะเลหายากได้ตลอดที่สายด่วนพิทักษ์ป่าและรักษาทะเล โทร. 1362

 

ภาพ: กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

อ้างอิง: 

  • กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X