วันนี้ (20 ตุลาคม) วันศุกร์ที่เป็นวันสุดท้ายของสัปดาห์ วันสุดท้ายของการทำงานในฐานะตำรวจกองบังคับการตำรวจรถไฟอย่างแท้จริง
ช่างภาพข่าว THE STANDARD ได้พูดคุยกับ ร.ต.ท. สมควร ปั้นกันอินทร์ ที่มีตำแหน่งเดิมคือ สารวัตรป้องกันปราบปราม สถานีตำรวจรถไฟนพวงศ์ กองกำกับการ 1 กองบังคับการตำรวจรถไฟ ข้าราชการตำรวจชั้นผู้น้อยคนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการยุบหน่วยตำรวจรถไฟ
“สิ่งที่ตนเสียใจที่สุดวันนี้คือ ตำรวจรถไฟถูกยุบด้วยตำรวจด้วยกันเอง” ร.ต.ท. สมควร กล่าว
ร.ต.ท. สมควร เล่าว่า การยุบหน่วยตำรวจรถไฟนั้น ตนเองยอมรับว่าเป็นคนหนึ่งที่ไม่สบายใจตั้งแต่มีกระแสข่าว ตั้งแต่วันที่ยังไม่เป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งพอมีประกาศอย่างเป็นทางการว่าหน่วยต้องถูกยุบจริงๆ ตัวเองจึงออกมาแสดงตัวเป็นส่วนหนึ่งที่ยื่นหนังสือถึงผู้ตรวจการแผ่นดินว่า การยุบหน่วยกองบังคับการตำรวจรถไฟนี้เป็นสิ่งที่ไม่สมควร
ซึ่งเหตุผลหลักของทุกคนที่ออกมาเคลื่อนไหวเห็นตรงกันคือ ‘ปัญหาในอนาคต ถ้าไม่มีตำรวจรถไฟ ประชาชนผู้โดยสารจะได้รับความเดือดร้อนและไม่ได้รับความปลอดภัย’
ร.ต.ท. สมควร เล่าต่อว่า ในฐานะข้าราชการตำรวจอย่างตนเอง มันเป็นเรื่องเจ็บปวดที่หน่วยที่อยู่มาค่อนชีวิตถูกยุบ เจ็บมากจนตอนนี้ถูกบังคับให้หาย จนกลายเป็นเรื่องที่ธรรมดาไปแล้ว
เราอยากให้สังคมรับรู้ว่า การที่เราออกมาเคลื่อนไหวตอนนั้นไม่ใช่เพราะเราห่วงเรื่องส่วนตัว เรื่องหน้าที่การงาน และเราไม่ได้คาดหวังให้สังคมมองว่าตำรวจเจ็บปวด แต่จากนี้ประชาชนจะต้องเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงไม่ว่าตอนหนึ่งตอนใด
จากนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ต้องจัดการระบบความปลอดภัยด้วยหน่วยงานเอง หาก รฟท. จะทำได้ดีและได้ผล รฟท. ต้องทำให้ระบบการเดินรถเป็นแบบปิด รถไฟต้องมีความพร้อมมากพอที่จะสร้างระบบให้เข้มแข็งในทุกสถานี ทุกขบวนรถ
ร.ต.ท. สมควร กล่าวว่า ถ้าวันนี้ไม่มีตำรวจรถไฟแล้ว ก็ต้องทำให้ประชาชนเกิดความไว้วางใจในการโดยสารให้ได้ เพราะที่ผ่านมาตำรวจรถไฟเองก็มีฐานข้อมูลที่เป็นที่ประจักษ์แล้วว่ารถไฟยังจำเป็นต้องใช้ตำรวจรถไฟอยู่ เพราะการรถไฟฯ มีการร้องขอกำลังพลไปที่ตำรวจสอบสวนกลางเพื่อดูแลประชาชนในการโดยสารรถไฟ
ส่วนการที่จะเอาหน่วยงานเอกชนมาดูแลความปลอดภัยหลังจากนี้ ตนมองว่า รฟท. ต้องใช้งบประมาณเข้าไปจัดสรรมูลค่าหลายพันล้านบาทต่อปี เพราะจำเป็นต้องใช้คนจำนวนมากเพื่อดูแลความปลอดภัยให้ทั่วถึง
“ตอนนี้มันเกิดปัญหาแน่นอน ไม่ต้องพูดถึงความรู้สึกของตำรวจเพราะมันจบไปแล้ว แต่จากนี้เราจะทำอย่างไรกับความเดือดร้อนของประชาชน เพราะผมเชื่อว่าตำรวจรถไฟเป็นหน่วยที่จับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับได้มากเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ แต่เราเป็นหน่วยงานที่เงียบที่สุดในประเทศ”
ร.ต.ท. สมควร กล่าวว่า ถ้าวันนี้การยุบหน่วยตำรวจรถไฟเป็นไปตามข้อบังคับของกฎหมาย ในเมื่อกฎหมายที่ออกมาอาจสร้างปัญหา ฉะนั้น กฎหมายก็ต้องแก้ไขได้เพื่อแก้ปัญหาให้ประชาชน
การยุบตำรวจรถไฟด้วยเหตุผลว่า ตำรวจทั่วไปมีกำลังพลไม่เพียงพอในการบริการประชาชน ตนก็อยากถามกลับว่า ตำรวจรถไฟเองที่มีอำนาจหน้าที่ในการสืบสวนปราบปราม พวกเขาก็ถือว่าให้บริการประชาชนอยู่เช่นกัน
“ตัวอำนาจหน้าที่ตำรวจรถไฟเองก็มีความชัดเจนแล้ว เหตุใดยังต้องถูกเรียกคืนกำลังพล จากนี้ถ้าไม่มีหน่วยนี้แล้วจะเป็นการผลักภาระให้ตำรวจท้องที่ต้องรับผิดชอบมากขึ้นหรือไม่ และเมื่อภาระมากขึ้น ตำรวจท้องที่จะบริการประชาชนอย่างเต็มประสิทธิภาพได้อย่างไร” ร.ต.ท. สมควร กล่าว
หลังจบการพูดคุย ร.ต.ท. สมควร ต้องเร่งมือจัดการกับเอกสารต่างๆ ที่มีจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคดีที่จะต้องส่งต่อให้กับตำรวจท้องที่ไปดำเนินการต่อ และยังต้องแยกสำนวนคดีอีกกว่า 1,000 คดีไปจัดเก็บที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เพื่อสำรองข้อมูลสำหรับคดีที่สิ้นสุดแล้ว
ร.ต.ท. สมควร พูดอย่างติดตลกว่า ขนาดทยอยเก็บมาตั้งแต่วันที่รู้ว่าหน่วยจะถูกยุบ วันนี้ก็ยังเก็บไม่เสร็จเพราะคดีเยอะมาก เอกสารพวกนี้ก็เป็นเครื่องสะท้อนว่าตำรวจรถไฟดูแลความเดือดร้อนให้ประชาชนมากขนาดไหน
เมื่อถามต่อว่า หากอนาคตกองกำกับการรถไฟจะถูกจัดตั้งอีกครั้ง ร.ต.ท. สมควร จะกลับมาปฏิบัติหน้าที่ในกองกำกับการนี้หรือไม่ “ผมจะกลับมา ต่อให้ผมเหลือเวลารับราชการอีกแค่ 2 ปี ผมก็จะกลับมาทำหน้าที่ตำรวจรถไฟ”
ซึ่งระหว่างที่ช่างภาพข่าวได้พูดคุยและบันทึกภาพวันสุดท้ายที่กองกำกับการตำรวจรถไฟ ได้มีประชาชนเดินทางมาขอความช่วยเหลือ โดยต้องการให้ ร.ต.ท. สมควร ออกหนังสือรับรองเพื่อขออนุเคราะห์ตั๋วโดยสารกลับภูมิลำเนา เนื่องจากตนเองไม่มีเงิน
ร.ต.ท. สมควร อธิบายว่า ตามปกติแล้วตำรวจรถไฟสามารถออกหนังสือขอความอนุเคราะห์ให้กับประชาชนที่ไม่มีกำลังทรัพย์ในการซื้อตั๋วรถไฟได้ แต่ด้วยปัจจุบันที่อำนาจหน้าที่ยุติลงแล้ว ประชาชนจะต้องไปขอความช่วยเหลือในส่วนกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ (พม.) แทน
“ตำรวจรถไฟเราดูแลตั้งแต่คนที่ไม่มีเงินขึ้นรถไฟ ไปจนถึงคนที่ถูกขโมยเงินบนรถไฟ และยังมีการปราบปรามการค้ายา อาชญากรรมบนรถไฟ ที่ทำมาตลอด 72 ปี วันนี้เราเองก็ได้แต่หวังว่าประชาชนจะได้รับความปลอดภัยแม้ไม่มีตำรวจรถไฟคอยดูแล” ร.ต.ท. สมควร กล่าว