×

หรือแสงสว่างปลายอุโมงค์จะมาจากหัวรถจักร

26.11.2020
  • LOADING...
หรือแสงสว่างปลายอุโมงค์จะมาจากหัวรถจักร

ณ สิ้นปี 2563 ซึ่งเป็นปีที่เต็มไปด้วยเหตุการณ์ไม่คาดคิด เศรษฐกิจโลกและการลงทุนทั่วโลกเริ่มมองเห็นปลายแสงแห่งความหวังจากประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ที่ดูน่าเชื่อถือ และความเป็นไปได้ที่วัคซีนจะหยุดยั้งการระบาดของโควิด-19 ส่งผลทำให้ภาพรวมการลงทุนทั่วโลกดูสดใสขึ้น อย่างไรก็ตาม เราไม่ได้มองโลกในแง่ดีมากนัก

 

ในด้านเศรษฐกิจโลก เราเชื่อว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปถ้าวัคซีนได้รับการอนุมัติ แต่ความเชื่อมั่นของประชาชนจะไม่ฟื้นกลับมาได้ในทันที เนื่องจากวัคซีนต้องได้รับการอนุมัติและการจัดจำหนายทั่วโลก มีขั้นตอนการดำเนินการที่ซับซ้อนและต้องใช้เวลา ดังนั้นภาคบริการทั่วโลกจะยังคงอ่อนแอ และมีแนวโน้มที่จะเป็นตัวฉุดรั้งให้เศรษฐกิจโลกเติบโตต่ำกว่าศักยภาพที่ควรจะเป็น จนกว่าวัคซีนจะถูกจัดจำหน่ายอย่างแพร่หลาย ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในกลางปี 2565 

 

ในส่วนของการเมืองโลก เราเชื่อว่าในสหรัฐฯ ความขัดแย้งระหว่างพรรคการเมืองจะยังคงไม่หมดไป แม้ว่าจะมีประธานาธิบดีคนใหม่ รัฐบาลภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีไบเดนอาจบริหารประเทศได้ไม่ราบรื่นมากนัก เนื่องจากสภาคองเกรสแตกแยกเป็นสองฝั่ง (Divided Congress) โดยพรรครีพับลิกันมีแนวโน้มจะครองเสียงข้างมากในสภาสูง และพรรคเดโมแครตครองสภาล่าง และทั้งสองพรรคมีความเห็นไม่ลงรอยกัน 

 

อย่างไรก็ตาม เป็นไปได้ที่ความสำเร็จในช่วงแรก (100 วันหลังรับตำแหน่ง) อาจเกิดขึ้นได้ เนื่องจากไบเดนอาจเริ่มงานที่ทำได้ง่ายก่อน เช่น การควบคุมการระบาดของโควิด-19 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และกลับเข้าร่วมความตกลงปารีส 

 

ในยุโรป เราเชื่อว่ามาตรการกระตุ้นการคลังมูลค่า 7.5 แสนล้านยูโรอาจไม่สามารถเบิกจ่ายได้จนกว่าจะถึงครึ่งหลังของปี 2564 ด้านประเทศจีนแผน 5 ปีล่าสุดของพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การบริโภคภายในประเทศ และการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้าตามปรัชญา ‘Dual Circulation’ จะช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้น การที่จีนเข้าร่วมข้อตกลงพันธมิตรการค้าภูมิภาค (RCEP) ที่มีสมาชิก ได้แก่ ชาติอาเซียน เอเชียเหนือ และออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ทำให้จีนแผ่อิทธิพลด้านเศรษฐกิจในเอเชียได้มากขึ้น นำไปสู่ ‘สงครามเย็น’ รอบใหม่ระหว่างประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดสองประเทศ

 

ในฝั่งนโยบายเศรษฐกิจทั่วโลก เราเชื่อว่านโยบายการเงินจะยังคงผ่อนคลาย ในขณะที่นโยบายการคลังค่อนข้างมีข้อจำกัด โดยมีสาเหตุมาจาก 1. ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ปรับเปลี่ยนเป้าอัตราเงินเฟ้อ โดยยอมให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น (Overshoot) เกินเป้าหมายเดิมได้ 2. นโยบายการคลังยังขาดประสิทธิผล เนื่องจากข้อจำกัดด้านหนี้สาธารณะ ทำให้นโยบายการเงินเข้ามามีบทบาทหลัก และ 3. ท่าทีการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของ Fed ส่งผลทำให้ดอลลาร์อ่อนค่า ซึ่งทำให้ธนาคารกลางของประเทศอื่นๆ จะต้องทำนโยบายการเงินผ่อนคลายมากและยาวนานเช่นเดียวกับ Fed (ไม่เช่นนั้นค่าเงินอาจจะแข็งค่ามากกว่าที่คาดการณ์)

 

ในส่วนของเศรษฐกิจไทย เรามองว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวช้า และในแต่ละภาคธุรกิจจะมีลักษณะการฟื้นตัวที่ต่างกัน หรือที่เรียกว่า K-Shape Recovery โดยเรามองว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะมีความแตกต่างกันใน 3 จุด 

 

จุดแรก ได้แก่ เศรษฐกิจระหว่างประเทศกับในประเทศ โดยภาวะการติดโควิด-19 ที่ลากยาวนั้น จะทำให้เศรษฐกิจที่พึ่งพิงต่างประเทศ เช่น การท่องเที่ยว และการส่งออกนั้นยังถูกกดดัน โดยเรามองว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะเริ่มเข้าไทยได้อย่างมีนัยสำคัญในครึ่งปีหลัง ส่วนการส่งออกจะขยายตัวในระดับต่ำ จากเศรษฐกิจโลกที่จะยังไม่ฟื้นตัวมาก ขณะที่เศรษฐกิจในประเทศ เช่น การบริโภคเอกชน และการลงทุนภาครัฐ จะฟื้นตัวได้บ้างตามมาตรการการคลัง

 

จุดที่สอง ได้แก่ ภาคการผลิตกับภาคบริการ มองว่าภาคบริการจะยังถูกกดดันจากการท่องเที่ยว และความกังวลของผู้บริโภค (Consumer Risk-Averse) ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบริการจะยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ขณะที่ภาคการผลิต โดยเฉพาะภาคเกษตรจะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากภาวะลานีญา ทำให้ปริมาณน้ำเหมาะสมกับการเพาะปลูก ส่งผลให้มีการผลิตสินค้าเกษตรออกมามากขึ้น และรายได้เกษตรกรดีขึ้น

 

จุดที่สาม นโยบายการเงินและการคลัง รัฐบาลจะพึ่งพาภาคการคลังมากขึ้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นการบริโภค ขณะที่นโยบายการเงินจะหันมาเป็นกองหลัง เนื่องจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กังวลผลข้างเคียงจากนโยบายดอกเบี้ยต่ำ

 

ด้วยภาพเช่นนี้ เราจึงยังคงยืนมุมมองเศรษฐกิจไทยปี 2564 ที่จะเป็นปีแห่ง 4-3-2-1 โดย 

 

4% คือระดับการเติบโตของการบริโภค 

3% คือการเติบโตของเศรษฐกิจไทย (GDP) 

2% คือการฟื้นตัวของการลงทุนเอกชน และปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการสุทธิ 

1% คือภาวะเงินเฟ้อที่อาจฟื้นตัวได้ในระดับ 0.6-0.7% ขณะที่ความต้องการนำเข้ายังอยู่ระดับต่ำจากการลงทุนเอกชนที่อ่อนแอ ทำให้บาทยังคงแข็งค่าต่อเนื่อง แม้รายได้จากนักท่องเที่ยวจะหายไปก็ตาม 

 

เมื่อพิจารณาถึงภูมิทัศน์ของเศรษฐกิจโลกและของประเทศไทยในอนาคตอันใกล้จะเห็นได้ว่า ภูมิทัศน์ดังกล่าวไม่เอื้อต่อการลงทุนมากนัก อย่างไรก็ตาม เราเชื่อว่ากระแสข่าวดีต่างๆ จะทำให้การลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงจะยังไปได้ต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีแรก แม้จะมีปัจจัยลบจากประเด็นโควิด-19 ระลอกสองที่กดดันเศรษฐกิจมาเป็นระยะ อย่างไรก็ตาม เป็นไปได้ว่าในครึ่งปีหลัง ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ อาจเริ่มเข้ามามีอิทธิพลต่อการลงทุนมากขึ้น และกดดันการลงทุนในระยะต่อไป

 

แสงสว่างปลายอุโมงค์อาจมาจากหัวจักรรถไฟก็เป็นได้ นักลงทุนทั้งหลาย โปรดพึงระวัง

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X