×

เตรียมบังคับใช้ ‘ระบบตัดแต้ม-ยกเลิกใบขับขี่’ ก่อนปี ‘63 คาดลดการตายบนถนนได้ 20%

07.10.2019
  • LOADING...

วันนี้ (7 ตุลาคม) ภาคีเพื่อความปลอดภัยทางถนนจัดเวทีเสนอความคิดเห็นระหว่างภาคีป้องกันอุบัติเหตุทางถนนกับสื่อมวลชน เรื่อง ‘กฎหมายจราจรใหม่เพื่อช่วยชีวิตคนไทย’ ก่อนจะเริ่มบังคับใช้ระบบตัดคะแนนความประพฤติผู้กระทำผิดกฎจราจรเพื่อลดการบาดเจ็บและตายบนท้องถนนไทย

 

โดย นพ.วิวัฒน์ ศีตมโนชญ์ ผู้จัดการแผนยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การอนามัยโลกด้านการป้องกันอุบัติเหตุทางถนน กล่าวว่าก่อนปีใหม่ 2563 ประเทศไทยจะมีการบังคับใช้กฎหมายใหม่เกี่ยวกับความปลอดภัยทางถนนคือ ‘ระบบการตัดแต้ม’ ซึ่งการบังคับใช้ให้ประสบความสำเร็จนั้น หัวใจสำคัญคือการทำให้ประชาชนเห็นถึงความสำคัญ รับรู้และยอมรับถึงผลเสียและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุ 

 

นักวิชาการมองว่าเรื่องดังกล่าวถือเป็นบริบทใหม่ของสังคมไทยในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อแก้ไขสถานการณ์ แม้ว่าภาพรวมอุบัติเหตุในปีล่าสุดเหมือนจะดีขึ้น คนตายลดลงประมาณ 1,400 ราย แต่โดยรวมยังมากกว่าปีละ 20,000 ราย เชื่อว่าหากสามารถบังคับใช้กฎหมายตัดแต้มได้อย่างจริงจังจะสามารถลดการตายลงได้ 10-20% หรือประมาณ 2,000-4,000 คน ภาพรวมช่วยลดผลกระทบต่อคนได้นับหมื่นราย

 

แต่การจะบังคับได้จริงหรือไม่นั้นยังเป็นคำถาม เพราะคนไทยมีดีเอ็นเอพิเศษ ไม่กลัวและเพิกเฉยต่อการทำผิดกฎหมาย ในขณะที่ฟิลิปปินส์มีแนวโน้มการเคารพกฎหมายดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้กฎหมายใหม่ไม่เพียงเน้นเฉพาะการออกใบสั่งและการตัดแต้ม ทว่าระบบจะทำให้เห็นถึงคนที่กระทำผิดซ้ำๆ ซึ่งเราควรจับตาพฤติกรรมการขับขี่ของคนกลุ่มนี้อย่างใกล้ชิด 

 

ขณะเดียวกัน ร่าง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลจราจรผ่านสภากำลังเข้าสู่คณะรัฐมนตรีในการตัดสินความผิดเกี่ยวกับอุบัติเหตุทางถนนจะให้อำนาจในการให้ศาลตัดสินความผิด ถ้าสำเร็จคนจะรู้สึกว่าเมื่อเมาแล้วขับ ความผิดจะไม่อยู่แค่ชั้นของตำรวจ แต่จะต้องตัดสินในชั้นศาล โดยการผลักดันห้ามรอลงอาญา ตัวอย่างเช่น ประเทศญี่ปุ่น ที่ช่วยลดการตายลดลงได้ถึง 50% ในปีถัดไป 

 

ขณะเดียวกัน นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย ประธานมูลนิธิเพื่อความปลอดภัยทางถนน จังหวัดขอนแก่น และผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือขององค์การอนามัยโลกด้านการป้องกันอุบัติเหตุ ระบุว่าระบบตัดแต้มเป็นกฎหมายสำคัญมากของไทย เพราะจะเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้ ไม่ว่าจะยากดีมีจน ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ ทุกคนจะถูกบังคับใช้เหมือนกัน ทุกการกระทำผิดทั่วประเทศจะถูกบันทึกและดำเนินการ ซึ่งวิธีการนี้จะลดการเผชิญหน้าระหว่างตำรวจกับประชาชน เป็นกฎหมายที่ทำให้คนทำผิดได้รับผลมากที่สุด 

 

ทางด้าน พ.ต.อ. เอกราช ลิ้มสังกาศ รองผู้บังคับการตำรวจทางหลวง กล่าวว่าทุกวันนี้ตำรวจอ่อนแอ เพราะที่ผ่านมาบังคับใช้กฎหมายอยู่องค์กรเดียว จำเป็นต้องมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันบริหารจัดการและดำเนินการให้ประสบความสำเร็จ ต้องการการสนับสนุนจากหลายองค์กร โดยเฉพาะสื่อมวลชนที่ช่วยสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนได้ตระหนักและปฏิบัติ

 

ทุกวันนี้กฎหมายจราจรบังคับอยู่แนวทางเดียวคือการออกใบสั่งและเปรียบเทียบปรับ คนมองว่าเป็นผลประโยชน์ของตำรวจ แต่ไม่ย้อนกลับมามองว่าใบสั่งที่ออกมานั้นเกิดจากการฝ่าฝืนกฎจราจรและการกระทำผิดของตนเอง ที่สำคัญค่าปรับที่น้อยเกินไปทำให้คนไม่ตระหนัก มองว่ามีเงิน สามารถจ่ายได้สบาย เพราะเห็นถึงความสะดวกสบายมากกว่าความปลอดภัย จึงพบเห็นพฤติกรรมไม่สวมหมวก ไม่คาดเข็มขัด ฝ่าไฟแดง เมาแล้วขับ 

 

ดังนั้นการบังคับใช้ให้มีประสิทธิภาพโดยอาศัยระบบปกครองคือระบบตัดคะแนนความประพฤติ ในความเป็นจริงมีมากว่า 20 ปีแล้ว แต่ทำไม่ได้เพราะกฎหมายให้สติกเกอร์ในใบขับขี่ กระทั่งมีการแก้กฎหมายใหม่ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติพัฒนาระบบเก็บข้อมูลจราจรโดยใช้ระบบนี้มาตัดคะแนนความประพฤติ 

 

คนจนและคนรวยมี 12 คะแนนเท่ากัน ทำผิดข้อหาเดียวกัน ตัดคะแนนเท่ากัน รวมถึงการลดขั้นตอนกระบวนการบังคับใช้กฎหมายสิ้นสุด หากผู้กระทำผิดไม่จ่ายค่าปรับ จะขอหมายเรียกกับศาลให้อัยการรับรองและดำเนินการตามกระบวนการต่อไป

 

อย่างไรก็ตาม เกณฑ์การตัดคะแนนนั้นสามารถแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้ 

  • ตัด 1 คะแนน ต่อเมื่อฝ่าฝืนกฎจราจร เช่น ใช้โทรศัพท์ระหว่างขับขี่, ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย, ไม่สวมหมวกกันน็อก, ขับรถบนทางเท้า, ขับเร็วเกินกฎหมายกำหนด, ไม่หลีกทางให้รถฉุกเฉิน, ไม่หยุดให้คนข้ามทางม้าลาย, ไม่ชำระค่าปรับในระยะเวลาที่กำหนด 
  • ตัด 2 คะแนน ต่อเมื่อฝ่าฝืนกฎจราจร เช่น ฝ่าไฟแดง, ย้อนศร, ขับประมาทหวาดเสียว, ขับรถระหว่างโดนพักใช้ใบขับขี่, เมาแล้วขับ 
  • ตัด 3 คะแนน ต่อเมื่อฝ่าฝืนกฎจราจร เช่น สนับสนุนส่งเสริมการแข่งรถบนท้องถนนโดยไม่ได้รับอนุญาต, ชนแล้วหนี, เมาแล้วขับโดยมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ 
  • ตัด 4 คะแนน ต่อเมื่อฝ่าฝืนกฎจราจร เช่น เมาแล้วขับโดยมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 200 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์, เมาแล้วขับชนคนบาดเจ็บและเสียชีวิต, เสพยาเสพติดแล้วขับชนคนบาดเจ็บและเสียชีวิต, แข่งรถบนท้องถนนโดยไม่ได้รับอนุญาต

 

ทั้งนี้รองผู้บังคับการตำรวจทางหลวงกล่าวเสริมว่า สำหรับกระบวนการคืนคะแนนนั้นจะได้คะแนนกลับคืนมา โดยแบ่งออกเป็น 2 กรณีคือ

 

1. กรณีถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ 90 วัน ต้องเข้ารับการอบรมจากกรมการขนส่งทางบก จะได้คืนกลับมาทั้งหมด 12 คะแนน

 

2. หากพ้นกำหนดและไม่ผ่านการอบรม จะได้คืนเพียง 8 คะแนน หากโดนพักใช้ 3 ครั้งภายใน 3 ปีจะโดนพักใช้ 1 ปี และหากโดนพักใช้ซ้ำอีกภายใน 1 ปีจะโดนเพิกถอน ซึ่งต้องรอ 5 ปีจึงจะสามารถทำใบขับขี่ใหม่ได้ 

 

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่คะแนนถูกตัดเป็น 0 และยังคงฝ่าฝืน จะถูกบันทึกความผิดไว้เพื่อนำไปตัดคะแนนเมื่อได้รับคะแนนคืนในอนาคต

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising