สงครามการค้าระหว่างประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ดูเหมือนว่าจะเริ่มกลับมามีบทบาทและเป็นประเด็นให้พูดถึงกันอีกครั้ง โดยเฉพาะหลังการประชุมกลุ่ม G7 ที่เริ่มมีท่าทีต่อต้านจีนมากขึ้น
อย่างไรก็ดี ประเด็นของสงครามการค้าที่มีเค้าลางว่าจะหวนกลับมาอีกครั้ง ยังไม่ได้ส่งผลต่อบรรยากาศการลงทุนทั่วโลกมากนักในตอนนี้ แต่ถ้าความขัดแย้งเพิ่มขึ้นประเด็นนี้จะเป็นปัจจัยสำคัญที่กลับมากดดันบรรยากาศการลงทุนได้อีกครั้ง
รัฐศรัณย์ ธนไพศาลกิจ หัวหน้าฝ่ายหลักทรัพย์ต่างประเทศและฟิวเจอร์ส บล.บัวหลวง มองว่า หากสงครามการค้ากลับมาอีกครั้งจะเป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้นทั่วโลก ไม่ใช่เพียงแค่ตลาดหุ้นจีนหรือสหรัฐฯ
โดยเฉพาะตลาดหุ้นสหรัฐฯ ซึ่งปัจจุบันขยับขึ้นมาซื้อขายที่ระดับ P/E 22-23 เท่า มากกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตไปแล้ว หากมีปัจจัยลบเข้ามาก็มีโอกาสจะพักฐานได้มากกว่า
“ในช่วงครึ่งปีหลังเราน่าจะเห็นสงครามการค้ารุนแรงมากขึ้น แต่จะเป็นรูปแบบที่แตกต่างไปจากช่วงของ โดนัลด์ ทรัมป์ เพราะที่ผ่านมา โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนปัจจุบันพยายามใช้กลยุทธ์สร้างพันธมิตรกับหลายประเทศและร่วมมือสกัดจีน”
หากสงครามการค้ากลับมาจริง นักลงทุนจำเป็นจะต้องเลือก (Selective) มากขึ้น โดยเน้นไปในกลุ่มหุ้นที่ยังมีแนวโน้มจะขายสินค้าหรือบริการได้โดยได้รับผลกระทบจำกัด และเป็นสินค้าที่คนยังคงต้องการ
“ช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เริ่มเห็นสัญญาณที่น่าสนใจอย่างหนึ่งคือ หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีขนาดใหญ่เริ่มกลับมา Outperform ตลาดได้อีกครั้ง หลังจากช่วง 1 ปีก่อนหน้านี้ ราคาหุ้นในกลุ่มนี้ อาทิ Apple, Amazon แทบจะไม่ได้ขยับไปไหนเลย”
ในขณะที่หุ้นในจีนก็อาจจะเป็นภาพเดียวกัน คือหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีขนาดใหญ่มีโอกาสจะกลับมาโดดเด่นอีกครั้ง หลังจากที่ถูกกดดันอย่างต่อเนื่องจากการเข้มงวดของรัฐบาลจีน ซึ่งหากสงครามการค้าเกิดขึ้นและกดดันบรรยากาศลงทุนจริง กลุ่มเหล่านี้ที่ราคาปรับลงมาแล้วก็ไม่น่าจะกระทบนัก และในเชิงพื้นฐานของธุรกิจยังคงเดินต่อได้ ซึ่งบริษัทเหล่านี้จะเน้นการทำตลาดในจีนเป็นหลัก
นอกจากนี้ หุ้นกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค หรือกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์และสุขภาพพื้นฐาน ก็มีแนวโน้มจะเติบโตได้ท่ามกลางสงครามการค้า
“หลังจากนี้เราคงต้องดูว่าแต่ละบริษัทได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าแค่ไหน อย่างพื้นที่ในการส่งออกหลัก หรือวัตถุดิบหลักที่ต้องใช้มาจากไหน อย่างบริษัทในจีนที่เน้นขายของให้คนจีนก็อาจจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก”
สรพล วีระเมธีกุล ผู้อำนวยการอาวุโส บล.กสิกรไทย เปิดเผยว่า หลังจากที่ประเทศอย่างสหรัฐฯ และจีน เริ่มควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศได้ แต่ละประเทศก็เริ่มกลับมามองเรื่องการค้าระหว่างประเทศอีกครั้ง
ที่ผ่านมาแม้ว่าสหรัฐฯ กับจีนจะมีข้อตกลงทางการค้า เฟส 1 ซึ่งจีนทำข้อตกลงว่าจะนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงทำได้เพียง 50-60% ของมูลค่าที่ตกลงไว้ ขณะที่การเจรจาระหว่างตัวแทนการค้าของสหรัฐฯ และจีนในช่วงเดือนที่ผ่านมา ก็ยังไม่มีข้อตกลงใดๆ เพิ่มเติม
ขณะที่กลุ่มประเทศอย่างสหรัฐฯ แคนาดา และหลายประเทศในยุโรปเริ่มต่อต้านจีน รวมถึงกลุ่ม G7 ที่ตกลงตั้งโครงการ Build Back Better World เป็นการสร้างโครงสร้างพื้นฐานในประเทศกำลังพัฒนาเพื่อแข่งกับจีน รวมถึงการทำข้อตกลงทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และยุโรป และการกล่าวหาจีนในเรื่องของสิทธิมนุษยชน รวมถึงการที่สหรัฐฯ พยายามยกระดับการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อลดการนำเข้าจากจีน เหล่านี้เป็นการส่งสัญญาณว่าข้อตกลงทางการค้าเฟส 2 น่าจะเกิดขึ้นได้ยาก
“ประเด็นเหล่านี้จะกดดันบรรยากาศลงทุนขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงครึ่งปีหลัง และที่ผ่านมาเราก็เริ่มเห็นสัญญาณความกังวลในเรื่องนี้บ้างแล้ว หลังจากหลายบริษัทในจีนเริ่มย้ายฐานการผลิต เพราะมีโอกาสที่บริษัทเหล่านี้อาจจะโดนกำแพงภาษีไปตลอด ซึ่งการย้ายฐานการผลิตส่วนมากเข้าไปยังเวียดนามและไทยบางส่วน”
อย่างไรก็ดี เรื่องของสงครามการค้ายังไม่ถึงกับเป็นความเสี่ยงขาลงของตลาดหุ้นทั่วโลกแต่อย่างใด เพราะที่ผ่านมานักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังไม่ได้ตัดความเสี่ยงของปัจจัยนี้ออกไป หรือมองว่าการส่งออกจะดีขึ้นเพราะประเด็นนี้จบลง ยังคงเป็นลักษณะของการติดตามดูว่าจะมีพัฒนาการไปอย่างไร
ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจที่มีแนวโน้มจะสัมพันธ์กับสงครามการค้าโดยตรง อาทิ กลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์