เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2025 รัฐบาลของ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนต่อเศรษฐกิจโลกอีกครั้ง ด้วยการประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากหลายประเทศในอัตราที่สูงผิดปกติ พร้อมทั้งเปิดเผยสูตรการคำนวณที่แตกต่างจากแนวทางสากลโดยสิ้นเชิง โดยเลือกใช้อัตราส่วนระหว่าง ‘Trade Deficit ต่อ Imports’ แทนการอิงกับอัตราภาษีที่แท้จริง ซึ่งเป็นแนวทางที่เบี่ยงเบนจากมาตรฐานทั่วไป และก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในประชาคมโลก
สูตรการคำนวณดังกล่าว ถูกตั้งคำถามถึงความถูกต้องและความชอบธรรม ทั้งจากมุมมองทางเศรษฐศาสตร์และหลักความเป็นธรรม เนื่องจากมีจุดอ่อนหลายประการที่อาจทำลายความน่าเชื่อถือของนโยบายภาษีนี้ โดยสามารถสรุปประเด็นสำคัญได้ดังนี้
ประการแรก สูตรการคำนวณนี้ไม่สะท้อนอัตราภาษีที่แท้จริง หรืออุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers: NTBs) ที่ประเทศคู่ค้าใช้กับสหรัฐฯ
ประการที่สอง แม้สหรัฐฯ จะมีความได้เปรียบอย่างชัดเจนในภาคบริการ แต่รัฐบาลทรัมป์กลับเลือกใช้เฉพาะข้อมูลการค้าสินค้า (Goods) ในการคำนวณดุลการค้าและอัตราภาษี นับเป็นการมองข้ามภาคบริการ (Service Trade) ซึ่งถือเป็นจุดแข็งสำคัญของสหรัฐฯ ในเวทีการค้าโลก ทั้งในธุรกิจการเงิน วิศวกรรม การท่องเที่ยว หรือการศึกษา หากนำภาคบริการมารวมในการประเมินดุลการค้า ดุลขาดดุลกับหลายประเทศอาจลดลง และสามารถสะท้อนภาพความไม่สมดุลทางการค้าได้อย่างแม่นยำและเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น
ประการที่สาม สูตรการคำนวณนี้ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขององค์การการค้าโลก (WTO) และแนวทางทางเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศที่ได้รับการยอมรับโดยทั่วไป
ประการที่สี่ ประเทศกำลังพัฒนาส่วนมากจะมีสถานะที่เสียเปรียบ เนื่องจากไม่สามารถบริโภคสินค้าราคาแพงจากสหรัฐฯ ได้เทียบเท่าประเทศที่มีรายได้สูง
ประการที่ห้า สูตรการคำนวณนี้ละเลยปัจจัยด้านความสามารถในการซื้อของประเทศคู่ค้า เช่น ระดับรายได้ประชาชาติ ค่าเงิน และราคาสินค้า ซึ่งล้วนเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ควรนำมาพิจารณาร่วมด้วย
อัตราภาษีนำเข้าตอบโต้ของสหรัฐฯ (Reciprocal Tariff)
เมื่อเปรียบเทียบกับยุค Trump 1.0 ในปี 2018 ซึ่งดำเนินนโยบายขึ้นภาษีแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยเพิ่มอัตราและขยายรายการสินค้านำเข้าอย่างเป็นลำดับ จะเห็นได้ว่าในยุค Trump 2.0 กลับเปิดเกมอย่างรุนแรง ด้วยการ Raise Maximum Stake ตั้งแต่เริ่มต้น โดยมีลักษณะสำคัญดังนี้
- กำหนดอัตราภาษีในระดับสูงมาก ตามสูตรใหม่ที่เรียกว่า ‘Reciprocal Tariffs’ ซึ่งเป็นแนวคิดที่รัฐบาลคิดขึ้นเอง และไม่ได้อ้างอิงตามหลักสากล
- เรียกเก็บภาษีครอบคลุมสินค้าหลายหมวดหมู่พร้อมกัน โดยไม่รอให้กระบวนการเจรจาดำเนินไปก่อน
- เป็นการเดินเกมเชิงรุกแบบรุนแรงตั้งแต่ต้น เพื่อสร้างแรงกดดันให้ประเทศคู่ค้าตอบสนองอย่างเร่งด่วน แตกต่างจากยุค Trump 1.0 ซึ่งเน้นกลยุทธ์ ‘Incremental Pressure’ หรือแรงกดดันแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยเริ่มจากสินค้าบางประเภท เช่น เหล็กและอะลูมิเนียม ก่อนจะขยายขอบเขตไปยังกลุ่มสินค้าอื่น
แม้นโยบายดังกล่าวจะขัดกับหลักการพื้นฐานของเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ แต่ก็สะท้อนแนวคิด ‘Art of the Deal’ ซึ่งเป็นรูปแบบการเจรจาที่โดดเด่นของทรัมป์ที่อาศัยแรงกดดันเพื่อบีบให้ประเทศคู่ค้ายอมเข้าสู่โต๊ะเจรจา
สำหรับ Trade War 2.0 ทีม Wealth Research ของหลักทรัพย์บัวหลวง ประเมินว่า แนวโน้มพฤติกรรมการตอบสนองของประเทศที่ถูกเก็บภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ สามารถจำแนกได้เป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่
- กลุ่มประเทศขนาดกลางและขนาดเล็ก (เช่น ไทย เวียดนาม ฯลฯ) ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเร่งเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อขอลดอัตราภาษีนำเข้า โดยอาจเสนอ ‘soft concessions’ เช่น การลดอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (NTBs) หรือการเพิ่มคำสั่งซื้อสินค้าเกษตร พลังงาน และอาวุธจากสหรัฐฯ เนื่องจากประเทศกลุ่มนี้มีสัดส่วนการพึ่งพาการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ในระดับสูงเมื่อเทียบกับ GDP ขณะเดียวกันก็มีศักยภาพในการตอบโต้ที่จำกัด และต้องการหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ในระยะสั้น
- กลุ่มประเทศขนาดใหญ่หรือมหาอำนาจ (เช่น จีนและสหภาพยุโรป) มีแนวโน้มที่จะตอบโต้ด้วยมาตรการแข็งกร้าว เช่น การขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ การจำกัดการเข้าถึงตลาด และการส่งสัญญาณไปยังภาคธุรกิจให้ชะลอหรือหลีกเลี่ยงการลงทุนในสหรัฐฯ ก่อนเข้าสู่การเจรจาในภายหลัง เนื่องจากประเทศกลุ่มนี้มีอำนาจต่อรองสูง ไม่ยอมรับนโยบายที่ขัดกับหลักความยุติธรรมทางการค้า และให้ความสำคัญกับการรักษาภาพลักษณ์และหลักการการค้าระหว่างประเทศ
หลังจากที่สหรัฐฯ เริ่มสงครามรอบนี้ในช่วงต้นไตรมาส 2 ปี 2025 (วันที่ 2 เมษายน 2025) รวมถึงแนวโน้มที่น่าจะเห็นมาตรการตอบโต้จากหลายประเทศมหาอำนาจ ทำให้เราคาดว่าไตรมาส 2 ปี 2025 จะเป็นช่วงที่สงครามการค้าจะมีความตึงเครียดมากขึ้นหรือเป็น ‘Escalation Phase’
ตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2025 เราคาดว่าช่วงเวลาดังกล่าวจะเป็นจุดเริ่มต้นของการผ่อนคลายความตึงเครียดในเวทีสงครามการค้า โดยหลายประเทศเริ่มลดระดับความรุนแรงของมาตรการตอบโต้ และหันมาเจรจาเพื่อหาทางออกทางการทูตมากขึ้น กลุ่มประเทศขนาดกลางและขนาดเล็กมีแนวโน้มจะเริ่มบรรลุข้อตกลงแบบเฉพาะรายประเทศ (selective deals) กับสหรัฐฯ เพื่อแลกกับการลดอัตราภาษีนำเข้า ขณะที่กลุ่มประเทศขนาดใหญ่ เช่น จีนหรือสหภาพยุโรป จะเริ่มกระบวนการเจรจาในลักษณะคล้ายกับที่จีนเคยดำเนินการในช่วงปี 2018 โดยการเจรจาครั้งแรกในรอบนั้นเริ่มต้นขึ้นในเดือนธันวาคม 2018
“หากเปรียบเทียบกับสงครามการค้าในปี 2018 จะเห็นว่า เราคาดสงครามการค้าในปี 2025 มีช่วง Escalation Phase ที่สั้นกว่า โดยกินเวลาเพียงราว 3 เดือน เทียบกับราว 6 เดือนในปี 2018 ปัจจัยสำคัญมาจากกลยุทธ์ของรัฐบาลทรัมป์ในยุค Trump 2.0 ที่เน้นความรุนแรงแต่ต้น ต่างจากยุคแรกที่ใช้แนวทางค่อยเป็นค่อยไปในการกดดันคู่ค้า อย่างไรก็ดี แม้ความตึงเครียดทางการค้าจะผ่านจุดสูงสุดไปอย่างรวดเร็ว แต่เราคาดว่าเศรษฐกิจโลกยังต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งจึงจะสามารถฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่”
ภาพ: Kevin Dietsch / Getty Images, Douglas Rissing / Getty Images