โลกกำลังหวาดผวาว่าสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ซึ่งเป็นสองประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ อาจเป็นชนวนให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในหลายประเทศหรือเลวร้ายกว่านั้น ไม่ต่างจากเมื่อครั้งที่เกิดวิกฤตการเงินเมื่อ 10 ปีก่อน ภายหลังจากที่ เลห์แมน บราเธอร์ส สถาบันการเงินและวาณิชธนกิจรายใหญ่ของสหรัฐฯ ได้ประกาศล้มละลายเมื่อวันที่ 15 กันยายน ปี 2008 จนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก
บทวิเคราะห์ในนิตยสารเศรษฐศาสตร์การเมืองโลกชั้นนำอย่าง Foreign Policy ระบุว่า มีความเป็นไปได้สูงที่เศรษฐกิจโลกจะติดหล่มวิกฤตครั้งใหม่เหมือนเมื่อ 10 ปีก่อน เพราะสงครามการค้าในปัจจุบันมีรากฐานปัญหาที่คล้ายคลึงกับวิกฤตเลห์แมน บราเธอร์สในปี 2008
จากวิกฤตสู่วิกฤต
กาลเวลาผ่านพ้นไปหนึ่งทศวรรษ นับจากจุดเริ่มต้นของวิกฤตการเงิน หรือที่รู้จักกันในชื่อวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ (หรือวิกฤตซับไพรม์ตามชื่อปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพ) แม้ว่าระบบการเงินจะมีความมั่นคงขึ้นในปัจจุบัน แต่นักเศรษฐศาสตร์และผู้มีส่วนกำหนดนโยบายจำนวนมากเกิดความวิตกว่า วิกฤตรอบใหม่กำลังคืบคลานเข้ามาทุกขณะ และคราวนี้จะมีชนวนมาจากสงครามการค้าที่กำลังร้อนระอุอยู่ในเวลานี้
ไม่ใช่แค่คู่กรณีระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่กำลังงัดข้อด้วยมาตรการภาษีรวมมูลค่ากว่า 360,000 ล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น แต่ท่าทีที่ไม่ลดราวาศอกของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งมีต่อประเทศคู่ค้ารายใหญ่ ทั้งในทวีปอเมริกา ยุโรป และเอเชีย ทำให้เกิดความวิตกเพิ่มขึ้น โดยที่น้อยคนจะเข้าใจถึงความสัมพันธ์อันซับซ้อนขององค์ประกอบต่างๆ ในระบบเศรษฐกิจโลก ซึ่งเมื่อมีองค์ประกอบหรือภาคส่วนใดถูกกระทบ ย่อมส่งแรงกระเพื่อมเป็นลูกโซ่จนกลายเป็นวิกฤตเลวร้ายในท้ายที่สุด
ย้อนกลับไปตอนที่เลห์แมน บราเธอร์สประกาศล้มละลายเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนในเวลานั้นถือเป็นป้อมปราการด่านสำคัญที่ช่วยรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจโลก เพราะจีนได้ตัดสินใจเข้าถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ จำนวนมหาศาล ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการหลายๆ อย่างที่มีส่วนช่วยพยุงเศรษฐกิจสหรัฐฯ และป้องกันไม่ให้วิกฤตเศรษฐกิจถดถอย (Great Recession) ในครั้งนั้นบานปลายจนกลายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำ (Great Depression) ครั้งใหม่ หรือซ้ำรอยวิกฤตแบบในทศวรรษ 1930 โดยนอกจากความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯ กับจีนแล้ว การประสานนโยบายทางการเงินอย่างแนบแน่นระหว่าง เบน เบอร์นันกี ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ในเวลานั้น กับธนาคารกลางยุโรป (ECB) ก็ช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาด้วยเช่นกัน
แต่ปัจจุบันจะเห็นว่าป้อมปราการนั้นได้กลับกลายเป็นชนวนระเบิดของวิกฤตครั้งใหม่ โดยที่สงครามการค้ามีแนวโน้มบานปลายเป็นวิกฤตระดับโลก ซึ่งอาจฉุดรั้งเศรษฐกิจทั่วโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยอีกครั้งหรือเลวร้ายกว่านั้นมาก
ผู้สันทัดกรณีมองว่า หากสหรัฐฯ กับจีนแลกกันหมัดต่อหมัดด้วยเครื่องมือทางภาษีที่มีอยู่ สหรัฐฯ จะได้เปรียบตรงที่มียอดส่งออกสินค้าน้อยกว่ายอดนำเข้าสินค้าจากจีน ดังนั้นสหรัฐฯ จึงมีบัญชีรายชื่อสินค้าที่รอให้ขึ้นภาษีมากกว่าที่จีนมี แต่อย่าลืมว่าถ้าจีนถูกต้อนจนมุม พวกเขาอาจหันไปเล็งทางเลือกอื่นๆ และงัดมาตรการเหล่านั้นมาเล่นงานสหรัฐฯ แทน เป็นต้นว่าการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปสหรัฐฯ หรือกำหนดโควตาการนำเข้า หรือที่เลวร้ายกว่านั้นคือการเทขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่จีนถืออยู่เป็นจำนวนมาก
ด้วยเหตุนี้วิกฤตความขัดแย้งระหว่างสองยักษ์เศรษฐกิจจึงมีแนวโน้มขยายวงกว้าง จากเดิมที่ตอบโต้กันด้วยภาษีไปสู่การแลกหมัดกันด้วยเครื่องมืออื่นๆ ซึ่งสร้างความไม่แน่นอนให้กับเศรษฐกิจโลกมากขึ้นไปอีก
“หนึ่งในวิธีการที่จีนจะเลือกใช้ก็คือการเทขายพันธบัตรสหรัฐฯ” ศาสตราจารย์อลัน บลินเดอร์ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน และอดีตรองประธาน Fed ให้ความเห็น “หรือไม่อย่างนั้น จีนอาจหันไปทำอะไรที่ไม่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจโดยตรง เช่น สร้างปัญหาตึงเครียดขึ้นในทะเลจีนใต้ หรือทำอะไรที่รู้กันกับเกาหลีเหนือ”
แน่นอนว่าความเคลื่อนไหวเหล่านั้นย่อมส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจอย่างเฉียบพลัน และจะเกิดความปั่นป่วนขึ้นในตลาดเงินสหรัฐฯ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หรืออาจเลวร้ายถึงขั้นฉุดเศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่วังวนแห่งภาวะถดถอย
นักวิเคราะห์มองว่าเหตุการณ์เหล่านั้นเป็นไปได้เสมอ ตราบใดที่จีนไม่ยอมอ่อนข้อบนโต๊ะเจรจาในประเด็นเรื่องการเปิดตลาดเสรี ลดการขาดดุลการค้า และคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในเทคโนโลยีของชาวอเมริกัน
นอกจากผลลัพธ์ที่คาดเดาได้แล้ว หากศึกการค้ายืดเยื้อก็อาจสร้างผลกระทบในแบบที่ไม่คาดคิดตามมาอีกระลอกใหญ่ โดยเฉพาะปัญหาที่เกิดกับห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก
ไมเคิล สเปนซ์ นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบลแสดงทัศนะว่า ปัจจุบันประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศเริ่มผลิตชิ้นส่วนที่สร้างมูลค่าในสายพานการผลิตแล้ว จากในอดีตที่สินค้าเหล่านี้จะผลิตในประเทศพัฒนาแล้วหรือเศรษฐกิจก้าวหน้าเท่านั้น
ดังนั้นการที่โดนัลด์ ทรัมป์ตั้งกำแพงภาษีสินค้าทุน เช่น ชิ้นส่วนหรือส่วนประกอบต่างๆ แทนที่จะเป็นสินค้าขั้นสุดท้าย จึงไม่สามารถกดดันผู้ผลิตที่ตั้งโรงงานในจีนให้ย้ายฐานการผลิตหรือห่วงโซ่อุปทานกลับมายังสหรัฐฯ ได้ เพราะท้ายที่สุดผู้ผลิตแบรนด์สินค้ารายใหญ่ในสหรัฐฯ อย่าง Apple, GM และ Ford จะไม่ย้ายฐานการผลิตกลับแผ่นดินแม่ แต่อาจพิจารณาย้ายโรงงานไปตั้งในประเทศอื่นที่สามารถผลิตชิ้นส่วนที่สร้างมูลค่าได้และมีอัตราค่าแรงต่ำกว่าแทน
กรณีนี้มีตัวอย่างเห็นได้ชัดก็คือ เมื่อวันที่ 9 กันยายนที่ผ่านมา ทรัมป์ประกาศอย่างเบิกบานใจ (ผ่านทวิตเตอร์เช่นเคย) ว่า Ford ได้พับแผนจำหน่ายรถยนต์ขนาดเล็ก ‘Made in China’ ในประเทศสหรัฐอเมริกาแล้ว เพราะกลัวกำแพงภาษีที่สูงลิ่ว พร้อมกับระบุว่ารถประเภทนี้จะผลิตในสหรัฐฯ โดยที่ Ford ไม่ต้องจ่ายภาษีแม้แต่เซนต์เดียว แต่ปรากฏว่า Ford ได้ออกแถลงการณ์ตามมาในภายหลังว่า บริษัทจะไม่ผลิตรถ Ford Focus Active ในสหรัฐฯ เพราะมองไม่เห็นผลกำไรจากยอดขายที่คาดว่าไม่ถึง 50,000 คันต่อปี ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่า Ford อาจหันไปตั้งโรงงานผลิตในประเทศอื่นๆ แทน
อีกกรณีศึกษาก็คือ การขึ้นภาษีรถยนต์นำเข้าหรือชิ้นส่วนรถยนต์ทำให้ภาระไปตกอยู่กับผู้บริโภคในสหรัฐฯ เอง เพราะการเก็บภาษีเหล็กนำเข้าที่อัตรา 25% ก่อนหน้านี้ ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตรถยนต์สูงขึ้นถึง 175 เหรียญสหรัฐ (ราว 5,600 บาท) สำหรับรถราคาล้านกว่าบาท
แต่หากขึ้นภาษีรถยนต์นำเข้า 25% จะทำให้ราคารถยนต์แพงขึ้น 4,000-5,000 เหรียญ (ราว 129,000-162,000 บาท) แม้รถเหล่านั้นจะประกอบในสหรัฐฯ ก็ตาม ขณะที่การเก็บภาษีชิ้นส่วนรถจากต่างประเทศจะทำให้รถแพงขึ้นประมาณ 1,300 เหรียญ (ราว 42,000 บาท) ซึ่งแบรนด์รถสัญชาติอเมริกันที่ได้รับผลกระทบคือ GM และ Ford โดยรายแรกมียอดนำเข้ารถเกือบ 1 ใน 3 จากแคนาดาและเม็กซิโก ส่วน Ford มียอดนำเข้า 20% ของจำนวนรถทั้งหมดที่ขายในสหรัฐฯ
เมาโร กุลเลน นักเศรษฐศาสตร์การเมืองแห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย มองว่า การตัดสินใจของภาคธุรกิจอเมริกันอาจส่งผลกระทบในระยะยาวและกินขอบเขตกว้างขวางกว่าสงครามการค้าเสียอีก
“เพราะการลงทุนของบริษัทต่างๆ จะมีระยะเวลา 20-30 ปี หากมีอุปสรรคทางการค้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ บริษัทจำนวนมากอาจไตร่ตรองเกี่ยวกับห่วงโซ่คุณค่าที่มีความซับซ้อนใหม่อีกครั้ง เพราะหากท้ายที่สุดบริษัทต่างๆ ไม่สามารถจัดตั้งห่วงโซ่อุปทานที่มีประสิทธิภาพได้ ก็อาจสร้างห่วงโซ่การผลิตที่มีประสิทธิภาพน้อยกว่า ซึ่งหมายถึงการผลิตสินค้าป้อนร้านค้าหรือธุรกิจปลายน้ำด้วยราคาที่สูงกว่า ซึ่งย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อชนชั้นแรงงานและคนยากไร้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผลลัพธ์ก็คืออาจทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมย่ำแย่ลง และกลายเป็นบ่อเกิดของวิกฤตทางการเมืองที่เป็นภัยต่อโลกาภิวัตน์ก็เป็นได้
กุลเลนตั้งข้อสังเกตว่า มาตรการภาษีส่วนใหญ่จะพุ่งเป้าไปที่ธุรกิจกลางน้ำในห่วงโซ่การผลิต แม้ไม่ใช่สินค้าขั้นสุดท้าย แต่ผู้บริโภคจะรับรู้ถึงผลกระทบได้ในระยะยาว และเมื่อใดก็ตามที่ป้ายสินค้าแสดงราคาที่แพงขึ้นจนบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคแล้ว เมื่อนั้นย่อมส่งกระทบต่อปทัสถานของการค้าเสรี ซึ่งเป็นค่านิยมหลักของชาวอเมริกัน และอาจเป็นต้นตอไปสู่วิกฤตระลอกใหม่ที่ยากจะหยุดยั้ง
กุลเลนเชื่อว่าทฤษฎีการค้าที่เกี่ยวข้องกับสงครามภาษีเป็นเรื่องที่ล้าสมัยไปแล้ว “การค้าไม่ใช่แค่เรื่องของการซื้อขายสินค้าขั้นสุดท้ายเพียงอย่างเดียว ดังจะเห็นได้จากการค้าระดับทวิภาคีระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ซึ่งมีมากกว่าครึ่งหนึ่งที่เป็นชิ้นส่วนหรือส่วนประกอบที่ผลิตจากทั่วโลก ดังนั้นเราอาจคาดไม่ถึงกับผลกระทบทั้งหมดที่จะตามมา เพราะการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยาก ยกตัวอย่างเช่นตอนที่เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในญี่ปุ่นเมื่อ 10 ปีก่อน ก็สร้างผลกระทบร้ายแรงต่อห่วงโซ่การผลิต โดยมีโรงงานในต่างประเทศจำนวนมากต้องหยุดดำเนินงานหรือระงับการผลิตสินค้าชั่วคราว เนื่องจากขาดแคลนชิ้นส่วน
แต่ถึงวิกฤตจะลุกลามใหญ่โต ทว่าทรัมป์กลับยังไม่แสดงทีท่าว่าจะปรับเปลี่ยนจุดยืนทางการค้าแบบ Zero-Sum Game เพราะเขายังมองว่าสหรัฐฯ อยู่ในตำแหน่งที่ได้เปรียบกับมุมมองในทฤษฎีเกมที่ว่าผู้ชนะกินรวบ ส่วนผู้แพ้ไม่ได้อะไรเลย
ทรัมป์เพิ่งทวีตย้ำเมื่อไม่นานมานี้ว่า “เราไม่มีความกดดันที่จะทำข้อตกลงกับจีน แต่เป็นพวกเขาต่างหากที่อยู่ภายใต้แรงกดดันให้ต้องทำข้อตกลงกับเรา เพราะตลาดหุ้นของเรากำลังพุ่งขึ้น แต่ตลาดหุ้นของพวกเขากำลังดิ่งลง”
ความต่างระหว่างวิกฤตเลห์แมน บราเธอร์ส กับวิกฤตรอบใหม่
แน่นอนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับสถาบันการเงินเลห์แมน บราเธอร์ส เมื่อ 10 ปีก่อน มีความแตกต่างกับสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบันอย่างมาก เพราะปัญหาในระบบการเงินไม่เหมือนกับข้อพิพาทด้านภาษีที่คิดเป็นสัดส่วนไม่มากเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของทั้งสหรัฐฯ และจีน ขณะที่ตลาดเงินมีความผูกติดกันอย่างแนบแน่น ดังนั้นจึงสร้างความตื่นตระหนกในตลาดในระดับที่รุนแรงกว่า และสะเทือนระบบเศรษฐกิจได้รวดเร็วกว่ามาก
แต่ในความต่างก็มีความเหมือน
ในอดีตมีความเชื่อที่ผิดๆ ว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ควรแทรกแซงตลาดหุ้นหรือตลาดเงิน เพราะคิดว่าวอลล์สตรีทสามารถดูแลจัดการตัวเองได้ จนกระทั่งเกิดปัญหาหมักหมมจากมาตรการที่ผ่อนปรนเกินไป และกลายเป็นวิกฤตซับไพรม์ที่เกิดจากสินเชื่อด้อยคุณภาพ
ขณะที่สงครามการค้าในปัจจุบันก็เกิดจากความเชื่อผิดๆ ที่ว่า มาตรการกีดกันการค้าภายใต้นโยบาย ‘อเมริกาต้องมาก่อน’ จะช่วยฟื้นฟูอุตสาหกรรมสหรัฐฯ ให้กลับมายิ่งใหญ่บนเวทีโลกได้อีกครั้ง
ผู้กำหนดนโยบายได้รับบทเรียนจากวิกฤตในอดีต ดังนั้นจึงวางรากฐานเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตซ้ำรอยแบบในปี 2008 แม้ว่าปัญหาที่สั่งสมในสถาบันการเงินบางแห่งยังคงมีอยู่ แต่ธนาคารรายใหญ่ๆ มีการถือครองสินทรัพย์ไว้เป็นหลักประกันมากขึ้น มีเงินทุนสำรองมากขึ้น ขณะที่ระบบการเงินมีความผูกติดกันน้อยลงกว่าแต่ก่อน เช่นเดียวกับการกู้ยืมระยะสั้นและการเคลื่อนย้ายเงินร้อนข้ามประเทศ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งตัวการสำคัญของวิกฤตเศรษฐกิจปี 2008 ก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัด หรืออาจกล่าวได้ว่าสิ่งที่เห็นล้วนเป็นสัญญาณที่ดีขึ้น
แต่ถึงแม้ปัญหาขัดแย้งระหว่างทรัมป์กับจีน หรือทรัมป์กับประเทศอื่นๆ จะยังไม่คลี่คลาย รวมถึงยังมีภัยคุกคามในกระบวนการโลกาภิวัตน์และความเสี่ยงในระบบเศรษฐกิจอยู่ แต่ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ยังคงร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด ดังนั้นหากสงครามการค้าบานปลาย ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ก็ย่อมไม่นิ่งนอนใจ และพร้อมเป็นทัพหน้าหรือรับบทเป็นป้อมปราการที่ช่วยรักษาเสถียรภาพให้กับเศรษฐกิจโลก ไม่ว่าทรัมป์จะเห็นด้วยกับการกำหนดนโยบายการเงินเหล่านั้นหรือไม่ก็ตาม
แต่นอกจากสงครามการค้าแล้ว ซูซาน ลุนด์ นักเศรษฐศาสตร์จากบริษัทที่ปรึกษา McKinsey เตือนว่า ปัญหาหนี้ในระบบเศรษฐกิจโลกก็น่ากังวลเช่นกัน โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หนี้ที่ก่อโดยรัฐบาล บริษัทนอกภาคการเงิน และครัวเรือน มีมูลค่าสูงถึง 72 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ โดย 1 ใน 3 ของหนี้จำนวนนี้ก่อโดยบริษัทในจีน ดังนั้นการปะทุของสงครามการค้าจึงอาจฉุดรั้งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและเพิ่มสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loan) หรือหนี้เสียในจีนมากขึ้น
หากเศรษฐกิจจีนย่ำแย่ เศรษฐกิจทั่วโลกจะพลอยได้รับผลกระทบตามไปด้วยอย่างเลี่ยงไม่ได้ ไม่เว้นแม้แต่สหรัฐฯ ด้วย คำถามที่ตามมาก็คือ ทรัมป์จะใจแข็งยอมให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นจริงหรือ
เพราะจีนในเวลานี้คือยักษ์ตัวโตที่ใหญ่เกินกว่าจะปล่อยให้ล้มได้ (Too Big to Fall) ลองคิดดูว่าถ้าล้มย่อมสะเทือนไปทุกหย่อมหญ้าแน่ โลกเคยมีบทเรียนกับการปล่อยให้สถาบันการเงินซึ่งจัดอยู่ในขั้น ‘Too Big to Fall’ อย่างเลห์แมน บราเธอร์สล้มมาก่อนแล้ว แต่ถ้าเปรียบกับเลห์แมน บราเธอร์สที่หลายฝ่ายหาทางประคบประหงมเหมือนไข่ในหินเมื่อ 10 ปีที่แล้ว จีนนับว่าใหญ่กว่ามากแบบเทียบกันไม่ติดเลย
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: