×

แกะรอยที่มาแอมโมเนียมไนเตรท 2,750 ตัน ชนวนเหตุระเบิดใหญ่กรุงเบรุต

โดย THE STANDARD TEAM
05.08.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

2 mins. read
  • แอมโมเนียมไนเตรท 2,750 ตัน เป็นต้นตอการระเบิดรุนแรงเทียบเท่าแผ่นดินไหวขนาด 3.3 ในกรุงเบรุต เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 100 ราย และบาดเจ็บกว่า 4,000 ราย แต่คำถามที่ตามมาคือ สารเคมีอันตรายไปอยู่ในคลังสินค้าใกล้เขตชุมชนมากมายขนาดนั้นได้อย่างไร
  • ผู้อำนวยการกรมศุลกากรเลบานอนเคยส่งจดหมายด่วนถึงผู้พิพากษากรุงเบรุต ขอให้มีคำสั่งจัดการกับสารแอมโมเนียมไนเตรทดังกล่าวตั้งแต่ปี 2014 หรือเมื่อ 6 ปีก่อน แต่ก็ไม่มีการตัดสินใจใดๆ เกิดขึ้น จนนำไปสู่โศกนาฏกรรมช็อกโลก

 

ภาพของระเบิดรุนแรงและควันรูปทรงเห็ดขนาดยักษ์ที่เกิดขึ้นในคลังสินค้าบริเวณท่าเรือกรุงเบรุต ช่วง 18.00 น. วานนี้ (4 สิงหาคม) ตามเวลาท้องถิ่น สร้างความตกตะลึงไปทั่วโลก ขณะที่ชาวเลบานอนยิ่งตกตะลึงและโกรธแค้น เมื่อรับรู้ว่าต้นตอการระเบิดที่คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 100 ราย และบาดเจ็บมากกว่า 4,000 ราย มาจากสารเคมีแอมโมเนียมไนเตรทที่ใช้ทำระเบิด ซึ่งทางการเองนำมาเก็บไว้ในคลังสินค้าหมายเลข 12 ของท่าเรือที่อยู่ใกล้พื้นที่ชุมชนนานกว่า 6 ปี ‘โดยไม่มีการจัดการและควบคุมมาตรการความปลอดภัย’ แม้จะรับรู้ว่าสารเคมีชนิดนี้มีอันตรายร้ายแรงมากแค่ไหน

 

สารแอมโมเนียมไนเตรทนั้นสามารถนำมาเป็นส่วนประกอบในการผลิตทั้งวัตถุระเบิดหรือปุ๋ยแอมโมเนียมไนเตรท ซึ่งที่ผ่านมาเคยเป็นชนวนให้เกิดเหตุระเบิดรุนแรงทั่วโลกมาแล้วหลายครั้ง 

 

สำหรับที่มาของสารแอมโมเนียมไนเตรททั้งหมด 2,750 ตันนั้น ต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2013 โดยเรือขนส่งสินค้า MV Rhosus สัญชาติมอลโดวา ที่ชาวรัสเซียเป็นเจ้าของ เป็นผู้ขนส่งสารเคมีอันตรายดังกล่าวออกจากเมืองบาทูมี ประเทศจอร์เจีย มุ่งหน้าไปยังเมืองเบียรา ประเทศโมซัมบิก แต่ระหว่างทางกลับเกิดปัญหาเครื่องยนต์ขัดข้อง ทำให้จำเป็นต้องเทียบท่าที่กรุงเบรุต เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2013 

 

 

หลังเข้าเทียบท่า ปรากฏว่าเรือ Rhosus ถูกเจ้าหน้าที่การท่าเรือสั่งห้ามนำเรือออกทะเล เนื่องจากผลตรวจสอบโดยเจ้าหน้าที่เทคนิคพบว่า เรือนั้นขัดข้องเกินกว่าจะออกทะเลได้ ทำให้ลูกเรือและกัปตันต้องสละเรือ ขณะที่ทางการเลบานอนพยายามติดต่อเจ้าของเรือ แต่ไม่สามารถติดต่อได้ ท้ายที่สุดสารแอมโมเนียมไนเตรททั้งหมดจึงตกเป็นภาระรับผิดชอบของการท่าเรือเลบานอน ซึ่งได้เคลื่อนย้ายไปเก็บไว้ที่คลังสินค้าหมายเลข 12 ของท่าเรือเบรุตในเวลาต่อมา 

 

จากนั้นวันที่ 27 มิถุนายน 2014 ผู้อำนวยการกรมศุลกากรเลบานอน ณ ขณะนั้น ได้ส่งจดหมายด่วนถึงผู้พิพากษากรุงเบรุต ขอให้มีคำสั่งจัดการกับสารแอมโมเนียมไนเตรทดังกล่าว ซึ่งหลังจากนั้นทางเจ้าหน้าที่ศุลกากรยังได้ส่งจดหมายไปอีก 5 ฉบับ ตั้งแต่เดือนธันวาคม ปี 2014 จนถึงเดือนตุลาคม ปี 2017 เพื่อขอให้ผู้พิพากษาให้คำแนะนำในการจัดการกับสารแอมโมเนียมไนเตรท โดยเสนอตัวเลือก 3 แนวทาง คือ 

 

  1. ส่งออกไปยังประเทศอื่น 
  2. มอบให้แก่กองทัพเลบานอน 
  3. ขายให้กับบริษัทด้านวัตถุระเบิดของเลบานอน 

 

ซึ่งหนึ่งในจดหมายขอคำแนะนำที่ส่งไปนั้น ไม่ได้รับความสนใจจากผู้พิพากษาและไม่มีการตอบกลับ โดยเนื้อหาบางส่วนในจดหมายฉบับที่ถูกส่งไปเมื่อปี 2016 นั้น ระบุไว้ว่า

 

“ในมุมมองของการเก็บสินค้าอันตรายร้ายแรงเหล่านี้ไว้ในคลังสินค้า ซึ่งมีสภาพอากาศไม่เหมาะสม เรายืนยันข้อเรียกร้องให้ (ผู้พิพากษา) โปรดร้องขอไปยังสำนักงานเดินเรือ ให้ส่งออกสินค้าเหล่านี้ออกไปในทันที เพื่อรักษาความปลอดภัยของท่าเรือและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน หรือพิจารณาขายสินค้าเหล่านี้ให้แก่บริษัทเอกชนด้านวัตถุระเบิดของเลบานอน”

 

ในอีก 1 ปีถัดมา ผู้อำนวยการกรมศุลกากรเลบานอนคนใหม่ที่เข้ามารับตำแหน่งก็ส่งจดหมายไปยังผู้พิพากษากรุงเบรุตอีกครั้ง ขอให้ตัดสินใจหาทางออกในเรื่องนี้ โดยให้เหตุผลความกังวลต่ออันตรายจากการทิ้งสารเคมีเหล่านี้ไว้ในท่าเรือ แต่ท้ายที่สุดแล้วก็ไม่มีการตัดสินใจใดๆ เกิดขึ้น 

 

ซึ่งหลังจากผ่านไปเกือบ 3 ปี สารแอมโมเนียมไนเตรททั้งหมด 2,750 ตัน ก็ยังคงอยู่ในคลังสินค้าของท่าเรือเบรุต โดยที่ไม่ได้ถูกเคลื่อนย้ายไปไหน กระทั่งเกิดเหตุโศกนาฏกรรมครั้งนี้ขึ้น

 

ส่วนคำถามว่า อะไรคือสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เกิดการระเบิดขึ้นนั้น ยังคงเป็นเครื่องหมายคำถาม ซึ่งอาจเป็นเหตุเพลิงไหม้ที่ทำให้สารเคมีติดไฟ แต่จะเป็นการจงใจจุดระเบิดหรือไม่นั้นยังอยู่ในระหว่างการสอบสวน ซึ่งทางการขอให้ประชาชนอย่าเพิ่งสันนิษฐานหรือคาดเดาไปเอง   

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising