ระหว่างวันที่ 9-11 กุมภาพันธ์ 2564 บมจ.ที คิว อาร์ (TQR) เตรียมที่จะเสนอขายหุ้นไอพีโอในราคา 5.10 บาท จำนวน 60 ล้านหุ้น เพื่อระดมทุนรวม 306 ล้านบาท ในการใช้ขยายธุรกิจ ‘นายหน้ารับประกันภัยต่อ’
พันทิตา แซ่เอ็ง รองกรรมการผู้จัดการ บล.ธนชาต ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่าย และรับประกันการจำหน่ายหุ้นไอพีโอของ TQR เปิดเผยว่า ราคาเสนอขายที่ 5.10 บาท คิดเป็นค่า Forward P/E 14 เท่า ทั้งนี้ หากอิงจากกำไรในอดีต และจำนวนหุ้นหลังไอพีโอจะคิดเป็นค่า P/E 15.8 เท่า
โดยการจัดสรรหุ้นไอพีโอในครั้งนี้จะแบ่งออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่ 1. บุคคลตามดุลยพินิจของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ 30 ล้านหุ้น 2. ผู้ลงทุนสถาบัน 15 ล้านหุ้น 3. ผู้มีอุปการะคุณ ไม่เกิน 9 ล้านหุ้น และ 4. กรรมการ ผู้บริหาร พนักงานของบริษัท ไม่เกิน 6 ล้านหุ้น
ในเบื้องต้นคาดว่า TQR จะทำการซื้อขายผ่านตลาดหลักทรัพย์ MAI เป็นวันแรกในวันที่ 17 กุมภาพันธ์นี้
“ความน่าสนใจของหุ้น TQR แบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก คือ 1. เป็นบริษัทที่ไม่มีหนี้ หรือ Debt-free company 2. มีความสามารถในการทำกำไรสูง ซึ่ง 2 ปีที่ผ่านมาอัตรากำไรของบริษัทอยู่ในระดับ 33-42% และ 3. บริษัทมีแนวโน้มจะเติบโตไปกับยุค New Normal ด้วยความเสี่ยงใหม่ๆ ที่เพิ่มขึ้น ช่วยให้ผู้บริโภคมีความต้องการประกันภัยในรูปแบบใหม่ๆ”
ทั้งนี้ TQR มีพันธมิตรทางธุรกิจที่สำคัญคือ บมจ.ทีคิวเอ็ม คอร์ปอเรชั่น (TQM) ซึ่งทำธุรกิจนายหน้าประกันภัย และจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET) โดยผู้ถือหุ้นใหญ่ และผู้บริหารของ TQM คือตระกูล ‘พรรณนิภา’ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับหนึ่งของ TQR เช่นกัน ซึ่งภายหลังจากเข้าจดทะเบียนแล้ว ตระกูลพรรณนิภาจะถือหุ้นใน TQR ในสัดส่วน 44.35%
ชนะพันธุ์ พิริยะพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TQR เปิดเผยว่า TQM เป็นหนึ่งในพันธมิตรและคู่ค้าสำคัญของ TQR เช่นเดียวกับบริษัทประกันภัย และบริษัทรับประกันภัยต่อรายอื่นๆ โดยธุรกิจของ TQR เป็นเหมือน ‘คนกลาง’ ที่ทำหน้าที่ในการจัดหาสัญญาประกันภัยต่อจากบริษัทประกันภัย และบริษัทรับประกันภัยต่อ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งรายได้ของ TQR โดยหลักแล้วจะมาจากค่านายหน้าประกันภัยต่อราว 93-99%
“ภาพรวมของอุตสาหกรรมประกันภัยมีแนวโน้มเติบโตดีขึ้น โดยเฉพาะประกันภัยในรูปแบบใหม่ๆ ตามความต้องการของผู้บริโภค อย่างเมื่อปีก่อนซึ่งเกิดโควิด-19 ระบาด ทำให้มูลค่าประกันในส่วนนี้เพิ่มขึ้นมาถึงระดับ 4 พันล้านบาท ภายใน 7 เดือน และในอนาคตก็มีแนวโน้มที่ประกันในรูปแบบใหม่ๆ จะเพิ่มมากขึ้น อาทิ ประกันภัย Cyber Security”
ในแง่ต้นทุนหลักของ TQR คือเรื่องของพนักงาน ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ราว 40 คน บริษัทเชื่อว่าจะสามารถรองรับการเติบโตไปได้อย่างน้อยอีก 2-3 ปี และหากพิจารณาจากในอดีตที่ผ่านมา อัตรากำไรจากการดำเนินงานอยู่ที่ประมาณ 30-40% ซึ่งในส่วนอัตรากำไรสุทธิอยู่ระหว่าง 21-33% ซึ่งบริษัทตั้งเป้าหมายที่จะรักษาความสามารถไว้ในระดับเดียวกันนี้
สำหรับเงินที่ได้จากการระดมทุนในครั้งนี้ TQR จะใช้ใน 3 ส่วนหลัก คือ การลงทุนพัฒนาระบบไอที และโครงการพัฒนาแบบจำลอง และวิเคราะห์รูปแบบประกันภัยต่อ ซึ่งจะใช้เงินลงทุนอย่างละ 20 ล้านบาท และอีกส่วนหนึ่งจะใช้ลงทุนในอนาคตราว 255.7 ล้านบาท
ด้าน จิรยง อนุมานราชธน กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจย์ แคปปิตอล แอดไวเซอรี จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินของ TQR เปิดเผยว่า ความเสี่ยงที่สำคัญของ TQR คือการที่บริษัทประกันภัยลดการผ่องถ่ายสัญญาประกันภัยไปยังบริษัทรับประกันภัยต่อ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็จะทำให้ TQR มีรายได้ค่าธรรมเนียมลดลง แต่โดยธรรมชาติแล้วบริษัทประกันภัยมักจะกระจายสัญญาประกันภัยออกไปอยู่แล้ว เพื่อควบคุมความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
หรืออย่างในปี 2562 ซึ่งรายได้ของ TQR ชะลอตัวลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่คู่ค้ารายใหญ่มีการปรับพอร์ตประกัน ทำให้ค่าธรรมเนียมลดลงมา แต่หลังจากนั้นบริษัทก็สามารถกลับมาเติบโตได้ในปี 2563
“ที่ผ่านมาอาจจะมีความกังวลว่า ธุรกิจตัวกลางแบบ TQR กำลังจะหายไป แต่เราเชื่อมั่นว่า หากธุรกิจยังสามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) ให้กับคู่ค้าได้ ธุรกิจก็จะยังเติบโตต่อได้ ซึ่งจุดเด่นของ TQR คือการจับคู่ที่เหมาะสมระหว่างบริษัทประกันภัยและบริษัทรับประกันภัยต่อ เพราะแต่ละบริษัทก็จะมีความต้องการที่แตกต่างกันออกไป”
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์