×

TPAC – แนวโน้มกำไร 2Q64 จะฟื้นตัวสู่ระดับปกติ ขณะที่ราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้นมีผลกระทบจำกัด

14.06.2021
  • LOADING...
TPAC

เกิดอะไรขึ้น:

บมจ.พลาสติค และหีบห่อไทย (TPAC) เปิดเผยว่า ผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ในอินเดียมีค่อนข้างจำกัดและยอดคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น และบริษัทสามารถส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นไปยังลูกค้าได้ ส่งผลให้อัตรากำไรของบริษัทไม่ได้รับผลกระทบ 

 

ขณะที่แนวโน้มการเติบโตในปี 2564 ได้รับการสนับสนุนจากการขยายกำลังการผลิตในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) นอกจากนี้ บริษัทยังมองหาการควบรวมกิจการในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้า EBITDA เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวในปี 2567 จากปี 2563 หรือคิดเป็นอัตราการเติบโต 14-15% ต่อปี

 

ด้านอัตราการใช้กำลังการผลิตปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 70% สำหรับโรงงานที่บางขุนเทียน และ 30% สำหรับโรงงานที่บางนา ขณะที่โรงงานในต่างประเทศอยู่ที่ 65-70% ด้านฐานะทางการเงินของบริษัทค่อนข้างแข็งแกร่งโดยมี D/E อยู่ที่ 0.8 เท่า

 

กระทบอย่างไร:

ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้น TPAC ปรับตัวขึ้น 12.8%MoM สู่ระดับ 17.60 บาท เทียบกับ SET Index ที่ปรับตัวขึ้น 5.4%MoM สู่ระดับ 1,633.06 จุด (ข้อมูล ณ วันที่ 14 มิถุนายน 2564)

 

มุมมองระยะสั้น:

SCBS คาดแนวโน้มกำไร 2Q64 ของ TPAC จะกลับสู่ระดับปกติและเติบโต 20%YoY หลังจากมีผลขาดทุนจากการปรับปรุงรายการค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้จากการควบรวมกิจการในอินเดีย ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายครั้งเดียวใน 1Q64 

 

ทั้งนี้ ต้องติดตามราคาวัตถุดิบที่ยังคงมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงขีดความสามารถในการผลักภาระต้นทุนให้แก่ลูกค้า รวมถึงติดตามการเข้าซื้อกิจการและควบรวมกิจการตามเป้าหมายการเติบของบริษัท

 

มุมมองระยะยาว:

ด้านแนวโน้มกำไรปี 2564 ของ TPAC จะทำสถิติสูงสุดใหม่ โดยมีการเติบโตถึง 30%YoY แม้ว่าจะมีฐานสูงในปี 2563 โดยในช่วงปี 2563-2568 จะมีการเติบโตเฉลี่ยปีละ 16% นอกจากนี้ SCBS มองว่า TPAC เป็นบริษัทที่มีความชัดเจนของรายได้และกำไรจากการดำเนินงานสูง มีกลุ่มลูกค้าที่ชัดเจน และเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นที่มีความผันผวนต่ำ รวมถึงมีความแข็งแกร่งกับห่วงโซ่อุปทานในฝั่งการผลิต ทำให้บริษัทมีอำนาจในการต่อรองกับลูกค้าสูง ส่งผลให้ EBITDA Margin ของบริษัทสูงกว่าค่าเฉลี่ยในกลุ่มราว 200-300 bps

 

ข้อมูลเพิ่มเติม: 

บมจ.พลาสติค และหีบห่อไทย (TPAC) ดำเนินธุรกิจเป็นผู้ผลิตและออกแบบบรรจุภัณฑ์พลาสติกคงรูป สำหรับสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน และเวชภัณฑ์ โดยมีฐานการผลิต 10 แห่งทั้งในประเทศไทย อินเดีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising