กลายเป็นประเด็นใหญ่หลังจากที่ Toyota Motor Thailand ประกาศเดินหน้าทำ ‘ตลาดรถยนต์ไฟฟ้า’ (EV) ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ พร้อมกับเปิดเผยถึงรถรุ่นแรกที่จะนำเข้ามาทำตลาดคือ bZ4X (อ่านว่า บีซีโฟร์เอ็กซ์) ที่เพิ่งจะเปิดตัวในตลาดโลกเมื่อเร็วๆ นี้
โดยมีการนำมาจัดแสดงในงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งล่าสุดอีกด้วย เพื่อเป็นการยืนยันว่า Toyota ‘เอาจริง’ และ ‘มีความพร้อม’
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- รถยนต์ไฟฟ้าพาพุ่ง ยอดมอเตอร์โชว์ทะลุเป้า โต 14% พบ MG มียอดจองกว่า 1.3 พันคัน จับตา ‘ค่ายรถจีน’ เร่งจับลูกค้า
- สะท้านมอเตอร์โชว์ ‘MG’ ยอดจองขึ้นแท่นเบอร์ 2 เทียบเคียง ‘Isuzu และ Honda’ ชนิดหายใจรดต้นคอ
- ใครสนรถยนต์ไฟฟ้ามาทางนี้! ORA Good Cat หั่นราคาเริ่มต้นเหลือ 828,500 บาท ส่วน NEW MG ZS EV เคาะราคาเปิดตัว 949,000 บาท
(เคย) ยืนยัน ‘ไฮบริด’ มาตลอด
เหตุใด ทำไม Toyota Motor Thailand จึงเบนเข็มมาที่รถยนต์ไฟฟ้า100% ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ทุกครั้งที่มีการแถลงข่าว Toyota จะยืนยันตลอดว่า ‘ไฮบริด’ คือระบบการขับเคลื่อนที่เหมาะสมกับเมืองไทยในช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีเช่นนี้ ส่วนคำตอบของคำถาม ต้องย้อนกลับไปที่การแถลงข่าวที่เซอร์ไพรส์ที่สุดของ Toyota
เหตุการณ์เกิดขึ้นอย่างเหลือเชื่อ เมื่อ ‘อากิโอะ โตโยดะ’ นายใหญ่แห่ง Toyota Motor Corporation จัดงานแถลงข่าวที่ดูเหมือนเป็นการอัปเดตข้อมูลเฉกเช่นที่ผ่านมาเกี่ยวกับเรื่องราวของแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ตามกำหนดการที่ส่งให้สื่อมวลชนทั่วโลก
แต่ทันทีที่งานเริ่มต้นขึ้น ทุกคนต่างประหลาดใจกับการโชว์รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ 3 รุ่น เคียงคู่ bZ4X และหลังจากผ้าม่านเปิดออก รถยนต์ไฟฟ้าอีก 13 รุ่น ครบทุกเซกเมนต์ ได้ปรากฏโฉมสู่สายตาชาวโลกในบัดดล
รวมแล้ว Toyota มีรถ EV17 รุ่นพร้อมอยู่ในคลังศูนย์วิจัย เตรียมผลิตขายจริง โดยมีเป้าหมายเปิดตัวทำตลาด 30 รุ่นภายในเวลา 9 ปี
นี่คือการทำดริฟต์พร้อมโดนัทในโค้งยูเทิร์นของ Toyota เนื่องจากไม่กี่เดือนก่อนหน้า โตโยดะยังให้สัมภาษณ์ในทำนองว่า “ยังเร็วเกินไปที่จะทำรถยนต์ไฟฟ้าในเวลานี้” แต่แล้วกลายเป็น Toyota ที่เปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ด้วยจำนวนรุ่นมากที่สุดแซงหน้าผู้ผลิตรถยนต์ทุกค่ายบนโลกนี้
แรงสะเทือนถึงไทย
นโยบายดังกล่าวส่งผลให้ Toyota ทุกประเทศทั่วโลกต้องดำเนินการ ดังนั้น ประเทศไทยในฐานะตลาดที่มีความใกล้ชิดกับสำนักงานใหญ่มากที่สุดแห่งหนึ่ง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะต้องดำเนินนโยบายตามที่บริษัทแม่กำหนดเอาไว้ทันที ทั้งที่เพิ่งจะมีการลงทุนมูลค่ากว่า 22,000 ล้านบาทเพื่อผลิตรถยนต์ไฮบริดในไทย
เมื่อ Toyota ปรับทิศทางครั้งใหญ่ ในอีกด้านหนึ่งรัฐบาลไทย จากที่ปฏิเสธเรื่องของการสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าโดยตรงในลักษณะของการมอบส่วนลดแก่ผู้บริโภคมาตลอด กลับลำคลอดนโยบายสนับสนุนให้ประชาชนหันมาซื้อรถยนต์ไฟฟ้าใช้งานได้ง่ายขึ้น ด้วยการอัดฉีดเม็ดเงินให้ผู้บริโภคโดยตรง
ช่างเป็นความ ‘สอดคล้อง’ ที่ ‘บังเอิญ’ อย่างยิ่ง
เนื่องจากเงื่อนไขและมาตรการสนับสนุนบางประการ เช่น การลดภาษีสรรพสามิตลง 6%, การให้ส่วนลดสูงสุด 150,000 บาท สำหรับรถยนต์ที่ราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท และโดยเฉพาะ ‘การลดภาษีอากรนำเข้า’ ลง 20%
ทั้งหมดทำให้ข้อเสียเปรียบของการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากญี่ปุ่นหายไป เรียกว่าได้แต้มต่อเท่ากับการนำเข้าจากแดนมังกร คือไม่ต้องเสียอากรนำเข้า หรือเสีย 0% เท่ากัน (ค่ายยุโรปหรืออเมริกันจะไม่เข้าเงื่อนไข)
แน่นอนว่าทุกค่ายที่อยากจะได้รับการสนับสนุนดังกล่าวจะต้องทำตามเงื่อนไขสำคัญ คือการขึ้นไลน์ประกอบรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ซึ่งหากแบรนด์ใดยังไม่มีแผนงานนี้ จำเป็นต้องเร่งวางแผนให้แล้วเสร็จโดยไวเพื่อมิให้ตกขบวน
ยังไม่ชัดเจน
อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติ นโยบายสนับสนุนของรัฐบาลดังกล่าวยังไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการในราชกิจจานุเบกษา ดังนั้นจึงยังไม่มีผลบังคับใช้ได้ รวมถึงยังไม่ชัดเจนว่าการให้ส่วนลดจะเป็นลักษณะใด
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เกิดสุญญากาศ ประชาชนชะลอการซื้อหรือรับรถยนต์ไฟฟ้าออกไป ตั้งแต่มีข่าวการให้เงินสนับสนุนหลุดออกมา ส่งผลลบอย่างรุนแรงต่อค่ายที่มีรถยนต์ไฟฟ้าพร้อมจำหน่ายอย่าง MG และ GWM ของจีน
เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว กรมสรรพสามิตจึงออกหน้าในการเซ็น MOU กับค่ายรถยนต์ต่างๆ ที่สนใจเข้าร่วม ซึ่งทั้งสองค่ายต่างเซ็นข้อตกลงทันทีก่อนที่งานมอเตอร์โชว์จะเริ่มขึ้น ทำให้สามารถประกาศราคาจำหน่ายใหม่ได้ เราจึงได้เห็นราคาใหม่ของรถ EV สองค่ายนั้นลดลงมากสุดกว่า 240,000 บาทเลยทีเดียว
กลายเป็นว่า ค่ายรถยนต์จากแดนมังกรที่มีรถพร้อมจำหน่ายและแผนการขึ้นไลน์ผลิตได้รับผลบวกจากนโยบายสนับสนุนของรัฐก่อนใครเพื่อน แม้ว่าที่ผ่านมาจะได้รับผลกระทบด้านลบไปบ้างจากลูกค้าที่ชะลอการซื้อ แต่เมื่อทุกอย่างชัดเจน ยอดขายพุ่งขึ้นทันทีทันใด เหนือกว่าเป้าหมายที่วางเอาไว้
โดยจากการรายงานข่าวล่าสุดจากทางค่าย MG ระบุว่า ผู้ที่จองตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นไป จะได้รับรถในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้
กระแสความนิยมดังกล่าวเป็นสัญญาณที่ส่งให้ค่ายรถอื่นๆ ที่อยู่ระหว่างการตัดสินใจหรืออยากเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าจำเป็นต้องเร่งพิจารณาโดยด่วน
อาจขายได้เกิน 10,000 คัน
ถึงสิ่งต่างๆ จะยังเป็นภาพที่ยัง ‘ขมุกขมัว’ แต่ด้วยมาตรการสนับสนุนของภาครัฐที่เพิ่งออกมา นับว่าส่งผลกระตุ้นตลาดรถยนต์ EV ได้อย่างมาก ทำให้การแข่งขันเริ่มคึกคักขึ้นทันที นำโดย ‘ค่ายรถจีน’ ที่อาศัยจังหวะค่ายรถกระแสหลักยังไม่พร้อมทำตลาดเร่งนำหน้าดึงส่วนแบ่งลูกค้ามาก่อน
โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ‘ผู้ท้าชิงจากแดนมังกร’ มีโอกาสที่อาจจะชิงส่วนแบ่งตลาดรวมได้ถึง 80% จากยอดขายรถยนต์ EV ที่คาดว่าจะทำได้เกินกว่า 10,000 คันในปี 2565 นี้
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีอีกหลายค่ายรถที่ขอรอดูท่าทีและความชัดเจนของนโยบายนี้อีกครั้ง เนื่องจากเมื่อพิจารณาให้ลึกลงไป ดูคล้ายกับเป็นนโยบายที่เร่งรัดออกมามากเกินไปและมีความยืดหยุ่นน้อย
รวมถึงยังไม่ชัดเจนในทางปฏิบัติ แม้ว่าประชาชนจะได้ประโยชน์ แต่จะมีความยั่งยืนและคุ้มค่าการลงทุนหรือไม่ จำเป็นต้องใช้เวลาพิจารณาอย่างถี่ถ้วนมากกว่านี้
สุดท้าย ไม่ว่านโยบายจะเป็นอย่างไร ประชาชนทุกคนคงไม่สามารถหลีกเลี่ยงการมาของยานยนต์ไฟฟ้าได้ เนื่องจากผู้ผลิตยานยนต์ทุกแบรนด์ ไม่ว่าจะรถยนต์หรือจักรยานยนต์ต่างประกาศนโยบายมุ่งหน้าไปที่การพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าทั้งสิ้น
ด้วยเหตุผลบังคับจากกฎหมายอันเข้มงวดด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อรักษาโลกใบนี้ให้ยังคงมีอากาศที่บริสุทธิ์และท้องฟ้าที่สดใสตราบนานเท่านาน
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP