อุตสาหกรรมรถยนต์กุมขมับ เจอปัญหาชิปยืดเยื้อ Toyota เผย กำไรลดลง 25% ต่ำกว่าที่คาดการณ์ หลังลดเป้าการผลิตรถยนต์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
สำนักข่าว Reuters รายงานว่า Toyota Motor Corporation ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของญี่ปุ่น ประกาศผลกำไรสุทธิในช่วงเดือนเมษายน สิ้นสุดเดือนกันยายน 2022 ลดลงเหลือ 3.79 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ 25% หลักๆ มาจากการลดเป้าหมายการผลิตประจำปีลง เพราะต้องบริหารจัดการเรื่องต้นทุนที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการขาดแคลนชิปหรือเซมิคอนดักเตอร์อย่างต่อเนื่อง
คาซูนาริ คุมาคุระ หัวหน้ากลุ่มจัดซื้อ Toyota กล่าวว่า ขณะนี้เป็นเรื่องยากที่จะคาดการณ์ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร หลังจากผลกำไรประจำไตรมาสลดลงติดต่อกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ธุรกิจกำลังเผชิญและต้องหากลยุทธ์ให้กลับมาเติบโตได้
ย้อนกลับไปในช่วงการระบาดของโควิด Toyota มีข้อได้เปรียบในการจัดการระบบซัพพลายเชน แต่ต้องมาสะดุดกับการขาดแคลนชิปที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ต้นปี ทำให้บริษัทต้องลดเป้าหมายการผลิตรายเดือนซ้ำแล้วซ้ำเล่า และยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าปัญหาชิปจะปรับตัวดีขึ้นเมื่อไร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ปัญหาชิปขาดตลาดลากยาว ‘Toyota’ ลดการผลิตรถยนต์ทั่วโลกเหลือ 850,000 คัน พร้อมปรับเป้าต่ำกว่าแผนที่วางไว้ 9.7 ล้านคัน
- อากิโอะ โทโยดะ ซีอีโอ Toyota เผยแล้ว เหตุผลที่ไม่กระโจน ‘สู่สายพาน EV’ พร้อมย้ำ รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ยังไม่ใช่กระแสหลัก
- หมดเวลากั๊ก? จริงหรือไม่ที่ ‘Toyota Yaris ATIV’ เกิดมาเพื่อ ‘ฆ่า’ ทั้งตลาด
ทั้งนี้ ทั่วโลกยังเจอปัญหาการขาดแคลนชิป สาเหตุหลักๆ มาจากการล็อกดาวน์โควิด ทำให้โรงงานผลิตหยุดชะงักและฟื้นตัวได้ช้า ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ผลิตชิปได้จัดลำดับความสำคัญให้กับกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เช่น สมาร์ทโฟนและคอมพิวเตอร์ก่อนเป็นอันดับแรก
คาซูนาริกล่าวต่อว่า สำหรับ Toyota เองยังขาดแคลนชิปและส่วนประกอบอื่นๆ ไปอีกหลายเดือน และในปี 2022 คาดว่าจะผลิตรถยนต์ได้ 9.2 ล้านคัน ลดลงจากที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ 9.7 ล้านคัน แต่ยังมากกว่าการผลิตใน 2021 ประมาณ 8.6 ล้านคัน
เช่นเดียวกับที่ Reuters รายงานเมื่อเดือนที่แล้วว่า Toyota ได้แจ้งซัพพลายเออร์หลายรายว่า บริษัทกำหนดเป้าหมายการผลิตรถยนต์ทั่วโลก 9.5 ล้านคัน และอาจลดลงได้อีก ขึ้นอยู่กับอุปทานของแผ่นเหล็ก แม่เหล็กไฟฟ้า
ท่ามกลางความมืดมน ทำให้ราคาหุ้น Toyota ปรับตัวลดลง 1.9% แน่นอนว่าทำให้นักวิเคราะห์บางคนรู้สึกผิดหวังกับประสิทธิภาพการทำงานของบริษัท อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ยังคงมองว่ามีปัจจัยบวกอีกหลายด้านที่อาจมากอบกู้สถานการณ์ให้แก่ Toyota ได้ เช่น ค่าเงินเยน
“เห็นได้จากเงินเยนที่ร่วงลงประมาณ 30% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งประโยชน์ของเงินเยนอ่อนค่าทำให้ยอดขายในต่างประเทศมีมูลค่ามากขึ้น และน่าจะช่วยเข้ามาชดเชยต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นได้”
อ้างอิง: