×

เปิดแฟ้มคดีสินบน Toyota Motor Thailand พาดพิงผู้พิพากษา พลิกคดีภาษีหมื่นล้าน

30.05.2021
  • LOADING...
คดีสินบน Toyota

จากกรณีทางการสหรัฐฯ สั่งสอบสวนคดีบริษัท Toyota Motor Thailand จ่ายสินบนแก่ผู้พิพากษาไทย เพื่อพลิกการตัดสินคดีภาษีนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์มูลค่า 350 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 1.1 หมื่นล้านบาท กลายเป็นข่าวดังไปทั่วโลก และสั่นสะเทือนองค์กรศาลยุติธรรมของไทย จนต้องมีการตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง 

 

ที่มาที่ไปของเรื่องนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร และมีตัวละครเป็นใครบ้างที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับคดีอื้อฉาวนี้ 

 

  • ย้อนไปในปี 2012 สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบังตรวจพบว่าบริษัท Toyota Motor Thailand (TMT) มีการนำเข้าและใช้สิทธิสำแดงชนิดสินค้าและประเภทพิกัด เพื่อลดอัตราภาษีชิ้นส่วนรถยนต์ Prius ที่นำเข้ามาในระหว่างปี 2010-2012 อย่างไม่ถูกต้อง เนื่องจากเดิมทีทาง TMT ได้สำแดงรายการเสียอากรนำเข้า เพื่อรับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ตามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (Japan-Thailand Economic Partnership Agreement: JTEPA) ที่กำหนดให้ชิ้นส่วนรถยนต์ที่นำเข้ามาเพื่อผลิตเป็นรถยนต์ไฮบริด และชิ้นส่วนที่มีถิ่นกำเนิดจากญี่ปุ่นมีอัตราเสียภาษีอากรเพียงร้อยละ 0-30 

 

  • สินค้าที่นำเข้ามาเป็นชิ้นส่วนรถยนต์แบบแยกเป็นชิ้นส่วนในลักษณะชิ้นส่วนสมบูรณ์ หรือ CKD (Complete Khock Down) และมีปริมาณสอดคล้องกัน ซึ่งสามารถนำมาประกอบเป็นรถยนต์สำเร็จรูปได้ จึงไม่สามารถแยกชำระอากรตามรายชนิดสินค้าได้ อีกทั้งชิ้นส่วนรถยนต์ Prius เป็นรหัส 2ZR ของเครื่องยนต์ที่มีความจุของกระบอกสูบ 1,797 ลบ.ซม. จึงต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 80 เพราะเป็นรถยนต์ที่เป็นชิ้นส่วนครบชุดสมบูรณ์ ที่ความจุกระบอกสูบไม่เกิน 1,800 ลบ.ซม.

 

  • หลังการตรวจสอบอย่างละเอียดของศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง พบว่าตั้งแต่ปี 2010-2012 ทาง TMT ได้นำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ Prius รวมแล้วกว่า 245 ครั้ง คิดเป็นจำนวนรถยนต์มากกว่า 20,000 คัน จึงมีการเรียกเก็บภาษีย้อนหลังคิดเป็นมูลค่ากว่า 1.1 หมื่นล้านบาท 

 

  • TMT โต้แย้งการเรียกเก็บภาษีย้อนหลังของกรมศุลกากร โดยได้ยื่นอุทธรณ์อ้างว่าดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายศุลกากร และตามข้อตกลง JTEPA ทุกประการ พร้อมชี้แจงข้อมูลและข้อเท็จจริงประกอบการพิจารณาในวันที่ 4 ธันวาคม 2013 และ 31 กรกฎาคม 2014 

 

  • เดือนมิถุนายน 2015 TMT ได้ยื่นฟ้องกรมศุลกากรและคณะกรรมการวินิจฉัยอากรศุลกากร ต่อศาลภาษีอากรกลาง ชี้แจงว่าการนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ Prius ในปี 2010-2012 นั้นมีการสำแดงรายการและเสียภาษีอย่างถูกต้องครบถ้วนและไม่มีการทักท้วงใดๆ จากพนักงานศุลกากร ขณะที่ยืนยันว่าการนำเข้าสินค้าเป็นไปอย่างเปิดเผยตามข้อตกลง JTEPA และไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษี ดังนั้นการที่กรมศุลกากรประเมินและเรียกเก็บภาษีย้อนหลังดังกล่าวจึงไม่เป็นธรรม

 

  • เดือนกันยายน 2017 ศาลชั้นต้นตัดสินให้ TMT ชนะคดี ก่อนที่ศุลกากรจะยื่นอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษโดยที่ประชุมใหญ่ มีคำพิพากษากลับให้ยกฟ้อง ทำให้ TMT เป็นฝ่ายแพ้คดี แต่ TMT ได้ยื่นฎีกาสู้ต่อ และศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากร อนุญาตให้รับฎีกาของโจทก์ไว้พิจารณาเมื่อ 29 มีนาคมที่ผ่านมา เนื่องจากเข้าหลักเกณฑ์หลายประการตามกฎหมาย เช่น คำพิพากษาของ 2 ศาล ขัดกัน ซึ่งศาลอนุญาตให้ขยายเวลาได้ถึงวันที่ 13 กรกฎาคม หากฝ่ายจำเลยยื่นคำแก้ฎีกามาแล้ว ศาลภาษีอากรกลางจะรวบรวมถ้อยคำสำนวนส่งศาลฎีกาเพื่อพิจารณาต่อไป

 

  • 18 มีนาคมที่ผ่านมา บริษัท Toyota Motor Corp. ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Toyota ในญี่ปุ่น เปิดเผยต่อผู้ถือหุ้นว่าได้แจ้งไปยังคณะกรรมการกำกับและดูแลตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ (SEC) และกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ (DOJ) ตั้งแต่เดือนเมษายน 2020 ว่าบริษัทลูกในไทยอย่าง TMT อาจละเมิดกฎหมายต่อต้านการติดสินบน และกำลังร่วมมือกับทางการสหรัฐฯ ในการสืบสวน

 

  • เว็บไซต์ Law360 ซึ่งเป็นเว็บไซต์รายงานข่าวและวิเคราะห์ด้านกฎหมายของสหรัฐฯ รายงานข้อมูลคดีนี้ในวันที่ 29 มีนาคม ระบุว่าทาง Toyota Motor Corp. ได้ดำเนินการสืบสวนภายในเกี่ยวกับกรณีการติดสินบน ตั้งแต่ก่อนทื่จะแจ้งทางการสหรัฐฯ นานกว่า 6 เดือน โดยให้ที่ปรึกษากฎหมายจากบริษัท Wilmerhale เป็นผู้นำในการตรวจสอบในชื่อ ‘Project Jack’ และพบข้อมูลว่าบริษัทที่ปรึกษาของ TMT ได้จ่ายเงินสินบนแก่ผู้พิพากษาและเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยหลายคน เพื่อพยายามพลิกคำตัดสินคดีภาษีนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ Prius 

 

  • 3 เมษายนที่ผ่านมา หลังปรากฏเป็นข่าวดังไปทั่วโลก สุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงว่า ยังไม่ได้รับข้อมูลหรือสามารถตรวจสอบได้อย่างแน่ชัดว่า ผู้พิพากษาคนใดกระทำการอันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับการรับสินบนหรือไม่ และยืนยันว่าคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม จะดำเนินการตรวจสอบและลงโทษอย่างเด็ดขาด

 

  • 26 พฤษภาคม เว็บไซต์ Law360 รายงานเพิ่มเติมว่า อัยการกลางของสหรัฐฯ ได้ให้คณะลูกขุนใหญ่รัฐเท็กซัส ดำเนินการหาหลักฐานในคดี TMT ติดสินบนผู้พิพากษาไทย 

 

  • รายงานยังระบุถึงเอกสารการสืบสวนภายในของ Toyota Motor Corp. ที่พบว่า TMT ได้ทำสัญญากับสำนักงานกฎหมายเอกชนแห่งหนึ่ง ในการหาช่องทางติดต่อหลังบ้านไปยังผู้พิพากษาศาลฎีกาของไทย ผ่านอดีตหัวหน้าผู้พิพากษาและที่ปรึกษา ซึ่ง TMT ได้จ่ายเงินเกือบ 18 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 562 ล้านบาท จากทั้งหมด 27 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 844 ล้านบาทเพื่อโน้มน้าวการตัดสินใจของศาลในการอุทธรณ์คดีภาษีชิ้นส่วนรถยนต์ Prius โดยเงิน 9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 281 ล้านบาท จะถูกจ่ายหาก TMT ชนะการอุทธรณ์ ขณะที่มีการเปิดเผยชื่อสำนักงานกฎหมายดังกล่าว และชื่อและรายละเอียดผู้พิพากษาระดับสูงของไทย 3 รายที่ต้องสงสัยว่าอาจเข้าไปเกี่ยวข้องกับการรับสินบนจาก TMT

 

  • 27 พฤษภาคม ทางโฆษกศาลยุติธรรมของไทย ออกมาชี้แจงว่า ไม่ได้นิ่งนอนใจและได้ประสานขอข้อมูลตรวจสอบกรณีอื้อฉาวดังกล่าวผ่านทางกระทรวงการต่างประเทศ และอยู่ระหว่างการตอบกลับจากทางการสหรัฐฯ รวมทั้งได้สอบสวนไปยังหน่วยงานต้นสังกัดของบุคคลที่ถูกพาดพิงว่ารับสินบน ซึ่งหากพบว่ามีมูลความผิดจริง จะดำเนินการตามขั้นตอนทางวินัยต่อไป ขณะที่คดียังอยู่ระหว่างการอนุญาตให้ฎีกาและขอให้รอผลการตัดสินคดีทั้งในไทยและสหรัฐฯ ยุติก่อน

 

  • 29 พฤษภาคม 2 ใน 3 ของผู้พิพากษาระดับสูงที่ถูกกล่าวหา ได้ประสานสำนักงานศาลยุติธรรม แจ้งความ ปอท. ดำเนินคดีอาญาต่อ Frank G. Runyeon กรณีโพสต์เผยแพร่ข้อความอันเป็นการใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง โดยมีลักษณะเป็นการเผยแพร่ข้อความและภาพออกไปยังสาธารณชน ทางเว็บไซด์ www.law360.com

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X