ปี 2565 ถือเป็นปีที่อุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทยยังอยู่ในภาวะการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีปัจจัยบวกจากการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง แต่ขณะเดียวกันก็มีปัจจัยลบทำให้การเติบโตไม่ได้หวือหวามากนัก
โดยยังคงมีปัจจัยด้านลบอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบอยู่อย่างต่อเนื่อง เช่น ปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ที่ยังคงยืดเยื้อ ส่งผลกระทบกับภาคการผลิตในทุกอุตสาหกรรมทั่วโลก รวมถึงปัจจัยอื่นๆ จากสถานการณ์เศรษฐกิจในภาพรวม เช่น ปัญหาด้านโลจิสติกส์ระหว่างประเทศจากต้นทุนการขนส่งสินค้าทางเรืออยู่ในระดับสูง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ยอมไม่ได้! Toyota วางแผนปรับกลยุทธ์รถยนต์ไฟฟ้าให้กับ ‘ซัพพลายเออร์’ หวังลดช่องว่างราคาและประสิทธิภาพเพื่อแข่งกับ Tesla และ BYD
- Toyota Motor ขายรถได้ 10.5 ล้านคันในปี 2022 ป้องกันตำแหน่งบริษัทที่มียอดขายมากที่สุดในโลกปีที่ 3 ติดต่อกัน
- เปิดประวัติ โคจิ ซาโตะ ผู้รับตำแหน่ง CEO คนใหม่ Toyota หลังรับไม้ต่อจาก อากิโอะ โตโยดะ พร้อมย้ำอย่าพยายามเป็นเหมือนผม
ยังมีอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นขณะที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ความผันผวนของสถานการณ์การเงินโลก ราคาพลังงานและวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลโดยตรงต่อต้นทุนการผลิตรถยนต์เพื่อจำหน่ายทั้งภายในประเทศและการส่งออก รวมถึงส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจและความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่มีต่อเศรษฐกิจไทย
ข้อมูลจาก ‘โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย’ ระบุว่า ตัวเลขยอดขายรวมภายในประเทศ ปี 2565 อยู่ที่ 849,388 คัน หรือเพิ่มขึ้น 11.9% เมื่อเทียบกับปี 2564 โดยสามารถแบ่งเป็น
- รถยนต์นั่ง 265,069 คัน เพิ่มขึ้น 5.3%
- รถเพื่อการพาณิชย์ 584,319 คัน จำนวน เพิ่มขึ้น 15.2%
- รถกระบะ 1 ตัน (รวมรถกระบะดัดแปลง) 454,875 คัน เพิ่มขึ้น 15.6%
- รถกระบะ 1 ตัน (ไม่รวมรถกระบะดัดแปลง) 388,298 คัน เพิ่มขึ้น 13.7%
สำหรับยอดขายของโตโยต้าในปี 2565 มียอดขายโดยรวมอยู่ที่ประมาณ 288,809 คัน หรือเพิ่มขึ้น 20.5% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา มีส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับ 1 หรือเท่ากับ 34% ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมด
ยักษ์ยานยนต์จากแดนซามูไรระบุว่า ยอดขายที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ส่วนแบ่งทางการตลาดรถยนต์นั่งของโตโยต้ามีการเติบโตสูงขึ้นจากปีที่แล้วอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับความสำเร็จด้านยอดขายของรถยนต์รุ่นใหม่อย่าง Veloz และ Yaris ATIV ที่ได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดีภายหลังจากการแนะนำเข้าสู่ตลาดไปเมื่อปีที่แล้ว
สำหรับแนวโน้มอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในปี 2566 โตโยต้าประเมินว่ายังคงกลับคืนสู่สภาวะปกติอย่างค่อยเป็นค่อยไป พร้อมๆ กับการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจโดยรวมทั้งหมด ขณะที่ปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนการผลิตก็จะค่อยๆ คลี่คลายลงเช่นกัน อันจะส่งผลให้อุตสาหกรรมยานยนต์เริ่มทยอยกลับคืนสู่สภาวะปกติ
โดยคาดการณ์ว่ายอดขายรถยนต์ในปี 2566 ของไทยจะอยู่ที่ 900,000 คัน หรือเพิ่มขึ้น 6.0% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว สำหรับโตโยต้ามีการตั้งเป้ายอดขายอยู่ที่ 310,000 คัน หรือเพิ่มขึ้น 7.3% โดยครองส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ 34.4% ด้วยกัน
อย่างไรก็ตาม โตโยต้าระบุว่า ในด้านผลิตภัณฑ์และการบริการสำหรับลูกค้า โตโยต้าจะพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าและพลังงานทางเลือกต่างๆ เพื่อมอบทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่เป็นไปได้สำหรับทุกคน ซึ่งต้องจับตาดูว่าจะเห็นรถรุ่นไหนที่เข้ามาวางขายในประเทศไทยบ้าง