เมื่อวานนี้ (20 พ.ค.) ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เผยแพร่ภาพนักท่องเที่ยวกำลังเหยียบปะการังผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัว ‘Thon Thamrongnawasawat’ พร้อมข้อความกระตุ้นจิตสำนึกให้แก่นักท่องเที่ยว โดยระบุว่า
ภาพเช่นนี้ไม่ควรเกิดขึ้นในทะเลไทย ในยามที่ปะการังบอบช้ำจากการฟอกขาว กลับถูกซ้ำเติมจากการท่องเที่ยวไร้สำนึก รวมถึงการให้อาหารปลาที่ทำให้ระบบนิเวศล่มสลายหนักขึ้น นั่นคือเหตุผลว่าทำไมต้องมีมาตรการต่างๆ เช่น ใช้กฎหมายควบคุมการท่องเที่ยว ฯลฯ
แม้ยังไม่มีมาตรการเหล่านั้นสำหรับสถานการณ์ปะการังฟอกขาวในตอนนี้ แต่ถ้าเราไม่ช่วยกันดูแลทะเลที่กำลังป่วยก็คงต้องใช้ระเบียบกฎเกณฑ์ช่วย ซึ่งแน่นอนว่าอาจส่งผลกระทบต่อการทำมาหากินและการท่องเที่ยว แต่ถ้าไม่ทำเช่นนั้นแล้วจะไปกันทางไหน
ยังมั่นใจว่าผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยวดีๆ มีอยู่เต็มทะเล พวกเขาพวกเธอช่วยกันเป็นหูเป็นตา เช่นภาพนี้ที่เพิ่งส่งมาจากเพื่อนธรณ์จากแนวปะการังแห่งหนึ่งในภาคตะวันออก
หวังว่าคนรักทะเลทุกคนจะช่วยกันดูแล ช่วยกันเตือน ช่วยกันบอกคนที่คงยังรู้เท่าไม่ถึงการณ์ อย่าเหยียบปะการัง อย่าให้อาหารปลา อย่าทิ้งสมอในแนวปะการัง ฯลฯ บอกเขาบอกเธอดังๆ ว่าช่วยกรุณาสงสารทะเลไทยบ้างนะครับ
นอกจากนี้ยังมีการรายงานจาก จตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่เผยถึงสถานการณ์ปะการังฟอกขาวว่า ในขณะนี้บริเวณเกาะฉางเกลือ ตำบลแสมสาร อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี พบปะการังฟอกขาว 3% ส่วนบริเวณเกาะขามใหญ่พบปะการังชนิดรวงผึ้งเกิดการฟอกขาวเช่นกัน
ขณะเดียวกัน ผลการติดตามการทดลองระหว่างการปลูกปะการังกับการลงเกาะของตัวอ่อนปะการังตามธรรมชาติที่ระดับความลึก 5 เมตร ในพื้นที่บริเวณหมู่เกาะกระ จังหวัดนครศรีธรรมราช พบว่าบริเวณทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะกระใหญ่และระหว่างเกาะกระกลางและเกาะกระเล็ก พบปะการังเขากวางได้รับความเสียหายมากถึง 90% ขณะที่บางส่วนตายและมีตะกอนคลุมทั้งโคโลนี รวมถึงมีสาหร่ายเห็ดหูหนูเกาะติดอยู่ จึงสันนิษฐานมีสาเหตุจากพายุปาบึกช่วงต้นปีที่ผ่านมา และมีปะการังบางส่วนเริ่มฟื้นตัว แต่มีการฟอกขาว 50% ทำให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่ต้องดูแลและรักษาปะการังให้ได้มากที่สุดเป็นเพราะปะการังเป็นส่วนสำคัญของระบบนิเวศทางทะเลเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นแหล่งอาหารหรือที่หลบภัยของสัตว์น้ำต่างๆ รวมถึงยังเป็นแหล่งทรัพยากรอาหารของมนุษย์อีกด้วย
ภาพ: Thon Thamrongnawasawat/Facebook
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: