วันนี้ (12 มกราคม) ทีมช่างภาพ THE STANDARD ลงพื้นที่สำรวจบรรยากาศนักท่องเที่ยวที่ทยอยเดินทางเข้ามาเที่ยวพักผ่อนในประเทศไทยตามสถานที่ต่างๆ บริเวณย่านถนนอโศกและราชประสงค์
ส่วนมากเดินทางมาทั้งแบบกลุ่มเพื่อนและแบบครอบครัว โดยร้านแลกเงินต่างประเทศตามจุดใกล้ศูนย์การค้าบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก มีนักท่องเที่ยวเข้าแถวรอแลกเงินไว้สำหรับจับจ่ายซื้อของเป็นจำนวนมาก ซึ่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดว่าจะมีรายได้จากนักท่องเที่ยวในปี 2566 รวมสูงสุด 2.38 ล้านล้านบาท จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 25 ล้านคน
ขณะที่วันนี้ ที่กระทรวงสาธารณสุข ในที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566 ได้เห็นชอบใน 3 เรื่อง
- มาตรการรองรับการเดินทางเข้าประเทศไทยเพื่อป้องกันควบคุมโรคโควิด มี 3 เรื่องย่อย คือ
- มาตรการด้านสาธารณสุขในการป้องกันควบคุมโรคโควิดของประเทศไทยสำหรับผู้เดินทางเข้าประเทศ ให้มีการบูรณาการความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว คมนาคม ต่างประเทศ สาธารณสุข และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เตรียมความพร้อมดูแลนักท่องเที่ยวและมาตรการด้านสาธารณสุข เช่น เฝ้าระวังโรคกลุ่มผู้เดินทางที่มีอาการทางเดินหายใจให้ได้รับการตรวจด้วย ATK / PCR ตรวจสายพันธุ์ของเชื้อโควิด เพิ่มกลไกการรายงานผ่านเว็บไซต์กรมควบคุมโรค เฝ้าระวัง และตรวจสายพันธุ์ในน้ำเสียจากเครื่องบิน
- แนวทางการทำประกันภัยสำหรับนักท่องเที่ยว เน้นกลุ่มผู้เดินทางจากประเทศที่กำหนดให้ขากลับประเทศต้นทางต้องมีผลตรวจ RT-PCR คือจีนและอินเดีย โดยต้องมีประกันสุขภาพวงเงินไม่น้อยกว่า 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ ครอบคลุมการรักษาโควิดตลอดช่วงระยะเวลาที่อยู่ในประเทศไทยและบวกเพิ่มอีก 7 วัน กรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองผู้ที่เดินทางเข้าประเทศไทย (เงื่อนไขตามที่กำหนด) สำหรับผู้มาประกอบภารกิจ รวมถึงลูกเรือ นักเรียน อาจจะใช้หนังสือรับรองจากหน่วยงานเจ้าภาพหรือเอกสารแสดงถึงการมีประกันรูปแบบอื่นรับรองแทน โดยเจ้าหน้าที่ด่านควบคุมโรคติดต่อจะสุ่มตรวจเอกสารรับรองประกันสุขภาพของผู้เดินทางจากประเทศดังกล่าว หากพบว่าไม่มีเอกสารประกันสุขภาพ ผู้นั้นจะต้องซื้อประกันสุขภาพก่อนเข้าเมือง
- แนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ประกอบการท่องเที่ยวเพื่อป้องกันควบคุมโรคโควิด เน้นผู้ประกอบการท่องเที่ยวและประชาชนได้รับวัคซีนโควิดครบ 4 เข็ม เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการป้องกันการป่วยหนัก
- การให้บริการวัคซีนโควิดในชาวต่างชาติ โดยให้มีการจัดระบบและกำหนดแนวทางการให้บริการวัคซีนโควิด ตามความสมัครใจและคิดค่าบริการที่เหมาะสม ภายใต้กลไก Medical Hub โดยวัคซีนที่ให้บริการจะเป็นวัคซีนที่รัฐบาลไทยจัดซื้อมาเท่านั้น และมีจุดบริการฉีดวัคซีนสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในระยะนำร่อง แบ่งเป็น
- กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้แก่ สถาบันโรคผิวหนัง โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี โรงพยาบาลเลิดสิน โรงพยาบาลราชวิถี ศูนย์การแพทย์บางรัก สถาบันบำราศนราดูร และสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง
- เชียงใหม่ ได้แก่ โรงพยาบาลประสาทเชียงใหม่
- ชลบุรี ได้แก่ ศูนย์พัทยารักษ์
- ภูเก็ต ได้แก่ หน่วยบริการที่ดำเนินการโดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต
ทั้งนี้ การบริหารจัดการวัคซีนให้คำนึงถึงปริมาณวัคซีนคงคลังที่จะไม่กระทบกับประชาชนไทย และให้จัดสรรวัคซีนให้แก่ประชาชนไทยเป็นลำดับแรก
- การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการบริหารจัดการป้องกันควบคุมโรคโควิด รองรับการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อให้มีกลไกการจัดการด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม ดำเนินการอย่างบูรณาการ มีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผลสูงสุด มีการประสานงานมาตรการที่ใช้กับผู้เดินทางอย่างไร้รอยต่อ