วานนี้ (29 พฤศจิกายน) นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงสถานการณ์ในประเทศไทยว่า จากรายงานของผู้เชี่ยวชาญในแอฟริกาใต้ พบว่าผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนส่วนใหญ่มักมีอาการเล็กน้อย บางรายมีอาการน้อยกว่าผู้ที่ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตา
โดยขณะนี้มีหลายประเทศปรับมาตรการเข้าประเทศ เช่น ออสเตรเลีย ห้ามชาวต่างชาติจาก 8 ประเทศในแอฟริกาใต้ รวมทั้งหมู่เกาะเซเชลส์เข้าประเทศ นอกจากนี้ยังมีสหราชอาณาจักร สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา แคนาดา อิสราเอล สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ญี่ปุ่น อิหร่าน บราซิล สิงคโปร์ ซึ่งแต่ละประเทศมีมาตรการที่แตกต่างกันออกไป
นพ.เฉวตสรรกล่าวต่อว่า สำหรับประเทศไทย หลังเปิดประเทศเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามารวม 122,398 ราย แยกเป็นรูปแบบ Test and Go 96,970 ราย Sandbox 20,331 ราย และระบบกักตัว 5,097 ราย พบผู้ติดเชื้อรวม 160 ราย คิดเป็น 0.13%
โดยประเทศที่เดินทางเข้ามามากที่สุด ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี สาธารณรัฐเช็ก เนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น รัสเซีย ฝรั่งเศส เกาหลีใต้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นต้น
ทั้งนี้ สธ. จะเพิ่มความเข้มข้นในการเฝ้าระวังผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศมากขึ้น โดยประสานเครือข่ายการควบคุมโรคระดับเขตติดตามนักท่องเที่ยวจาก 8 ประเทศเสี่ยงทวีปแอฟริกาใต้ที่เข้ามาก่อนหน้านี้ หากพบการติดเชื้อจะส่งตรวจแยกสายพันธุ์เพื่อให้รู้สถานการณ์และควบคุมโรคทันท่วงที
“ในการเฝ้าระวังเชื้อสายพันธุ์ใหม่ ประเทศไทยมีระบบที่เป็นมาตรฐานระดับโลก มีการตรวจหาเชื้อในจำนวนที่เพียงพอ และส่งไปศูนย์ข้อมูลสากล ขอให้ประชาชนมั่นใจในระบบเฝ้าระวัง และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด ซึ่งจะช่วยให้ปลอดภัยจากเชื้อโควิดได้ทุกสายพันธุ์” นพ.เฉวตรสรร กล่าวในท้ายที่สุด