ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางการเมือง ระหว่างกระบวนการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ผู้เชี่ยวชาญมองว่าท่องเที่ยวจะเป็นภาคส่วนหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เห็นได้จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์บางคนยังเตือนว่า หากการตั้งรัฐบาลและการจัดทำงบประมาณล่าช้าจะเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทย
ตามข้อมูลจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ระบุว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2566 มีจำนวนสะสมอยู่ที่ 6,465,737 คน เทียบกับ 498,000 คนในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 เป็นไปตามเป้าหมายของรัฐบาล ซึ่งวางแผนรับนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 3 เท่าจากจำนวนกว่า 11 ล้านคนในปี 2565 ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนว่า การท่องเที่ยวกำลังกลายเป็นปัจจัยสนับสนุนภาคธุรกิจและกิจกรรมผู้บริโภคในประเทศไทยมากขึ้น
สอดคล้องกับความคิดเห็นของ ดร.ฐิติมา ชูเชิด ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยด้านเศรษฐกิจและตลาดการเงิน Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งระบุว่า การท่องเที่ยวจะเป็นเสาหลักสำคัญที่สนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยในปีนี้ และไม่น่าจะได้รับผลกระทบจากปัจจัยด้านการเมือง
“กรณีเลวร้ายที่สุด (Worst-Case Scenario) ของเรา แม้ว่าการใช้จ่ายของรัฐบาล การบริโภค และการลงทุนอาจได้รับผลกระทบจากการจัดตั้งรัฐบาลที่ลากยาวนานกว่าที่คาดไว้ แต่การท่องเที่ยวจะไม่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยด้านการเมือง” ฐิติมากล่าว
ทั้งนี้ หากวุฒิสภา (ส.ว.) โหวตคัดค้าน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล ไม่ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี การจัดตั้งรัฐบาลอาจล่าช้าออกไปอีก ซึ่งอาจส่งผลให้งบประมาณปี 2567 ซึ่งเริ่มในเดือนตุลาคมนี้ จะส่งผลทำให้การใช้จ่ายของรัฐล่าช้าออกไปอีก
โดยเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (15 พฤษภาคม) ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่า แนวโน้มความล่าช้าของกระบวนการงบประมาณประจำปี 2567 และความไม่แน่นอนทางการเมืองทั้งก่อนและหลังการเลือกต้ัง และอัตราการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐบาลในไตรมาสแรกของปีงบประมาณซึ่งมีแนวโน้มต่ำกว่าระดับปกติ จากกรณีที่การจัดทำงบประมาณมีความล่าช้า ล้วนเป็นหนึ่งในข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงสำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2566
โดยความไม่แน่นอนทางการเมืองที่เพิ่มขึ้นยังอาจขัดขวางการเดินทางเข้าประเทศของนักท่องเที่ยวให้กลับไปสู่ระดับก่อนเกิดการระบาดที่ 40 ล้านคนในปี 2562
คริสตัล ตัน (Krystal Tan) นักเศรษฐศาสตร์จาก Australia & New Zealand Banking Group (ANZ) เตือนว่า “หากความตึงเครียดทางการเมืองลุกลามลงสู่ท้องถนน (เกิดการประท้วงบนท้องถนน) นั่นจะส่งผลกระทบทางลบต่อแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจ” พร้อมทั้งระบุว่า “นักท่องเที่ยวมีความอ่อนไหวอย่างมากต่อความไม่แน่นอนทางการเมือง”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ‘กรุงไทย’ เปิด 4 ปัจจัยหนุนท่องเที่ยวไทยฟื้นตัว คาดต้องใช้เวลาถึงปลายปี 2567 จึงจะกลับสู่ระดับก่อนโควิด
- รมว.ท่องเที่ยว ซาอุดีอาระเบีย หวังจีนเลิกคุมเข้มโควิด และเปิดให้นักท่องเที่ยวเดินทางออกนอกประเทศอีกครั้ง
- คลัง ‘หั่น’ คาดการณ์ GDP ไทยปีนี้เหลือ 3.4% เหตุการณ์ลงทุนภาคเอกชนจ่อทรุด พิษต้นทุนวัตถุดิบแพงขึ้น ยังหวังท่องเที่ยวดึง GDP ปีหน้าโต 3.8%
อ้างอิง: