×

Tourism at a crossroad: อนาคตภาคการท่องเที่ยวไทย เดินต่ออย่างไรในฟ้าหลังฝน

13.08.2021
  • LOADING...
Tourism at a crossroad

HIGHLIGHTS

  • การระบาดของโควิดถือเป็นการ Set Zero ภาคการท่องเที่ยวไทย การฟื้นตัวในระยะถัดไปจะยั่งยืนและสามารถรองรับความผันผวนได้มากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับการเลือกทางเดินที่จะออกจากวิกฤตครั้งนี้
  • ไทยควร Reposition ภาคการท่องเที่ยวใหม่ภายใต้ 2 หลักการ ได้แก่ 1. ‘Value Over Volume’ Approach และ 2. Diversification Approach โดยเริ่มจากการต่อยอดกิจกรรมที่ไทยมีศักยภาพในการแข่งขันเดิมควบคู่กับสร้างกิจกรรมใหม่ๆ ที่คาดว่าจะมีความต้องการเพิ่มขึ้น
  • อนาคตภาคการท่องเที่ยวควรเน้นขยายกลุ่ม/ความถี่ของนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติในภูมิภาคให้หลากหลายขึ้นใน 3 กลุ่ม คือ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การท่องเที่ยวที่ได้สัมผัสชีวิตคนท้องถิ่น และการท่องเที่ยวที่เกี่ยวกับการทำงาน เพื่อสร้างรายได้ที่มีเสถียรภาพและกระจายตัวสมดุลขึ้น
  • Enablers สำคัญที่จะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้คือ หน่วยงานและกลไกการขับเคลื่อนนโยบายของภาครัฐที่เป็นเอกภาพ โครงสร้างพื้นฐานทั้งระบบคมนาคมและแพลตฟอร์มด้านการท่องเที่ยว และมาตรการสนับสนุนการปรับตัวของภาคธุรกิจ เช่น เงินทุน การปรับกฎเกณฑ์ และการ Upskilled Reskilled แรงงาน 

ตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว ภาคการท่องเที่ยวไทยได้รับผลกระทบรุนแรงยืดเยื้อจากโควิด โดยนักวิเคราะห์มองว่าในปีนี้ไทยอาจมีนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่ถึง 5 แสนคน (จากเกือบ 40 ล้านคนในปี 2562 ที่สร้างรายได้ประมาณ 2 ล้านล้านบาท หรือ 11% ของ GDP) 

 

มองไปข้างหน้า การระบาดของโควิดจะไม่เพียงส่งผลกระทบระยะสั้น แต่จะเปลี่ยนพฤติกรรมนักท่องเที่ยวทั่วโลก เน้นด้านสุขภาพและสุขอนามัยเพิ่มขึ้น เป็นการท่องเที่ยวที่ปลอดภัย หลีกเลี่ยงคนพลุกพล่าน เที่ยวระยะใกล้มากขึ้น นิยมเที่ยวแบบ Niche Travel มากกว่า Mass Travel แบบเดิม และให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มความสะดวกสบายตลอดการเดินทาง โจทย์สำคัญของประเทศนอกจากจะเป็นเรื่องว่าเมื่อใดภาคการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวแล้ว เรายังต้องใช้โอกาสนี้ทบทวนปรับโครงสร้างภาคการท่องเที่ยว เพื่อให้กลับมาเติบโตขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้ยั่งยืนในโลกหลังโควิด

 

เรามีทางเลือกอะไรบ้างในการกำหนดทิศทางการพัฒนาภาคการท่องเที่ยวให้ถึงปลายทางที่เราตั้งเป้า? Old Model vs. New Positioning: Building a more sustainable footing

 

ประเด็นที่น่าสนใจจากงานเสวนา ‘ฟ้าหลังฝน มิติใหม่ท่องเที่ยวไทย’ (1) ที่ ธปท. และ บริษัท วีซ่า อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกันจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ได้เสนอบทความ Revitalising Thailand’s tourism sector: In search of enablers for future sustainability ชี้ปัญหาว่า โมเดลการท่องเที่ยวแบบเดิมๆ ของไทยอาจเพิ่มความเปราะบางและความผันผวนของรายได้ภาคการท่องเที่ยวในโลกหลังโควิด ทั้งจากการสร้างรายได้ผ่านการพึ่งพาจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมากไป ขณะที่นักท่องเที่ยวใช้จ่ายลดลง

 

รวมถึงยังมีปัญหาการกระจุกตัว ทั้งด้านสัญชาตินักท่องเที่ยว แหล่งท่องเที่ยวเดิมๆ และช่วงเวลาท่องเที่ยว โดยบทความได้นำเสนอโมเดลการท่องเที่ยวใหม่ภายใต้ 2 หลักการ ได้แก่ 1. ‘Value Over Volume’ Approach และ 2. Diversification Approach เพื่อเพิ่มมูลค่าการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติ

 

โดยหากสามารถเพิ่มจากเดิม 48,000 บาทต่อคนเป็น 60,000 บาทได้ จะทำให้ไทยมีได้รายได้เท่าเดิม แต่ด้วยนักท่องเที่ยวเพียง 32 ล้านคน อีกทั้งต้องเพิ่มสมดุลในภาคการท่องเที่ยวในมิติต่างๆ เช่น กระจายแหล่งที่มาของรายได้ ให้พึ่งพาตลาดนักท่องเที่ยวที่หลากหลายขึ้น เพื่อให้รายรับจากการท่องเที่ยวมีเสถียรภาพ และช่วยรองรับความเสี่ยงในอนาคต รวมถึงเพิ่มการกระจายรายได้ผ่านการสนับสนุนการท่องเที่ยวเมืองรองมากขึ้น และที่สำคัญต้องทำให้การท่องเที่ยวไม่สร้างต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมมากเหมือนในอดีต

 

Thailand’s tourism landscape: Old Legacy vs. New Positioning

 

 

 

อ้างอิง: บทความ Revitalising Thailand’s tourism sector: In search of enablers for future sustainability, Joint-study between Bank of Thailand and VISA International (Thailand) Ltd.

 

นอกจากนี้การปรับโครงสร้างภาคการท่องเที่ยวไปโมเดลใหม่นี้ จะสร้างการลงทุนในภาคการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น อาทิ การลงทุนด้านดิจิทัลเพื่อสนับสนุนกระแส Contactless และแพลตฟอร์มด้านการท่องเที่ยว การปรับปรุงสถานที่ท่องเที่ยวและการลงทุนในระบบการคมนาคม จากปัจจุบันที่ไทยลงทุนเพียงแค่ 13% ของรายได้ภาคการท่องเที่ยว เทียบกับประเทศคู่แข่งอื่น เช่น ฟิลิปปินส์และมาเลเซีย ที่มีสัดส่วนที่ 21% และ 27% ตามลำดับ รวมทั้งจะทำให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรการผลิต ทั้งสินค้าทุน เครื่องจักร และแรงงานไปในที่ที่จะได้รับผลดีสูงสุด และจะมีส่วนช่วยเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) การให้บริการ

 

ทั้งนี้การปรับโฉมภาคท่องเที่ยวให้พึ่งพาปัจจัยทุนมากขึ้น จากเดิมที่ภาคการท่องเที่ยวพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติและแรงงานจำนวนมาก (มากกว่า 7 ล้านคน คิดเป็น 20% ของการจ้างงานทั้งหมด) ทำให้ในช่วงเปลี่ยนผ่านแรงงานบางส่วนจำเป็นต้องมีการปรับทักษะให้สอดคล้องกับเทรนด์ใหม่ ขณะที่แรงงานส่วนเกินจำเป็นต้องได้รับการดูแลให้สามารถเปลี่ยนไปทำงานในภาคบริการอื่นที่อาจได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในอนาคต เช่น ภาคบริการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ Hospitality  และ Wellness

 

เราควรฟื้นจากมรสุมด้วยภาคการท่องเที่ยวที่มีหน้าตาอย่างไร?

New tourism landscape: Enhancing competitive edges and creating new values

 

ไทยควร Reposition ภาคการท่องเที่ยว โดยเน้นการท่องเที่ยวกลุ่มที่คาดว่าจะมีความต้องการเพิ่มขึ้น โดยเริ่มจากการต่อยอดกิจกรรมที่ไทยมีศักยภาพในการแข่งขันเดิม (Old Legacy) อยู่แล้ว เช่น ด้านธรรมชาติหรือวัฒนธรรม ควบคู่กับสร้างกิจกรรมใหม่ๆ เช่น การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การท่องเที่ยวที่ได้สัมผัสชีวิตคนท้องถิ่นที่เพิ่มมูลค่าและแรงจูงใจ พร้อมไปกับการขยายกลุ่ม/ความถี่ของการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติในภูมิภาค (Regional Travelers) เช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน จากแนวโน้มการปรับพฤติกรรมที่นักท่องเที่ยวจะเลือกเดินทางท่องเที่ยวระยะใกล้มากขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวที่นิยมเดินทางด้วยตนเอง (Free Independent Travelers: FIT) หรือกลุ่ม Customized Tour ซึ่งจะใช้จ่ายต่อทริปประมาณ 51,000 บาทต่อคน สูงกว่ากรุ๊ปทัวร์ที่ประมาณ 39,000 บาท และเน้นการรองรับนักท่องเที่ยว 3 กลุ่มหลัก ได้แก่

 

  1. กลุ่ม Medical & Wellness Tourism ที่จะได้รับความนิยมมากขึ้น ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีค่าใช้จ่ายต่อทริปสูงถึงประมาณ 80,000-120,000 บาท และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจไทยสูงกว่า 80% ของรายได้ที่ได้รับ

 

  1. กลุ่ม Green & Community-Based Tourism ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวเมืองรอง และลด Over-Tourism อีกทั้งรายได้จากนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ยังสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจถึงประมาณ 60-80% ของรายได้ที่ได้รับอีกด้วย

 

  1. กลุ่ม Business เช่น กลุ่มนักลงทุน และ Professional Staffs ที่เข้ามาทำงานในไทยหรือมาจัดสัมมนาในไทย รวมถึงกลุ่ม Work from Anywhere และผู้ติดตาม ซึ่งจะเป็นกลุ่มศักยภาพที่ใช้จ่ายสูง เพราะมีแนวโน้มที่จะอยู่นาน (ค่าใช้จ่ายต่อทริปของกลุ่ม Long Stay ที่พักมากกว่า 14 วัน ≈ 75,000 บาท) และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามนโยบายดึงดูดการลงทุนและบุคลากรต่างชาติมาทำงานในไทย

 

ภาคการท่องเที่ยวต้องการตัวช่วย (Enabler) อะไร และทำอย่างไร (How to) ให้ปรับโครงสร้างได้จริง?

 

เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวไทยมีธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องหลากหลาย ประเด็นสำคัญในการขับเคลื่อนการปรับโครงสร้าง คือการมีนโยบายแบบรวมศูนย์และเชื่อมโยงกันหมด ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายใน Ecosystem

 

  • ภาคแรงงานต้องเพิ่มทักษะหรือปรับเปลี่ยนความถนัดให้สอดคล้องเทรนด์ใหม่ ขณะที่ภาคธุรกิจต้องเร่งปรับสถานที่ เส้นทาง และกิจกรรมการท่องเที่ยว รวมถึงที่พัก เพื่อเพิ่มความน่าสนใจของเมืองรองและช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวที่หลากหลายและใช้จ่ายสูงขึ้น
  • ภาครัฐกำหนดทิศทางการพัฒนา เป้าหมาย และแผนงานที่ชัดเจน โดยกำหนดอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 และเพื่อให้บรรลุผลในทางปฏิบัติ ภาครัฐจำเป็นต้อง 

 

  1. มีหน่วยงานขับเคลื่อนที่เป็นเอกภาพ เพื่อให้นโยบายในทุกมิติมีความสอดคล้องและสามารถดำเนินการได้ทันการณ์ 

 

  1. สร้างกลไกการขับเคลื่อนแผนยุทธ์ศาสตร์ที่ชัดเจน โดยอาจพิจารณาใช้ Incentive Policy อาทิ การกำหนดค่าเยี่ยมชมหรือราคาอื่นๆ และโควตา เพื่อปรับโครงสร้างภาคการท่องเที่ยวใหม่ให้เป็นไปตามเป้าหมายในเชิงพื้นที่และเวลาที่วางไว้มากขึ้นเช่นที่หลายประเทศดำเนินการ เช่น สหรัฐอเมริกากำหนดค่าเข้าอุทยานแห่งชาติในช่วง Peak Season สูงกว่าช่วงเวลาปกติสองเท่า และฟิลิปปินส์กำหนดโควตาจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะขึ้นเกาะโบราไกย์ (Boracay Island) ได้ไม่เกิน 6,405 คนต่อวัน 

 

  1. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งระบบคมนาคมเพื่อเชื่อมเมืองรอง และนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้การท่องเที่ยวเป็นแบบ Contactless และ Seamless มากขึ้น โดยเฉพาะการยกระดับแพลตฟอร์มด้านการท่องเที่ยวเพื่อเป็นช่องทางการตลาดดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวเป้าหมาย มีระบบ Track & Trace เพื่อสร้างความมั่นใจแก่นักท่องเที่ยว รวมถึงเป็นฐานข้อมูลภาคการท่องเที่ยวที่ครบถ้วนและรวดเร็วเพื่อเป็นประโยชน์แก่ทั้งภาคธุรกิจและผู้กำหนดนโยบาย 

 

  1. สนับสนุนการปรับตัวของภาคธุรกิจและแรงงานให้สอดคล้องกับเทรนด์การท่องเที่ยวใหม่ หรือถ้าธุรกิจหรือแรงงานจำเป็นต้องออกจากภาคการท่องเที่ยว ต้องมีกลไกที่เอื้อให้เกิดการปรับตัวไปสู่ภาคเศรษฐกิจที่ยังขยายตัวได้ต่อไป เพื่อดูแลไม่ให้สูญเสียทรัพยากรมากจนเกินไป

ทั้งการสนับสนุนด้านเงินทุน การปรับกฎเกณฑ์ต่างๆ และการ Upskilled Reskilled แรงงาน เป็นต้น

 

  • ประชาชน มีส่วนสำคัญในการรักษาแหล่งท่องเที่ยวให้มีความสมบูรณ์น่าท่องเที่ยว และช่วยสร้างบรรยากาศการท่องเที่ยวที่ดีให้กับผู้มาเยือน

 

การระบาดของโควิดถือเป็นการ Set Zero ภาคการท่องเที่ยวไทย การฟื้นตัวในระยะถัดไปจะยั่งยืนมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับการเลือกทางเดินที่จะออกจากวิกฤตครั้งนี้ ทางเดินใหม่แม้จะไม่ง่าย แต่เป็นสิ่งที่จำเป็น เพื่อให้ภาคการท่องเที่ยวไทยกลับมาเติบโตได้ในฟ้าหลังฝนที่สดใสกว่าในอดีต

 

Spending and value-added per gross output

 

 

อ้างอิง: บทความ Revitalising Thailand’s tourism sector: In search of enablers for future sustainability, Joint-study between Bank of Thailand and VISA International (Thailand) Ltd.

 

หมายเหตุ: 

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://www.bot.or.th/Thai/MonetaryPolicy/EconomicConditions/Pages/ThailandFutureGrowth.aspx ภายใต้หัวข้อ Revitalising Thailand’s tourism sector: In search of enablers for future sustainability

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X