×

เช็กเครื่องจักรท่องเที่ยวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย จะฟื้นแบบไหนหลังจบศึกโควิด-19

โดย KKP Research
05.06.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • คำถามคือจะเกิดอะไรขึ้นกับเศรษฐกิจไทยเมื่อภาคการท่องเที่ยวที่เคยเป็นหัวจักรหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อยู่ๆ ก็เครื่องดับสนิทเพราะผลพวงของการแพร่ระบาดของโควิด-19
  • ประเทศไทยมีสัดส่วนรายได้การท่องเที่ยวต่อ GDP สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยรายได้ท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติคิดเป็นประมาณกว่า 18% ของ GDP สูงเป็นอันดับ 4 ของโลกในปี 2560 ในแง่หนึ่ง ตัวเลขนี้อาจเป็นความภาคภูมิใจของฝ่ายนโยบายที่ต้องการจะครองตำแหน่งนี้ให้ได้ในทุกปี แต่หากมองในมุมกลับแล้ว นี่อาจจะไม่ใช่เรื่องที่น่าดีใจนัก เพราะนั่นหมายถึงการที่ประเทศไทยไม่มีตัวขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจตัวอื่นๆ เหลืออยู่เลย
  • จริงอยู่ที่ภาคการท่องเที่ยวสร้างงานจำนวนมาก สร้างรายได้ สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ แต่ถ้าเราจะเติบโตต่อไปแบบที่ผ่านๆ มา โดยมุ่งแต่จะเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวอย่างเดียว เราคงไม่สามารถคาดหวังให้การท่องเที่ยวเป็นแหล่งรายได้ที่ยั่งยืน หรือเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของคนในประเทศในระยะยาวได้

ตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดที่แถลงโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ทุบสถิติต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในหลายมิติ มิติหนึ่งคือภาคการท่องเที่ยวที่หดตัว 100% ในเดือนเมษายน หรือพูดง่ายๆ ก็คือจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศไทยเท่ากับศูนย์คนถ้วน จากที่ปกติจะเข้ามาเฉลี่ยเดือนละ 3 ล้านกว่าคน และคาดว่าจะไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยอีกสักระยะจากมาตรการปิดประเทศห้ามการเดินทางเข้าประเทศไทยที่เริ่มมาตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม

 

ในภาวะปกติ รายได้จากการท่องเที่ยวเป็นแหล่งรายได้สำคัญของเศรษฐกิจไทย จากสถิตินักท่องเที่ยวในปีที่ผ่านมา ในแต่ละวันโดยเฉลี่ยจะมีนักทั้งท่องเที่ยวอยู่ในประเทศไทยประมาณ 1 ล้านคน ซึ่งหากวัดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจแล้วจะเปรียบเสมือนกับการมีคนไทยเพิ่มขึ้นถึง 13 ล้านคน เพราะนักท่องเที่ยวใช้จ่ายในแต่ละวันมากกว่าการใช้จ่ายโดยเฉลี่ยของคนไทยถึง 13 เท่า 

 

คำถามคือจะเกิดอะไรขึ้นกับเศรษฐกิจไทยเมื่อภาคการท่องเที่ยวที่เคยเป็นหัวจักรหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อยู่ๆ ก็เครื่องดับสนิทเพราะผลพวงของการแพร่ระบาดของโควิด-19

 

อย่าว่าแต่วิกฤตครั้งนี้แตกต่างจากในทุกๆ ครั้งที่ผ่านมา เพราะวิกฤตโควิด 19 ส่งผลให้พฤติกรรมมนุษย์และมุมมองต่อการเดินทางท่องเที่ยวเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง การเดินทางท่องเที่ยวกลายเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อการติดโรค กฎกติกาการจัดระเบียบใหม่ของการเดินทางและการรักษาระยะห่างทางสังคม ย่อมทำให้รูปแบบการท่องเที่ยวเปลี่ยนไป และส่งผลกระทบต่อรายรับและเพิ่มต้นทุนให้กับอุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยวที่กำลังเผชิญปัญหาความอยู่รอดของธุรกิจอยู่ในตอนนี้ อีกทั้งการตัดสินใจเปิดพรมแดนให้มีการท่องเที่ยวระหว่างประเทศได้อย่างเสรีก็คงจะเกิดขึ้นเป็นลำดับท้ายๆ หลังจากที่เปิดเศรษฐกิจในประเทศไปแล้ว ทำให้ยากจะคาดหวังว่าการท่องเที่ยวไทยจะกลับไปเป็นเหมือนเดิมได้ในเร็ววัน

 

แต่ท่ามกลางวิกฤตที่ทุกอย่างหยุดนิ่งนี่เอง จริงๆ แล้วอาจเป็นโอกาสทองที่เราคนไทยควรได้จะกลับมาคิดทบทวนว่าที่ผ่านมาเราพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวมากเกินไปหรือไม่ และยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวเราเดินมาถูกทางแล้วจริงหรือ

 

ปริมาณอย่างเดียวอาจไม่พอเพียง

ไม่ผิดอะไรที่ประเทศเราจะได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวมากมายมหาศาล จากการที่ประเทศเรามีของดี มีธรรมชาติที่สวยงาม มีวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าน่าค้นหา คนไทยมีมิตรไมตรีจิต ทำให้คนต่างชาติยกให้ไทยเป็นอันดับต้นๆ ของจุดหมายปลายทางของการเดินทางท่องเที่ยว

 

แต่เราเน้นการเติบโตเชิงปริมาณมากเกินไปหรือไม่ ในทุกๆ ปีการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในฐานะหน่วยงานหลักด้านการตลาดจะมีการตั้งเป้าหมายเป็นจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้จากการท่องเที่ยว โดยในแผนนำเสนอทิศทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวล่าสุดก่อนที่จะเจอโควิด-19 ได้ตั้งเป้าไว้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติต้องเพิ่มขึ้นจาก 39.8 ล้านคนในปีที่แล้วเป็น 40.8 ล้านคนในปีนี้ และรายได้จากการท่องเที่ยวจะต้องเพิ่มขึ้น 10% จากปีก่อน ถึงแม้จะมีกล่าวถึงแนวทางชูการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ แต่มิได้มีเป้าหมายที่ชี้วัดในเชิงคุณภาพ นอกเหนือไปจากเป้าหมายจำนวนและรายได้จากนักท่องเที่ยวอยู่ดี

 

ประเทศไทยมีสัดส่วนรายได้การท่องเที่ยวต่อ GDP สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยรายได้ท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติคิดเป็นประมาณกว่า 18% ของ GDP สูงเป็นอันดับ 4 ของโลกในปี 2560 ในแง่หนึ่ง ตัวเลขนี้อาจเป็นความภาคภูมิใจของฝ่ายนโยบายที่ต้องการจะครองตำแหน่งนี้ให้ได้ในทุกปี แต่หากมองในมุมกลับแล้ว นี่อาจจะไม่ใช่เรื่องที่น่าดีใจนัก เพราะนั่นหมายถึงการที่ประเทศไทยไม่มีตัวขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจตัวอื่นๆ เหลืออยู่เลย ทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวต่อรายได้ประชาชาติโดยรวมเป็นสัดส่วนสูงลิ่ว ในขณะที่เศรษฐกิจไทยโตได้อย่างสูงเพียงปีละ 3-4% ซึ่งต่ำที่สุดในภูมิภาคอาเซียน

 

การที่ตั้งเป้าหมายว่าภาคการท่องเที่ยวจะโตได้ปีละ 10% ในขณะที่เศรษฐกิจโดยรวมโตต่ำกว่ามาก หมายถึงภาคส่วนอื่นของประเทศต้องตกอยู่ในภาวะถดถอย อีกทั้งยังหมายถึงทรัพยากรของประเทศจะต้องถูกเทไปยังภาคการท่องเที่ยวมากขึ้นเรื่อยๆ จึงไม่น่าแปลกใจที่เราเห็นว่าในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา จำนวนโรงแรมที่พักในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วโดยเฉลี่ยปีละ 10% (ยังไม่นับรวมที่พักที่ไม่ได้จดทะเบียนประกอบกิจการโรงแรมที่เพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก เช่น โฮมสเตย์ หรือ Airbnb) จำนวนแรงงานที่ไหลเข้าสู่ภาคที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวก็เพิ่มขึ้นปีละ 4% โดยเฉลี่ยทุกปี

 

นอกจากนี้ การเติบโตของภาคการท่องเที่ยวไทยที่เป็นฟันเฟืองหลักของเศรษฐกิจยังกระจุกตัวในหลายมิติ นักท่องเที่ยวจากประเทศจีนมีสัดส่วนสูงถึง 1 ใน 4 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ 

 

ที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่าคือ การกระจุกตัวของรายได้จากการท่องเที่ยวในหัวเมืองหลัก ได้แก่ กรุงเทพฯ ภูเก็ต ชลบุรี และเชียงใหม่ รวมๆ แล้วคิดเป็นเกือบ 70% ของรายได้ท่องเที่ยวทั้งประเทศ การเติบโตที่อ่อนความสมดุลเช่นนี้สร้างความเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่ที่นับวันจะถ่างออกจากกันเรื่อยๆ

 

ต้นทุนที่คนทำไม่ได้แบกรับ

ไม่ใช่เพียงแต่ทรัพยากรที่ดิน เงินทุน และแรงงานที่ระดมไปกองอยู่ในภาคการท่องเที่ยวเท่านั้น ทรัพยากรทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยังทรุดโทรมอย่างรวดเร็วจากการท่องเที่ยวที่แทบไม่มีขอบเขตและเน้นปริมาณ ต้องไม่ลืมว่า นอกจากตัวเงินแล้ว นักท่องเที่ยวแต่ละคนล้วนต้องใช้ทรัพยากรของประเทศ และอาจสร้างขยะ สร้างมลพิษ สร้างความแออัดต่อชุมชนหรือความชำรุดทรุดโทรมต่อแหล่งท่องเที่ยวได้ทั้งนั้น รวมเป็นผลกระทบภายนอกเชิงลบ (Externalities) ที่ล้วนอยู่นอกกระดานคำนวณต้นทุนของทั้งผู้ประกอบการและผู้วางนโยบายจัดสรรทรัพยากรของประเทศ

 

นี่เองอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้แม้ความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวโดยรวมของไทยติดอันดับต้นๆ ของโลก คือลำดับที่ 31 จาก 140 ประเทศ แต่ดัชนีชี้วัดการท่องเที่ยวด้านความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมของไทยกลับอยู่ในลำดับที่ 130 เรียกได้ว่าแทบจะรั้งท้ายเลยทีเดียว

 

ปัญหานักท่องเที่ยวล้นเกินขีดความสามารถในการรองรับ หรือ ‘Overtourism’ ไม่เพียงแต่ทำให้ประเทศต้องเผชิญกับความเสื่อมโทรมของทรัพยากรสิ่งแวดล้อม และต้องแบกรับต้นทุนในการกำจัดขยะมลพิษเท่านั้น แต่โดยปริยายยังเป็นการผลักให้นักท่องเที่ยวคุณภาพดี ที่ต้องการความสงบในการพักผ่อน หรือต้องการมาดูดซับธรรมชาติและวิถีชีวิตของวัฒนธรรมพื้นเมือง ไม่รู้สึกดึงดูดที่จะมาไทยอีกด้วย จนท้ายที่สุดเราอาจจะโตได้แต่เชิงปริมาณอย่างเดียวจริงๆ

 

หลายประเทศที่เจอกับปัญหา Mass Tourism ได้เริ่มหาทางแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมไปแล้ว ตัวอย่างเช่น เมืองเวนิสที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาถึงปีละ 25 ล้านคน ในขณะที่ประชากรท้องถิ่นมีเพียง 260,000 คน เมื่อปีที่แล้วนี้เองเริ่มมีการใช้มาตรการภาษีเป็นกลไกในการคัดกรองนักท่องเที่ยวคุณภาพ โดยเก็บภาษีเข้าเมืองเพิ่มขึ้นสำหรับนักท่องเที่ยวไปเช้าเย็นกลับ และนำเงินภาษีที่ได้ไปใช้ในการบำรุงรักษาสิ่งแวดล้อม ถึงแม้อัตราภาษีจะไม่ได้สูงอะไรมาก (อัตราสูงสุดที่ 10 ยูโร) แต่ผลลัพธ์คือทำให้นักท่องเที่ยวจำนวนหนึ่งที่มีความอ่อนไหวต่อราคามาก เลือกที่จะไม่แวะเวนิส ในประเทศอื่นๆ เช่น เมืองบาร์เซโลนา บาหลี อัมสเตอร์ดัม ก็มีมาตรการที่คล้ายคลึงกันในการรับมือกับปัญหาลักษณะนี้

 

ฟื้นมาแกร่งกว่าเดิม

จริงอยู่ที่ภาคการท่องเที่ยวสร้างงานจำนวนมาก สร้างรายได้ สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ แต่ถ้าเราจะเติบโตต่อไปแบบที่ผ่านๆ มาโดยมุ่งแต่จะเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวอย่างเดียว เราคงไม่สามารถคาดหวังให้การท่องเที่ยวเป็นแหล่งรายได้ที่ยั่งยืนหรือเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของคนในประเทศในระยะยาวได้

 

โดยเฉพาะในระยะข้างหน้าที่การแข่งขันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม กัมพูชา พม่า ยิ่งทำให้ไทยเราต้องวางแผนยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวอย่างเป็นระบบและมีวิสัยทัศน์ พัฒนาศักยภาพในการแข่งขันโดยคำนึงถึงความยั่งยืนทางสภาพแวดล้อม และการรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของไทย ไม่เน้นเพียงแข่งขันด้านราคา การใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าช่วยในการออกแบบรูปแบบการท่องเที่ยว การวางแผน การวิเคราะห์และติดตามผล ก็จะยิ่งสร้างจุดแข็งให้กับการท่องเที่ยวไทยได้อีกมาก

 

การหยุดชะงักของภาคการท่องเที่ยวในสถานการณ์ปัจจุบันนี้ มองในแง่ดีคือทำให้ภาคท่องเที่ยวไทยได้มีการเว้นวรรค ให้ธรรมชาติได้ฟื้นฟู เราเองในฐานะเจ้าของแหล่งท่องเที่ยวก็มีเวลาหยุดคิดทบทวน ไตร่ตรองว่าในวันที่การท่องเที่ยวกลับมา เราอยากจะฟื้นท่าไหน 

 

หากจะเน้นตัวเลขปริมาณเหมือนเดิมก็คงน่าเสียดายโอกาสทองของประเทศในภาวะเช่นนี้ จะดีกว่าหรือเปล่าที่เราจะมองความยั่งยืนมากกว่าเป้าหมายปีต่อปี โดยเฉพาะภาครัฐเองที่อาจต้องเริ่มลดความกระจุกตัวของทรัพยากรในภาคใดภาคหนึ่งมากเกินไป สร้างความแข็งแกร่งจากภายในให้กับเศรษฐกิจ สร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจอื่นๆ โดยยังมีมาตรการสร้างงานและโอกาสทางธุรกิจรองรับผู้คนและธุรกิจที่เคยอยู่ในภาคการท่องเที่ยวให้ดำเนินชีวิตต่อไปได้ในช่วงเปลี่ยนผ่าน

 

ความไม่แน่นอนยังมีอีกมากในเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และยังคงเป็นที่ถกเถียงกันว่าโลกหลังโควิด-19 จะเป็น ‘New Normal’ หรือกลับไปสู่ ‘Old Normal’ แต่ไม่ว่าจะอย่างไร เราไม่ควรปล่อยให้บทเรียนจากวิกฤตเช่นนี้ผ่านไปอย่างเสียเปล่า ควรใช้ห้วงเวลานี้ในการคิดใหม่ ทำใหม่ ไม่ฟื้นแบบเปราะบางและไร้ทิศทาง

เพราะนั่นย่อมหมายถึงการรอวันสะดุดล้มลงอีกรอบอย่างน่าเสียดาย

บทความโดย: ณชา อนันต์โชติกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจและกลยุทธ์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X