×

รู้จัก 10 แบรนด์ไทยที่มีมูลค่าแบรนด์องค์กรสูงสุดในปี 2017

17.08.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 Mins. Read
  • 5 แบรนด์ไทยที่มีมูลค่าสูงสุดติดต่อกัน 5 ปี ได้แก่ ซาบีน่า (หมวดธุรกิจแฟชั่น), ธนาคารไทยพาณิชย์ (หมวดธนาคาร), พีทีที โกลบอล เคมิคอล (หมวดปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์), ปูนซิเมนต์ไทย (หมวดวัสดุก่อสร้าง) และ เอไอเอส (หมวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร)
  • บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ครองแชมป์ในหมวดธุรกิจการขนส่งและโลจิสติกส์ โดยมีมูลค่าแบรนด์สูงถึง 309,111 ล้านบาท ซึ่งนับว่าสูงสุดใน 13 หมวดธุรกิจที่มีการจัดอันดับ รองลงมาคือ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) เจ้าของกลุ่มธุรกิจโรงพยาบาลกรุงเทพ มูลค่า 255,714 ล้านบาท และ บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด มูลค่า 182,151 ล้านบาท

     ถ้าคนในวงการภาพยนตร์หรือคอหนังรอคอยการประกาศรางวัลตามเวทีต่างๆ กันแทบทุกปี เช่น งานประกาศรางวัลออสการ์ หรือเทศกาลหนังเมืองคานส์ คนที่ติดตามข่าวสารแวดวงธุรกิจก็คงตื่นเต้นไปกับการจัดอันดับแบรนด์ธุรกิจชั้นนำโดยนิตยสาร Forbes หรืออันดับมหาเศรษฐีคนล่าสุดของโลกโดยสำนักข่าวชื่อดัง นอกจากจะเป็นสีสันประจำปีแล้ว การจัดอันดับเหล่านี้ยังสะท้อนให้เห็นภาพรวมการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจ โดยเฉพาะในปีนี้ที่บริษัทเทคโนโลยีพากันผงาดขึ้นมาติดอันดับท็อป 10 ของโลก

     อย่างไรก็ดี เราอดสงสัยไม่ได้ว่า แล้วการจัดอันดับแบรนด์ที่มีมูลค่าสูงสุดในวงการธุรกิจไทยจะชี้วัดจากอะไร ที่สำคัญไปกว่านั้น การจัดอันดับเหล่านี้บ่งบอกอะไรได้บ้าง

     ล่าสุด วันที่ 16 สิงหาคม 2560 ศ. ดร. กุณฑลี รื่นรมย์ และ ดร. เอกก์ ภทรธนกุล อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด ได้ประกาศรายชื่อแบรนด์ไทยที่มีมูลค่าแบรนด์องค์กรสูงสุดในปี 2017 (Thailand’s Top Corporate Brand Value 2017) ใน 13 หมวดธุรกิจ จากกว่า 500 บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า CBS Valuation ซึ่งเป็นผลงานวิจัยของทั้งสองที่พัฒนามาร่วม 10 ปี คำนวณตัวเลขจากงบการเงินในรายงานประจำปีของบริษัทที่เปิดเผยต่อตลาดหลักทรัพย์เพื่อวัดมูลค่าแบรนด์องค์กร ซึ่งเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ให้ออกมาเป็นตัวเลขทางการเงิน

     ธุรกิจ 13 หมวดที่ว่านี้ ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม, ธนาคาร, ประกันภัยและประกันชีวิต, วัสดุก่อสร้าง, พัฒนาอสังหาริมทรัพย์, พลังงานและสาธารณูปโภค, พาณิชย์, การแพทย์, สื่อและสิ่งพิมพ์, การท่องเที่ยวและสันทนาการ, ขนส่งและโลจิสติกส์, ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์, เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

     ศ. ดร. กุณฑลี และ ดร. เอกก์ อธิบายเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาธุรกิจส่วนใหญ่ใช้เครื่องมือวัดมูลค่าของแบรนด์จากต่างประเทศ ซึ่งมีขั้นตอนยุ่งยากซับซ้อน จึงต้องการพัฒนาขึ้นเองและเปิดให้ภาคเอกชนใช้งานได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อส่งเสริมให้ธุรกิจไทยเข้าใจและให้ความสำคัญกับการสร้างแบรนด์องค์กร โดยปีนี้ได้ปรับเกณฑ์การตัดสิน โดยนำประเด็นของความโปร่งใสและธรรมาภิบาลขององค์กรเข้ามาประกอบการพิจารณาด้วย พร้อมชี้ว่ามูลค่าแบรนด์เป็นทรัพย์สินประเภทจับต้องไม่ได้ก็จริง แต่ก็มีผลต่อความน่าเชื่อถือของแบรนด์ รวมทั้งการสร้างแบรนด์ที่ยั่งยืนในระยะยาว

     ทั้งสองชี้ว่า การชี้วัดมูลค่าของแบรนด์องค์กรจะช่วยลดต้นทุนระยะยาว เช่น ทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักและน่าเชื่อถือ ช่วยประหยัดงบประมาณด้านการตลาด เมื่อแบรนด์มีความน่าเชื่อถือก็จะช่วยดึงดูดพนักงาน พาร์ตเนอร์ และนักลงทุนที่มีฝีมือเข้ามาร่วมงานในอนาคตนั่นเอง

 

 

เปิดโผแบรนด์ที่มีมูลค่าสูงสุด: ท่าอากาศยานไทย – เครือ รพ. กรุงเทพ – อินทัช มาแรง
     จากงานวิจัยดังกล่าว แบรนด์ไทยที่มีมูลค่าแบรนด์องค์กรสูงสุดประจำปี 2017 ใน 13 หมวดธุรกิจ มีดังนี้

1. บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
หมวด: ธุรกิจอาหาร

มูลค่า 93,089 ล้านบาท

     ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ถือเป็นธุรกิจยักษ์ใหญ่ที่ครองกิจการโรงแรมและรีสอร์ตกว่า 150 แห่ง เช่น โรงแรมอนันตรา, อวานี, โฟร์ซีซันส์, เจ ดับบลิว แมริออท เป็นต้น และยังดำเนินธุรกิจอาหารผ่านบริษัทย่อย บริษัท เดอะ ไมเนอร์ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารจานด่วนรายใหญ่ในเอเชีย ปัจจุบันดำเนินธุรกิจใน 4 ตลาดหลักคือ ไทย ออสเตรเลีย จีน และสิงคโปร์ โดยมีแบรนด์ร้านอาหารชื่อดังในเครือ เช่น เดอะ พิซซ่า คัมปานี, เดอะ คอฟฟี่ คลับ, เบรด ทอล์ก, สเวนเซ่นส์, แดรี่ ควีน, ซิซซ์เลอร์ และเบอร์เกอร์คิง

 

2. ธนาคารกสิกรไทย
หมวด: ธนาคารพาณิชย์

มูลค่า 170,007 ล้านบาท

     นักวิจัยทั้งสองท่านชี้ว่า ที่ผ่านมากสิกรไทยตื่นตัวกับกระแส Digital Banking และปรับตัวเข้าสู่ธุรกิจดิจิทัลได้รวดเร็วชัดเจน โดยเฉพาะการพัฒนานวัตกรรม Mobile Banking สำหรับทำธุรกรรมผ่านแอปฯ เป็นเจ้าแรก ซึ่งได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ปัจจุบันมีผู้ใช้งานมากถึง 5 ล้านคน จากข้อมูลของกสิกรไทยพบว่า สถิติการทำธุรกรรมบน K-Mobile Banking ในปี 2559 สูงถึง 1,688 ล้านรายการ มีมูลค่าการทำธุรกรรม 4.35 ล้านล้านบาท

 

3. กรุงเทพประกันชีวิต
หมวด: ประกันภัยและประกันชีวิต
มูลค่า 55,188 ล้านบาท

     กรุงเทพประกันชีวิต ครองแชมป์ในหมวดนี้ติดต่อกันถึง 3 ปี เนื่องจากบริษัทมีความมั่นคงสูง โดยไตรมาสแรกของปีนี้ทำกำไรราว 922 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทไม่มีภาระในการตั้งสำรองพิเศษ ทั้งยังมีสินทรัพย์รวมเพิ่มขึ้น 3% จากสิ้นปี คิดเป็น 290,904 ล้านบาท

     ก่อนหน้านี้ในปี 2556 บริษัทได้รับรางวัลแบรนด์ธุรกิจดาวรุ่งที่มีอัตราการเติบโตของมูลค่าแบรนด์องค์กรสูงสุดในหมวดการเงิน จากโครงการงานวิจัยการวัดมูลค่าและจัดอันดับแบรนด์องค์กรไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

4. บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน)
หมวด: วัสดุก่อสร้าง
มูลค่า 49,280 ล้านบาท

     ปูนซีเมนต์นครหลวง หรือปูนอินทรี ถือเป็นผู้ประกอบธุรกิจปูนซีเมนต์ชั้นนำของประเทศที่เริ่มดำเนินกิจการตั้งแต่ปี 2515 โดยปี 2558 บริษัทเริ่มเดินหน้าปรับโฉมองค์กรและระบบโครงสร้างพื้นฐานครั้งใหญ่ เพื่อก้าวสู่ยุคอุตสาหกรรมแห่ง Internet of Things

 

5. บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน)
หมวด: ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

มูลค่า 139,199 ล้านบาท

     บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN ผู้นำด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการค้าปลีกรายใหญ่ ภายใต้การดำเนินการของกลุ่มเซ็นทรัล ปัจจุบันมีศูนย์การค้า 30 แห่ง อาคารสำนักงาน 7 แห่ง โรงแรม 2 แห่ง และโครงการคอนโดมิเนียมสำหรับอยู่อาศัย 1 แห่ง

 

6. บริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน)

หมวด: พลังงานและสาธารณูปโภค

มูลค่า 65,339 ล้านบาท
     บริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) หรือ Glow Energy คือบริษัทเอกชนผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้ารายใหญ่ในไทย โดยมีลูกค้ารายหลักคือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ปีที่ผ่านมาบริษัทได้ประกาศรายงานผลประกอบการประจำปี 2559 ที่มีความแข็งแกร่ง รายได้รวมอยู่ที่ 53,902 ล้านบาท กำไรสุทธิ 8,953 ล้านบาท และยังได้ลงทุนในโรงงานไฟฟ้าพลังงานขยะอุตสาหกรรมขนาด 9 เมกะวัตต์ ในจังหวัดชลบุรี โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ภายใน 2 ปีข้างหน้า

 

7. Big C

หมวด: ธุรกิจพาณิชย์

มูลค่า 114,456 ล้านบาท

     สาเหตุที่ บมจ. บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ หรือ Big C ยังคงครองแชมป์ของหมวดพาณิชย์ในปีนี้ได้นั้น อาจเพราะว่า Big C เริ่มปรับกลยุทธ์มามุ่งขยายสาขา Mini Big C มากขึ้น แทนที่จะเน้นไฮเปอร์มาร์เก็ตอย่างเดียวดังที่ผ่านมา โดยตั้งเป้าว่าจะเป็นร้านสะดวกซื้ออันดับ 2 ของตลาดภายใน 3-5 ปีข้างหน้า และขยายสาขาได้มากกว่า 1,000 สาขา ปัจจุบัน Big C อยู่ภายใต้ ทีซีซี กรุ๊ป ของ เจริญ สิริวัฒนภักดี ที่เข้าซื้อกิจการไปเมื่อปี 2559

 

8. บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน)

หมวด: ธุรกิจบริการด้านสุขภาพ

มูลค่า 255,714 ล้านบาท
     แน่นอนว่าเมื่อพูดถึงธุรกิจการแพทย์ หลายคนย่อมนึกถึงบริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการ หรือ BDMS (Bangkok Dusit Medical Services) เป็นอันดับแรกๆ เพราะถือเป็นกลุ่มธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนแบบครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดของไทย โดยมี นพ. ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ เศรษฐีหุ้นไทยปี 2016 เป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่

     BDMS เป็นกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนที่มีเครือข่ายใหญ่ที่สุดในไทย ประกอบด้วย กลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลสมิติเวช กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท กลุ่มโรงพยาบาลเปาโล และโรงพยาบาลบีเอ็นเอช นอกจากนี้ยังมีโรงพยาบาลในกัมพูชาคือ Royal Phnom Penh Hospital และ Royal Angkor International Hospital

 

9. บริษัท วี จี ไอ โกลบอล มีเดีย จำกัด (มหาชน)

หมวด: ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์

มูลค่า 32,915 ล้านบาท

     VGI Global Media ถือเป็นเจ้าพ่อแห่งวงการสื่อ out of home ผู้ให้บริการเครือข่ายสื่อแบบครบวงจร เน้นขายพื้นที่สื่อโฆษณาโดยแทรกซึมเข้ากับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่สื่อโฆษณาตามท้องถนน รถไฟฟ้าบีทีเอส ด่านเก็บเงินทางด่วน สื่อโฆษณาในสนามบิน อาคารสำนักงาน รวมไปถึงสื่อบนบริการชำระเงิน Rabbit Digital ที่ใช้ได้กับระบบรถไฟฟ้าและร้านค้าที่เข้าร่วม

 

10. บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน)

หมวด: ธุรกิจการท่องเที่ยวและสันทนาการ

มูลค่า 33,269 ล้านบาท

     ในฐานะแชมป์สมัยที่ 3 กลุ่มธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ตของกลุ่มเซ็นทรัลไม่เพียงแต่ได้รับการยกย่องในฐานะโรงแรมชั้นนำในไทย แต่ยังประสบความสำเร็จในการรุกคืบสู่ตลาดต่างประเทศ โดยเปิดโรงแรมในตะวันออกกลางมากถึง 5 แห่ง

 

11. บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)

หมวด: ธุรกิจการขนส่งและโลจิสติกส์

มูลค่า 309,111 ล้านบาท

     จะเห็นได้ว่า บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ถือเป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงสุดใน 13 หมวดธุรกิจ หากพิจารณาตามโครงสร้าง AOT เป็นธุรกิจท่าอากาศยานสังกัดกระทรวงคมนาคม มีรายได้มาจาก 2 ส่วนหลักคือ รายได้จากกิจการการบิน ได้แก่ ค่าบริการสนามบิน (ค่าบริการในการขึ้น-ลงของอากาศยาน และค่าบริการที่เก็บอากาศยาน) ค่าบริการผู้โดยสารขาออก และค่าเครื่องอำนวยความสะดวก และรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับกิจการการบิน เช่น รายได้ส่วนแบ่งผลประโยชน์ ค่าเช่าสำนักงานและอสังหาริมทรัพย์ และรายได้จากการให้บริการ

     ที่ผ่านมารายได้ของ AOT เติบโตสูง โดยได้รับอานิสงส์จากการท่องเที่ยวที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวตามไปด้วย

     จากรายงานประจำปี 2559 พบว่า AOT มีรายได้จากกิจการการบินคิดเป็น 60.2% ของรายได้ทั้งหมด โดยได้รับอานิสงส์จากการท่องเที่ยวที่เติบโตดี แม้ว่าจะเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในต่างประเทศ เช่น เหตุการณ์ความรุนแรงในปารีส การก่อการร้ายที่ท่าอากาศยานในประเทศเบลเยียมและประเทศตุรกี แต่ AOT กลับมีกำไรสุทธิกว่า 19 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 842 ล้านบาท โดยมีรายได้รวมเพิ่มขึ้นกว่า 7.2 พันล้านบาท

     ที่สำคัญ AOT ยังลงทุนในธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น บริษัท โรงแรมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จำกัด, บริษัท ไทยเชื้อเพลิงการบิน จํากัด, บริษัท ครัวการบินภูเก็ต จํากัด, บริษัท ดอนเมือง อินเตอร์เนชั่นแนล (กิจการโรงแรม) เป็นต้น

 

12. บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

หมวด: ธุรกิจชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์

มูลค่า 50,381 ล้านบาท

     เดลต้า ถือเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมธุรกิจด้านการจัดการพลังงานและการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ มีโรงงานในไทย อินเดีย และสโลวาเกีย โดยครองแชมป์ในหมวดนี้ติดต่อกัน 3 สมัย

 

13. บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด

หมวด: เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

มูลค่า 182,151 ล้านบาท

     นับว่าเป็นธุรกิจเทเลคอมรายใหญ่ที่ปรับตัวตามกระแสสังคมโลกได้ฉับไว และสนใจลงทุนในธุรกิจและเทคโนโลยีใหม่ โดยตั้งงบกว่า 250 ล้านบาทเพื่อลงทุนในบริการดิจิทัล Internet of Things และ Big Data

 

5 แบรนด์ไทยที่มีมูลค่าสูงสุดติดต่อกัน 5 ปี (Thailand’s Top Corporate Brand Value Hall of Fame)

     นอกจากนี้ ปีนี้ยังเป็นปีแรกที่ทางผู้จัดงานได้มอบรางวัลเกียรติยศ ‘Thailand’s Top Corporate Brand Values Hall of Fame 2017’ ให้แก่องค์กรที่มีมูลค่าแบรนด์องค์กรสูงสุดต่อเนื่อง 5 ปี ได้แก่

 

 

1. บริษัท ซาบีน่า จำกัด (มหาชน)

     กลุ่มอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค หมวดธุรกิจแฟชั่น

2. ธนาคารไทยพาณิชย์

     กลุ่มอุตสาหกรรมการเงิน หมวดธุรกิจ ธนาคาร

3. บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

     กลุ่มอุตสาหกรรมสินค้าอุตสาหกรรม หมวดธุรกิจปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์

4. บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)

     กลุ่มอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง หมวดธุรกิจ วัสดุก่อสร้าง

5. บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส

     กลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยี หมวดธุรกิจ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

 

ภาพประกอบ: Karin Foxx

อ้างอิง:

FYI
  • เครื่องมือวัดมูลค่าแบรนด์องค์กร CBS Valuation (Corporate Brand Success Valuation) เป็นการนำตัวเลขจากงบการเงินในรายงานประจำปี ซึ่งเป็นข้อมูลที่บริษัทจดทะเบียนต้องเปิดเผยต่อสาธารณชนมาคำนวณ โดยสูตรการประเมินมูลค่าแบรนด์องค์กรเป็นสูตรคณิตศาสตร์ที่บูรณาการมาจากแนวคิดด้านการตลาด การเงิน และการบัญชี ทำให้สามารถวัดมูลค่าแบรนด์องค์กรออกมาเป็นตัวเลขทางการเงิน และช่วยขจัดปัญหาความลำเอียงในการประเมิน ซึ่งวิธีการประเมินดังกล่าวได้รับการยอมรับจากภาควิชาการ โดยงานวิจัยได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการต่างประเทศ และได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่นสาขาเศรษฐศาสตร์ จากคณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติในปี พ.ศ. 2557
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising