×

9 ในท็อป 10 มาร์เก็ตแคปตลาดหุ้นไทย ลุยเอาจริงสู่ Net Zero 2050

29.07.2023
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • เมื่อธุรกิจต้องทำการค้าขายกับทั่วโลก วิธีการบริหารความเสี่ยงอย่างหนึ่งคือ ต้องเร่งและดำเนินงานเรื่อง Carbon Neutrality และ Net Zero ให้เกิดขึ้นอย่างชัดเจนและเห็นเป็นรูปธรรม
  • ประเทศไทยประกาศความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 และจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2065 แต่บริษัทขนาดใหญ่ในตลาดหุ้นเลือกประกาศสู่ Net Zero 2050 ซึ่งเร็วกว่าของประเทศ
  • ผลสำรวจรายงานประจำปี 2022 พบว่า 9 ใน 10 บจ. ที่มีมาร์เก็ตแคปสูงสุดในตลาดหุ้นไทย พร้อมประกาศเดินหน้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050
  • ปี 2022 คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงและความยั่งยืนของ บจ. เน้นทบทวนแผนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่สภาพภูมิอากาศมีการเปลี่ยนแปลงเร็ว เพื่อบริหารความเสี่ยงและปรับกลยุทธ์ให้เท่ากับมาตรฐานสากล

แนวทางการอยู่ร่วมกันของคนทั่วโลกที่ยกกติกาว่า จะต้องช่วยกันดูแลสภาพภูมิอากาศบนโลกใบนี้มากขึ้นตามข้อตกลงปารีส ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วยที่มีการประกาศว่า จะมีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065

 

จะช้าหรือไม่ แต่ในมุมของการทำธุรกิจที่ต้องมีการค้าขายกับหลายประเทศ และมีผู้มีส่วนได้เสียเกี่ยวข้องมากมาย ทำให้ต้องวางแผนและเดินหน้าเรื่องนี้เร็วและเป็นรูปธรรมมากที่สุด จึงลองสำรวจรายงานประจำปีและรายงานความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) 10 อันดับแรกที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) สูงสุด ว่ามีแนวทางและกลยุทธ์กับเรื่องนี้อย่างไร โดยอ้างอิงตัวเลขจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2023

 


 

1. DELTA: Net Zero 2050 มาร์เก็ตแคป 1.315 ล้านล้านบาท

 

บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เริ่มต้นดำเนินธุรกิจด้านการผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์พาวเวอร์ซัพพลายและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่น แต่ปัจจุบันได้ขยายไปยังธุรกิจพลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และยานยนต์ไฮบริด (HEV) มีพันธกิจหลัก ‘มุ่งมั่นสร้างสรรค์นวัตกรรมการใช้พลังงานสะอาดและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เพื่ออนาคตที่ดีกว่า’ โดยหนึ่งในเป้าหมายและกลยุทธ์คือ งดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์และโซลูชันที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและประหยัดพลังงาน โดยเน้นการเพิ่มผลกระทบเชิงบวกที่มีรายได้จากผลิตภัณฑ์ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่อรายได้เบ็ดเสร็จ 30% ภายในปี 2025 และลดผลกระทบเชิงลบด้วยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 โดยมีปีฐานคือ 2021 

 

เบื้องต้นมีเป้าหมายระยะสั้นลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิทั้งขอบเขตที่ 1 และขอบเขตที่ 2 ให้ได้ 90% ภายในปี 2030 และกำหนดการใช้พลังงานหมุนเวียนระยะสั้นให้ได้ 35% ภายในปี 2025 และเป็น 100% ปี 2030 โดยมุ่งไปที่โครงการอนุรักษ์พลังงาน การผลิตพลังงานไฟฟ้าไว้ใช้เอง การลงทุนในโรงงานพลังงานหมุนเวียน สัญญาซื้อ-ขายไฟฟ้าสำหรับการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนโดยตรง และใบรับรองคุณลักษณะพลังงาน (EACs) ที่จำหน่ายแยก

 

2. AOT: ร่วมมือรับผิดชอบการปล่อยก๊าซเรือนกระจก Airport Carbon Accreditation มาร์เก็ตแคป 1.024 ล้านล้านบาท 

 

แม้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ยังกำหนดเป็น Net Zero แต่ AOT ได้เข้าร่วม Airport Carbon Accreditation (ACA) ของ Airports Council International (ACI) เพื่อแสดงเจตจำนงต้องการแสดงความรับผิดชอบต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น โดยประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจกในรูปของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2e) ที่ปล่อยจากแหล่งกำเนิดในขอบเขตของการปฏิบัติการท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่ง ตาม Airport Carbon Accreditation Guidance Document 

 

โดย AOT มีแผนแม่บทการพัฒนาที่ยั่งยืนภายใต้แนวคิด ‘การเป็นสนามบินที่เป็นพลเมืองที่ดีของสังคมและเพื่อนบ้านที่ดีของชุมชน’ (Corporate Citizenship Airport) ในทุกมุมของ ESG 

 

3. PTT: Net Zero 2050 มาร์เก็ตแคป 9.854 แสนล้านบาท

 

บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พร้อมเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยมีเป้าหมายควบคุมและลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 15% ภายในปี 2030 เทียบกับปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ณ ปี 2020 และมีเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2040 จนเข้าสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี 2050 โดยมีกลยุทธ์ดำเนินการคือ 3 P 

 

  1. Pursuit of Lower Emission เร่งปรับกระบวนการผลิตผ่านการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานด้วยการดำเนินโครงการประหยัดและอนุรักษ์พลังงาน เช่น โครงการปลดล็อกขีดจำกัดของหน่วยงานกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์โรงแยกก๊าซธรรมชาติ โครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอน (CCS) หรือการนำก๊าซคาร์บอนไปใช้ประโยชน์ (CCU) 

 

  1. Portfolio Transformation เร่งเปลี่ยนธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งสู่ธุรกิจพลังงานแห่งอนาคตและเติบโตในธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน เช่น ปี 2022 ขายหุ้น PTT Mining Limited เพื่อออกจากธุรกิจถ่านหินตามทิศทางกลยุทธ์ไปพลังงานสะอาดมากขึ้น 

 

  1. Partnership with Nature and Society เร่งปลูกป่าเพิ่ม 1 ล้านไร่ เพื่อเป็นการเพิ่มปริมาณการดูดซับก๊าซเรือนกระจกด้วยวิธีธรรมชาติ กำหนดเป้าหมายปลูกป่าบนบกและชายเลนเพิ่มอีก 2 ล้านไร่ภายในปี 2030 ซึ่งมองว่าอนาคตพื้นที่เหล่านี้จะสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนได้รวมกว่า 4.15 ล้านตันต่อปี 

 

4. ADVANC: Net Zero 2050 มาร์เก็ตแคป 6.573 แสนล้านบาท

 

บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) มีกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน 3 แนวทาง คือ 

 

  1. ขับเคลื่อนดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ 
  2. สร้างการเข้าถึงดิจิทัลให้ทุกคนในสังคม
  3. ยืนหยัดเพื่อสิ่งแวดล้อม 

 

และในปี 2022 คณะกรรมการพัฒนาสู่ความยั่งยืนเห็นชอบ ปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับความท้าทายที่อาจเกิดในอนาคตและความคาดหวังของกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย 

 

  1. การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ มีกำหนดเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 และเห็นชอบต่อนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมฉบับปรับปรุง เพื่อให้มีความหลากหลายทางชีวภาพและการปกป้องรักษาป่าไม้ เพื่อนำมาใช้เป็นกรอบการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมที่ให้ความสำคัญครอบคลุมไปถึงห่วงโซ่คุณค่าทางธุรกิจ

 

  1. การสร้างคุณค่าให้แก่สังคมทุกกลุ่ม มีแผนส่งเสริมและขยายแพลตฟอร์มดิจิทัลด้านสาธารณสุขและการศึกษา เพื่อยกระดับและพัฒนาคุณภาพชุมชนและสังคม 

 

  1. ความเหมาะสมและความปลอดภัยในการใช้อินเทอร์เน็ตและสังคมออนไลน์ โดยปี 2022 ADVANC ร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญด้านพลังงานทางเลือกติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้นอีก 3,190 แห่ง ทำให้มีสถานีฐานและศูนย์ข้อมูลคอมพิวเตอร์กับอาคารชุมสายที่ใช้พลังงานไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนรวมทั้งสิ้น 8,751 แห่ง สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 25,508 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ นำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาพัฒนาแอปพลิเคชัน E-waste และขยายจุดรับทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์กว่า 2,500 จุดทั่วประเทศ

 

5. PTTEP: Net Zero 2050 มาร์เก็ตแคป 6.252 แสนล้านบาท

 

บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) วางแนวทางการดำเนินงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านแนวคิด EP Net Zero 2050 โดยตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 ทั้งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรงและทางอ้อมจากการใช้พลังงานในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม และยังกำหนดเป้าหมายลดปริมาณความเข้ม (Intensity) การปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ไม่น้อยกว่า 30% ภายในปี 2030 และ 50% ภายในปี 2040 (จากปีฐาน 2020) 

 

กระบวนการสู่ Net Zero เน้นพัฒนาเทคโนโลยีเร่งพัฒนาโครงการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage: CCS) ทั้งยังเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนและมองหาพลังงานสะอาดรูปแบบใหม่ เพื่อนำมาใช้ในพื้นที่ปฏิบัติการและดำเนินการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Offsetting) อย่างต่อเนื่องผ่านโครงการปลูกป่าและการดูดซับคาร์บอนจากมหาสมุทร (Blue Carbon) ภายใต้โครงการ Ocean for Life

 

ที่ผ่านมา ปตท.สผ. ดำเนินการลดความเข้มของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาตลอดกว่า 25% ภายในปี 2030 (จากปีฐาน 2012) ซึ่งบรรลุเป้าหมายดังกล่าวแล้วในไตรมาสที่ 1 ปี 2022  ซึ่งเร็วกว่าที่ตั้งเป้าหมายไว้ 8 ปี โดยสามารถลดก๊าซเรือนกระจกสะสมได้ราว 3 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

 

6. GULF: Net Zero 2050 มาร์เก็ตแคป 5.749 แสนล้านบาท

 

บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ระบุในรายงานประจำปีด้านความยั่งยืนว่า ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงโลกที่ทำให้ต้องปรับกลยุทธ์ธุรกิจให้สอดคล้อง 3 ส่วนหลัก

 

  1. การมุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Decarbonization) มีเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 ด้วยการลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน โดยตั้งเป้าลงทุนพลังงานหมุนเวียนให้มีกำลังการผลิตไม่ต่ำกว่า 40% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดของบริษัทภายในปี 2035 จากเดิมที่เคยกำหนดเป้าหมายไว้ที่ 30% ภายในปี 2040

 

  1. การพัฒนาระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าขนาดเล็กแบบกระจายศูนย์ (Decentralization) เป็นการพัฒนาประสิทธิภาพของเทคโนโลยีด้านพลังงานทางเลือกและระบบกักเก็บพลังงาน รวมถึงราคาเทคโนโลยีดังกล่าวที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้บริโภคพลังงานสามารถมีบทบาทในการผลิตพลังงานไฟฟ้ามากขึ้น (Prosumer) นอกจากนี้ยังพัฒนาเทคโนโลยีโครงข่ายไฟฟ้าด้วยเครื่องมือดิจิทัล เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะนำไปสู่การขยายตัวของระบบผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กแบบไม่รวมศูนย์ (Distributed Energy Resources) ซึ่งจะทำให้โครงสร้างอุตสาหกรรมพลังงานทั่วโลกเปลี่ยนไป

 

  1. การเปลี่ยนผันไปสู่ยุคดิจิทัล (Digitalization) การเข้าสู่โลกดิจิทัลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและเป็นประโยชน์แก่ทุกภาคส่วน 

 

7. CPALL: Net Zero 2050 มาร์เก็ตแคป 5.636 แสนล้านบาท

 

บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) มีนโยบายคำนึงด้าน ESG ให้ครอบคลุม โดยเฉพาะด้าน E หรือสิ่งแวดล้อม มีแนวทางการปฏิบัติที่เรียกว่า ‘7 Go Green’ ที่พัฒนาเพื่อความยั่งยืนเข้าสู่ระยะที่ 2 คือปี 2021-2030 โดยมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และ Zero Waste ภายในปี 2030 และมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 จากแผนการดำเนินงานทั้งหมด  4 ด้าน คือ

 

  1. การบริหารจัดการร้านที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Store) ใช้ประโยชน์ของทรัพยากรให้คุ้มค่า นำพลังงานกลับมาใช้ซ้ำ ซึ่งรวมถึงการออกแบบการก่อสร้างอาคารหรือพื้นที่ของร้านศูนย์จำหน่ายสินค้าที่ต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมด้วย 

 

  1. การขนส่งและการกระจายสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Logistic) ปรับระบบขนส่งสีเขียว ปรับเส้นทางหรือขนาดรถ และเพิ่มสัดส่วนรถไฟฟ้า (EV) ในการขนส่งเพิ่ม

 

  1. การจัดการบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Packaging) บริหารจัดการบรรจุภัณฑ์เริ่มตั้งแต่การออกแบบ จำหน่าย และการนำมาหมุนเวียนใช้ใหม่ เช่น ลดการใช้พลาสติกครั้งเดียวทิ้งหรือบรรจุภัณฑ์ที่ไปสู่การฝังกลบ

 

  1. การสร้างจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Living) ร่วมมือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลายส่วนในการปลูกจิตสำนึกเรื่องสิ่งแวดล้อมและการสร้างความยั่งยืนกับชุมชน

 

พร้อมนำนวัตกรรมมาสร้างวัฒนธรรมการอุปโภคบริโภคที่รักษ์สิ่งแวดล้อม ใช้แนวคิด Circular Economy and Eco-Design กับบรรจุภัณฑ์ เพื่อใช้พลาสติกน้อยลงและใช้วัสดุที่สามารถปลูกทดแทนได้หรือจากธรรมชาติที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ เช่น การใช้ภาชนะที่ลดการใช้หลอด หรือเสื้อผ้าที่พนักงานใส่มาจากขวดพลาสติกรีไซเคิล พร้อมกับมีการบริหารจัดการของเสียและอาหารส่วนเกินที่ไม่ต้องนำไปสู่การฝังกลบให้ได้ 100% ภายในปี 2030 โดยปี 2022 มีปริมาณของเสียกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้ 73.76% 

 

8. BDMS: Net Zero 2050 มาร์เก็ตแคป 4.568​ แสนล้านบาท

 

จากรายงานความยั่งยืนประจำปี 2022 คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงระดับองค์กร (Enterprise Risk Management Steering Committee) อนุมัติให้ทบทวนนโยบายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ให้มีความเป็นปัจจุบันและสอดคล้องกับแนวทางการบริหารจัดการขององค์กรและตามกลยุทธ์เศรษฐกิจองค์กร โดยด้านนวัตกรรมมุ่งเน้นการบูรณาการวิทยาการ Health Care Ecosystem การพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพในรูปแบบดิจิทัล เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้รับบริการในโลกปัจจุบันที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว 

 

โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม ได้กำหนดเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากการดำเนินงานสุทธิให้เป็นศูนย์ภายในปี 2050 ที่ต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งทางตรงและทางอ้อมให้ได้ 100% พร้อมไปกับมีแผนดำเนินกิจการแบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ต้องบริหารจัดการปริมาณขยะที่ไม่อันตราย ให้สามารถนำกลับไปใช้ประโยชน์ได้เพิ่มเป็น 50% รวมทั้งการดูแลรักษาทรัพยากรน้ำที่มีเป้าหมายลดปริมาณการใช้น้ำต่อหน่วยรายได้เทียบกับปีฐานในปี 2022 ซึ่งธุรกิจและบริษัทในเครือต้องมีการใช้พลังงานหมุนเวียนสัดส่วนเป็น 30% ของพลังงานที่ใช้ทั้งหมดในปี 2050

 

9. SCC: Net Zero 2050 มาร์เก็ตแคป 3.888 แสนล้านบาท

 

บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) มีเป้าหมายดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนโดยคำนึงถึงเรื่อง ESG ที่พร้อมนำไปใช้ในการดำเนินธุรกิจทั้งระดับประเทศ ระดับอาเซียน และระดับโลก พร้อมร่วมมือทุกภาคส่วนในการผลักดันแนวทาง ESG 4 Plus คือ ‘มุ่ง Net Zero, Go Green, Lean เหลื่อมล้ำ, ย้ำร่วมมือ’ โดยตั้งเป้าหมายชัดเจนว่า ปี 2050 คือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ และปี 2030 จะมีลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 20% เทียบกับปีฐาน 2020 ขณะที่ปี 2025 จะมีการลดการใช้พลังงานลง 13% เมื่อเทียบกับกรณีปกติ ณ ปีฐาน 2007

 

สำหรับกลยุทธ์สู่ Net Zero จะเพิ่มสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงชีวมวลและแหล่งพลังงานสะอาดทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล พร้อมปรับปรุงหรือปรับเปลี่ยนกระบวนการและอุปกรณ์ให้มีประสิทธิภาพการใช้พลังงานสูงขึ้น วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero รวมทั้งพัฒนาสินค้า บริการ และโซลูชันที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดห่วงโซ่คุณค่า และจะประยุกต์ใช้เครื่องมือด้านเศรษฐศาสตร์ เพื่อส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พร้อมไปกับการสนับสนุนการปลูกและฟื้นฟูพื้นที่ป่าบนบก ป่าชายฝั่ง และหญ้าทะเล ให้มีความหลากหลายทางชีวภาพและเป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ รวมทั้งจัดกิจกรรมสร้างจิตสำนึกการอนุรักษ์พลังงานและการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้แก่พนักงานและคู่ธุรกิจ

 

ขณะที่การบริหารจัดการ มีการจัดทำมาตรการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานอย่างต่อเนื่องในทุกหน่วยธุรกิจ พร้อมจัดทำและเปิดเผยการจัดการประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามแนวทางสากล กำกับและดูแลการดำเนินการในประเด็นการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยคณะกรรมการบริษัทและผู้บริหารระดับสูง ซึ่งมีการประชุมทุกไตรมาส ผลักดันและดำเนินงานโดยคณะกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและพลังงาน ซึ่งมีการประชุมทุกไตรมาส

 

10. SCB: Net Zero 2050 มาร์เก็ตแคป 3.737 แสนล้านบาท

 

ธนาคารไทยพาณิชย์มุ่งมั่นสร้างความยั่งยืนต่อลูกค้า ผู้ถือหุ้น และผู้มีส่วนได้เสีย โดยเป็นผู้นำในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดย SCB มีเป้าหมายสู่ Net Zero ภายในปี 2050

 

หนึ่งในเป้าหมายการดำเนินงานเป็นผู้นำด้านการเติบโตอย่างยั่งยืน ได้นำหลักการ Equator Principles มาใช้ในการสนับสนุนสินเชื่อโครงการ เพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม รวมถึงนำนวัตกรรมทางการเงินรูปแบบใหม่ที่สนับสนุนเป้าหมายทางด้านความยั่งยืนให้แก่ธุรกิจ เช่น Sustainability-Linked Products หรือ Green Bond / Loan เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม รวมทั้งขยายการสนับสนุนการลงทุนที่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว เช่น ธุรกิจพลังงานสะอาด ธุรกิจยานยนต์พลังงานไฟฟ้า และธุรกิจที่เกี่ยวกับคาร์บอนเครดิต รวมทั้งจัดทำหลักสูตรที่ส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs เช่น SMEs ที่มีโรงงานหรือสายการผลิตที่ต้องการใช้ข้อมูลเทคโนโลยี วิเคราะห์ผลการปรับปรุงการผลิตลดต้นทุน และพัฒนาศักยภาพพนักงาน โดยเน้นลูกค้าที่ทำธุรกิจซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่อง ESG 

 

พร้อมให้บริษัทลูก SCBX Group มีส่วนร่วมดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมและมุ่งสู่ Net Zero ภายในปี 2030 ในการสนับสนุนโครงการต่างๆ เช่น สนับสนุนให้ชุมชนดูแลป่าเพื่อดูดซับคาร์บอน และสนับสนุนการจัดทำระบบแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต หรือการพัฒนาพื้นที่สีเขียว

 

ทั้งหมดนี้ Net Zero จะไม่มีความหมายใดๆ หากปล่อยให้เป็นเพียงการป่าวประกาศเท่านั้น แต่การลงมือทำอย่างจริงจัง พร้อมชวนทุกภาคส่วนที่มีส่วนร่วมในห่วงโซ่ธุรกิจมาร่วมมือร่วมใจกันต่างหาก ที่เป็นการช่วยโลกนี้ได้อย่างยั่งยืนที่สุด เพราะการทำให้โลกน่าอยู่ควรเป็นหน้าที่ของทุกคน

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X