เกิดอะไรขึ้น:
เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 บมจ.ไทยออยล์ (TOP) รายงานกำไรสุทธิลดลง 72.8%QoQ สู่ 2.9 พันล้านบาทใน 4Q66 แต่ปรับตัวดีขึ้นอย่างมากจากกำไรสุทธิ 147 ล้านบาทใน 4Q65 เป็นไปตามที่คาดการณ์ กำไรที่ลดลง QoQ สะท้อนถึง GIM (กำไรขั้นต้นจากการผลิตของกลุ่ม) ที่ลดลง 23%YoY และ 37%QoQ สู่ 8.6 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จาก Market GRM ที่ลดลงของธุรกิจโรงกลั่น ด้วยขาดทุนสต็อกที่ 5.1 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล Accounting GIM จึงปรับตัวลดลง 85%QoQ สู่ 3.6 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล แต่ดีกว่า 1.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลใน 4Q65 และได้รับการชดเชยบางส่วนจากกำไรของธุรกิจอะโรเมติกส์ที่ดีขึ้น ด้านกำไรจากการดำเนินงานสุทธิลดลง 17%YoY และ 50%QoQ สู่ 5.3 พันล้านบาท
สำหรับกำไรสุทธิปี 2566 อยู่ที่ 1.94 หมื่นล้านบาท ลดลง 40.5%YoY จากฐานที่สูงผิดปกติในปี 2565 ซึ่งเป็นช่วงที่ GRM ปรับตัวขึ้นแรงสืบเนื่องมาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน
กระทบอย่างไร:
หลังรายงานผลประกอบการ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 ราคาหุ้น TOP ปรับขึ้น 2.21% สู่ระดับ 57.75 บาท ขณะที่ SET Index ปรับขึ้น 0.39% สู่ระดับ 1,390.45 จุด
แนวโน้มผลประกอบการ 2567:
InnovestX Research คาดว่ากำไรปกติจะปรับตัวดีขึ้น QoQ ใน 1Q67 จากการฟื้นตัวของ GRM โดยได้แรงหนุนจาก Crack Spread ที่สูงขึ้นของน้ำมันเบนซินและน้ำมันเตา แม้ว่าการดำเนินงานโรงกลั่นจะสะดุดลงจากการหยุดผลิตนอกแผน ซึ่งจะส่งผลทำให้อัตราการใช้กำลังการกลั่นลดลงสู่ 95-98% เทียบกับ 111% ใน 4Q66
นอกจากนี้ยังคาดว่าผลการดำเนินงานของธุรกิจอะโรเมติกส์จะปรับตัวดีขึ้น โดยเกิดจากอุปทานที่ตึงตัวในเอเชีย และความต้องการสารผสมน้ำมันเบนซินที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้ปริมาณวัตถุดิบที่ใช้ผลิต PX ตึงตัวขึ้น แนวโน้มในระยะสั้นสำหรับเบนซินก็เป็นบวก โดยได้แรงหนุนจากการหยุดชะงักของอุปทานในสหรัฐฯ และการขาดแคลนเรือสืบเนื่องมาจากวิกฤตทะเลแดง
สำหรับกลยุทธ์การลงทุน ยังคงคำแนะนำ Outperform สำหรับ TOP เพราะ GRM และธุรกิจอะโรเมติกส์มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น โดยราคาเป้าหมายอยู่ที่ 77 บาทต่อหุ้น อิงกับ PBV 1 เท่า (ปี 2567) ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีเล็กน้อย และคิดเป็น EV/EBITDA ที่ 8.67 เท่า ราคาหุ้น TOP ในปัจจุบันคิดเป็น PBV ที่ 0.7 เท่า (-1.4SD) ซึ่งสูงกว่าระดับ 0.5 เท่าในปีที่เกิดสถานการณ์โควิดอยู่เล็กน้อย
TOP ประกาศจ่ายเงินปันผลงวดสุดท้ายของปี 2566 ที่อัตรา 2.75 บาทต่อหุ้น (XD: 27 กุมภาพันธ์) ทำให้เงินปันผลรวมทั้งหมดสำหรับปี 2566 อยู่ที่ 3.4 บาทต่อหุ้น คิดเป็นอัตราการจ่ายเงินปันผล 39%
ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตามคือ ราคาน้ำมันและ GRM ผันผวน ราคาน้ำมันที่ลดลงจะทำให้เกิดขาดทุนสินค้าคงเหลือ และอุปสงค์ผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์ที่ลดลง ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ คือการเปลี่ยนแปลงกฎหมายเกี่ยวกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ปัจจัยเสี่ยงด้าน ESG ที่สำคัญคือ ผลกระทบของธุรกิจต่อสิ่งแวดล้อม และการปรับตัวในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด