เนื่องในโอกาสการเริ่มต้นของปี 2567 แอ๊พซินท์ (Appsynth) หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญที่ปรึกษาด้านดิจิทัลและแอปบนสมาร์ทโฟนของไทย ร่วมมือกับ data.ai แพลตฟอร์มวิเคราะห์ข้อมูลมือถือ เพื่อเปิดเผยผลการจัดอันดับข้อมูลท็อป 20 แอปขององค์กรไทยที่มีการดาวน์โหลดสูงสุด โดยนับย้อนกลับไปตั้งแต่เปิดสโตร์จนถึงปัจจุบัน
รายงานนี้ได้จัดกลุ่มแอปที่มีการดาวน์โหลดสูงสุดตามหมวดหมู่ และดูปัจจัยสำคัญที่เป็นผลให้เกิดความสำเร็จ นอกจากนี้ยังมีข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับแนวโน้มในอนาคตสำหรับแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน
จากรายชื่อแอปพลิเคชันมือถือที่มีการดาวน์โหลดมากที่สุด 20 อันดับแรกของไทย รายงานพบว่ามีแอปพลิเคชันในภาคบริการทางการเงินมากถึง 9 แอป จากธนาคารทั้งหมด 7 แห่ง ซึ่งครอบคลุมทั้งบริการกระเป๋าเงินดิจิทัล บริการชำระเงิน และแอปพลิเคชันธนาคารบนสมาร์ทโฟน โดยมีอีก 2 แอปที่ให้บริการโดยหน่วยงานที่ไม่ใช่ธนาคาร
แม้แอปพลิเคชันส่วนใหญ่ในหมวดบริการการเงินจะให้บริการโดยธนาคารพาณิชย์ แต่สิ่งที่น่าสนใจคือแอปที่มียอดดาวน์โหลดสูงที่สุดกลับเป็น TrueMoney ที่ให้บริการโดย ทรู คอร์ปอเรชัน โดยถ้าหากย้อนกลับไป 5 ปีก่อน แอป TrueMoney เคยอยู่ในลำดับที่ 6 ทำให้การไต่ระดับสู่แอปพลิเคชันที่มียอดดาวน์โหลดสูงสุดของ TrueMoney ตอกย้ำให้เห็นถึงความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นจากฟินเทคและโซลูชันทางการเงินแบบฝังตัว (Embedded Finance Solutions) ในการช่วยขยายขีดความสามารถและยกระดับบริการของสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร
TrueMoney (ชื่อเดิม Wallet by TrueMoney) เปิดตัวในปี 2556 ในฐานะผู้ให้บริการกระเป๋าเงินดิจิทัล ปัจจุบันได้พัฒนาต่อยอดให้เป็นแอปพลิเคชันอเนกประสงค์ในชีวิตประจำวัน มีฟีเจอร์อื่นๆ ที่มากกว่าการชำระเงินแบบเดิม เช่น บริการชำระเงินค่าสาธารณูปโภค เติมเงินโทรศัพท์มือถือ การออมและลงทุน รวมถึงการโอนเงินแบบ Peer-to-Peer นอกจากนี้แอป TrueMoney ยังมีแคมเปญที่สร้างแรงจูงใจให้ผู้ใช้งานสามารถสะสมคะแนนเพื่อใช้แลกเป็นส่วนลดและของรางวัลต่างๆ ได้ ทำให้สร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าได้แน่นขึ้น
สำหรับในกลุ่มแอปที่มีการดาวน์โหลดสูงสุด 5 อันดับแรก ประกอบไปด้วยแอปจากธนาคารพาณิชย์ชั้นนำของไทย ซึ่งได้แตกบริการใหม่ๆ นอกเหนือไปจากบริการหลัก เช่น ประกัน สินเชื่อ และโปรแกรมสะสมแต้ม
การพัฒนาและปรับตัวของแอปพลิเคชันเหล่านี้ เป็นการยืนยันว่าเหตุผลที่แอปพลิเคชันจะครองใจผู้ใช้งานและประสบความสำเร็จได้อย่างต่อเนื่องนั้น จำเป็นต้องปรับจากแอปที่ให้บริการผลิตภัณฑ์หลักอย่างเดียว ไปสู่การให้ความสำคัญกับผู้ใช้งาน เอาผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง และสามารถที่จะสร้างประสบการณ์ที่ดีและมีคุณค่าอย่างแท้จริง
ในส่วนของบริการฟู้ดเดลิเวอรี ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ มี 2 แอปดังที่อยู่ในลำดับต้นๆ ของการจัดอันดับ ซึ่งที่น่าจับตามองคือ 7-Eleven ที่สามารถเติบโตได้แบบก้าวกระโดด โดยครองอันดับที่ 5 ของลิสต์ เพิ่มขึ้นจากอันดับที่ 15 เมื่อ 5 ปีก่อน
ภาพรวมของวงการฟู้ดเดลิเวอรีในไทยก็มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดเช่นกัน ผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดต่างปรับกลยุทธ์จากการเป็นเพียงสื่อกลางการเชื่อมผู้บริโภคกับร้านอาหารให้ไปสู่บริการที่เต็มรูปแบบมากขึ้น มีฟังก์ชันที่ตอบโจทย์ทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภค โดยเร็วๆ นี้มีการจับมือกันของผู้ให้บริการข้ามแพลตฟอร์มมากขึ้น เพื่อสร้างโซลูชันใหม่ๆ ที่นำเอาเทคโนโลยีมาปรับใช้ในวงการร้านอาหารเพื่อสร้างประสบการณ์ทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์ให้ไร้รอยต่อมากขึ้น
App Store เปิดตัวในปี 2551 ด้วยแอปพลิเคชันบนสโตร์ 500 แอปพลิเคชัน ล่าสุดในปี 2566 มีแอปบนสโตร์มากกว่า 1.96 ล้านแอปพลิเคชัน ส่วน Android มีแอปพลิเคชัน 3.7 ล้านแอปบน Google Play ทั้งนี้ มีข้อมูลว่าผู้ใช้งานมากถึง 25% ตัดสินใจเลิกใช้งานแอปหลังจากการใช้งานครั้งแรก แบรนด์ต่างๆ ที่กำลังคิดจะสร้างแอปหรือวางแผนอนาคตสำหรับแอปขององค์กร จึงจำเป็นต้องคำนึงถึงคุณสมบัติเด่น เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้ใช้งานเกิดการใช้งานอย่างต่อเนื่อง
โรเบิร์ต แกลลาเกอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอ๊พซินท์ เอเชีย จำกัด ให้ความคิดเห็นว่า “เราจะเห็นได้ว่าแอปพลิเคชันที่อยู่ใน 10 ลำดับแรกกำลังผันตัวสู่การเป็น Super App คือมีการเพิ่มบริการใหม่ๆ ที่นอกเหนือจากผลิตภัณฑ์หลักออกมา เพื่อที่จะส่งมอบคุณค่าสูงสุดสู่มือผู้ใช้งาน และการที่แพลตฟอร์มเหล่านี้เปิดให้ Third-Party ได้เข้ามาสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ จะเป็นการเปิดรับโอกาสได้อีกมาก เรามองว่าเทรนด์ Super App และนวัตกรรมแบบเปิด (Open Innovation) จะมีบทบาทสำคัญต่ออนาคตการพัฒนาแอป ทั้งในปี 2567 และปีถัดๆ ไป”
หมายเหตุ:
- สถิติท็อปดาวน์โหลดเป็นข้อมูลรวบรวมจาก App Store ระหว่างเดือนกรกฎาคม 2551 – ธันวาคม 2566 และ Play Store ในช่วงเดือนมีนาคม 2555 – ธันวาคม 2566