ดัชนีบำนาญ (Global Pension Index) ประจำปี 2023 พบว่า เนเธอร์แลนด์กลับมาครองตำแหน่งประเทศที่มีระบบบำเหน็จบำนาญดีที่สุด อันดับ 1 ของโลก ส่วนไทยได้คะแนนเพียง 46.4 อยู่อันดับ 43 จาก 47 ประเทศในดัชนี Mercer CFA Institute ยังเตือนอีกว่า สถานการณ์ทั่วโลกกำลังตกอยู่ภายใต้แรงกดดันอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
Mercer CFA Institute สถาบันที่ปรึกษาระดับโลก เปิดเผยรายงานดัชนีบำเหน็จบำนาญโลก (Global Pension Index) ประจำปี 2023 พบว่า ‘เนเธอร์แลนด์’ กลับมาครองตำแหน่งประเทศที่ขึ้นชื่อว่ามีระบบบำเหน็จบำนาญดีที่สุดในโลก สำหรับเกณฑ์ที่ Mercer ใช้ประเมิน ได้แก่ ความเพียงพอ (Adequacy), ความยั่งยืน (Sustainability) และความซื่อตรง (Integrity)
นอกจากนี้ Mercer CFA Institute ยังเตือนอีกว่า สถานการณ์การเกษียณอายุ (Retirement) ทั่วโลกกำลังตกอยู่ภายใต้แรงกดดันอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
ส่วน ‘ไอซ์แลนด์’ แชมป์โลกปีที่แล้ว ในปี 2023 ได้ตกมาอยู่อันดับ 2 รองลงไปเป็น ‘เดนมาร์ก’ ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 3 สำหรับประเทศที่ได้เกรด A อีกแห่ง คือ อิสราเอล ซึ่งกำลังเผชิญสงครามอยู่ในขณะนี้
รายงานยังระบุอีกว่า ประเทศอันดับ 1 อย่างเนเธอร์แลนด์กำลังมีพัฒนาการสำคัญ เนื่องจากขณะนี้กำลังปฏิรูปโครงการบำเหน็จบำนาญจากลักษณะโครงสร้างโดยรวม (Collective Structure) ไปสู่แนวทางส่วนบุคคล (Individual Approach) มากขึ้น
Mercer CFA Institute กล่าวอีกว่า หลังการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ระบบบำเหน็จบำนาญของเนเธอร์แลนด์ก็จะยังคงให้ผลประโยชน์ที่ดี เนื่องมาจากฐานสินทรัพย์และการกำกับดูแลที่แข็งแกร่ง
ระบบบำเหน็จบำนาญในประเทศส่วนใหญ่ในโลกจะอยู่ภายใต้ความตึงเครียด เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของประชากรสูงอายุ ภาระหนี้ภาครัฐ และอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น รวมไปถึงความท้าทายต่างๆ เช่น การผนวกแรงงานใน Gig Economy หรือแรงงานตามแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น Grab และ Uber เข้าไป
David Knox ผู้นำทีมนักเขียนรายงานฉบับนี้ และ Senior Partner ของ Mercer เตือนว่า “ผู้คนระดับล่างสุดทั่วโลก (Bottom Line) ต้องเริ่มดูแลตัวเองในวัยเกษียณ เราไม่สามารถพึ่งพาประกันสังคมหรือเงินบำนาญสาธารณะได้อีกต่อไป”
รายงานกล่าวอีกว่า อัตราการเกิดที่ลดลงยังได้สร้างแรงกดดันต่อเศรษฐกิจและระบบบำนาญในหลายประเทศในระยะยาว ซึ่งส่งผลเสียต่อคะแนนความยั่งยืนในดัชนีสำหรับบางประเทศ เช่น อิตาลีและสเปน
สำหรับระบบบำเหน็จบำนาญประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในอันดับ 43 จาก 47 โดยมีคะแนนอยู่ที่ 46.4
Mercer ยังแนะว่า เพื่อให้ค่าดัชนีดังกล่าวเพิ่มขึ้น ไทยควรทำให้พนักงานเข้าร่วมโครงการบำเหน็จบำนาญมากขึ้น รัฐบาลไทยควรเพิ่มการสนับสนุนขั้นต่ำสำหรับผู้สูงอายุที่ยากจน และปรับปรุงข้อกำหนดการกำกับดูแลสำหรับระบบบำเหน็จบำนาญเอกชน
ภาพประกอบ: ธิดามาศ เขียวเหลือ
อ้างอิง: