×

10 อันดับเศรษฐีไทยปี 2561 เจียรวนนท์ยังครองเบอร์ 1 ผู้บริหารแบรนด์ SNAILWHITE ติดด้วย

03.05.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 MINS READ
  • ‘พี่น้องตระกูลเจียรวนนท์’ เจ้าของธุรกิจเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) ครองบัลลังก์แชมป์มหาเศรษฐีไทยประจำปี 2561 จากนิตยสาร Forbes ในอันดับที่ 1 ด้วยมูลค่าทรัพย์สินรวมกว่า 30,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 950,747 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วราว 40% ส่วนอันดับ 2 และ 3 ตกเป็นของตระกูลจิราธิวัฒน์จากเครือเซ็นทรัล และเฉลิม อยู่วิทยา มหาเศรษฐีเจ้าของแบรนด์เครื่องดื่มชูกำลังกระทิงแดง
  • สราวุฒิ พรพัฒนารักษ์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์เครื่องสำอาง บริษัท ดู เดย์ ดรีม จำกัด (มหาชน) หรือ ‘สเนลไวท์ (SNAILWHITE)’ ติดเข้ามาเป็นมหาเศรษฐีไทยหน้าใหม่ในลำดับที่ 45 ได้เป็นครั้งแรก มีมูลค่าทรัพย์สินรวมกว่า 675 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่กลุ่มนักธุรกิจเจ้าของสื่อโทรทัศน์ในไทยกลับมีมูลค่าทรัพย์สินลดลงต่อเนื่อง
  • ใน 10 อันดับมหาเศรษฐีไทย ไม่มีรายชื่อนักธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมเทคโนโลยีปรากฏเข้ามาเลย ต่างจากสหรัฐอเมริกาและจีน สะท้อนให้เห็นว่ายังเป็นเรื่องลำบากที่ไทยจะผลิตสินค้าเทคโนโลยีส่งออกได้ด้วยตัวเอง

จากการเปิดเผย 50 อันดับมหาเศรษฐีไทยประจำปี 2561 (2018) โดยนิตยสาร Forbes เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคมพบว่าปีนี้เศรษฐีไทยทั้ง 50 อันดับมีมูลค่าทรัพย์สินรวมกันเหยียบ 162,000 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 5.12 ล้านล้านบาท! ในจำนวนนี้ 55% คือมูลค่าทรัพย์สินที่กระจุกตัวอยู่ในครอบครองของเศรษฐีไทย 4 อันดับแรก (89,600 ล้านเหรียญสหรัฐ)

 

 

‘พี่น้องตระกูลเจียรวนนท์’ เจ้าของธุรกิจเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) ยังคงครองบัลลังก์แชมป์อันดับ 1 ได้ตามเคย ด้วยมูลค่าทรัพย์สินรวมกว่า 30,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 950,747 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วราว 40% (มูลค่าทรัพย์สินปี 2017 ประมาณ 21,500 ล้านเหรียญสหรัฐ)

 

ตามมาติดๆ ด้วยตระกูลจิราธิวัฒน์จากเครือเซ็นทรัล เจ้าของมูลค่าทรัพย์สินในครอบครองกว่า 21,200 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 671,797 ล้านบาท) ขยับขึ้นมาจากอันดับในปี 2560 ถึง 1 อันดับ เช่นเดียวกับอันดับ 3 เฉลิม อยู่วิทยา มหาเศรษฐีเจ้าของแบรนด์เครื่องดื่มชูกำลังกระทิงแดง (Red Bull) ที่มีมูลค่าทรัพย์สินราว 21,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 665,416 ล้านบาท) โดย Forbes มองว่าความสำเร็จในตลาดสหรัฐอเมริกามีผลทำให้ตระกูลอยู่วิทยามีมูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด

 

อันดับที่ 4 ตกเป็นของ เจริญ สิริวัฒนภักดี เจ้าสัว Thaibev ที่ปีนี้หล่นฮวบมาถึง 2 อันดับ มีมูลค่าทรัพย์สินรวม 17,400 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 551,257 ล้านบาท) ตามมาด้วย วิชัย ศรีวัฒนประภา เจ้าของกิจการค้าปลีกสินค้าปลอดภาษี ‘คิง เพาเวอร์’ และประธานสโมสรฟุตบอลเลสเตอร์ ซิตี้ (อังกฤษ) ในอันดับที่ 5 ด้วยมูลค่าทรัพย์สินรวม 5,200 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 164,724 ล้านบาท)

 

แม้สถานการณ์ในวงการสื่อโดยเฉพาะวิกฤตการณ์วงการทีวีดิจิทัลยังไม่มีท่าทีว่าจะกระเตื้องขึ้น แต่กฤตย์ รัตนรักษ์ ประธานกรรมการบริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด และประธานกรรมการสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 ยังคงยึดอันดับอภิมหาเศรษฐีไทยในลำดับที่ 6 ได้เหนียวแน่นด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 3,700 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 117,217 ล้านบาท ลดลงจากปีที่แล้วราว 5%)

 

ขณะที่อันดับที่ 7, 8, 9 และ 10 ตกเป็นของ สารัชถ์ รัตนาวะดี (ธุรกิจพลังงาน: Gulf), ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ (โรงพยาบาล สายการบินและสื่อ: โรงพยาบาลกรุงเทพ, สายการบินบางกอกแอร์เวย์สและสถานีโทรทัศน์ PPTV + ถือหุ้นอีก 50% ของช่อง one31), อาลก โลเฮีย (ปิโตรเคมี: อินโดรามา เวนเจอร์ส) และวานิช ไชยวรรณ (ประกันภัย: ไทยประกันชีวิต) ตามลำดับ

 

เผยโฉมเศรษฐีหน้าใหม่ เจ้าของแบรนด์ SNAILWHITE ติดด้วย! เจ้าสัวธุรกิจสื่อซบเซา

นอกจาก สารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ธุรกิจในกลุ่มพลังงานจะสามารถแหวกโผเข้ามาเป็น New Entry มหาเศรษฐีไทยประจำปี 2561 รั้งตำแหน่งในลำดับที่ 7 ได้แล้ว ลิสต์ 50 อันดับยังปรากฏชื่อของ ‘สราวุฒิ พรพัฒนารักษ์’ ผู้ก่อตั้งแบรนด์เครื่องสำอาง บริษัท ดู เดย์ ดรีม จำกัด (มหาชน) หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘สเนลไวท์ (SNAILWHITE)’ ติดเข้ามาเป็นมหาเศรษฐีไทยหน้าใหม่ในลำดับที่ 45 อีกด้วย โดยมีมูลค่าทรัพย์สินรวมกว่า 675 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 21,367 ล้านบาท

 

ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ระบุว่า บริษัท ดู เดย์ ดรีม จำกัด (มหาชน) ยื่นจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อปีที่แล้วด้วยทุนจดทะเบียน 318 ล้านบาท ก่อนเปิดให้มีการเข้าซื้อขายหุ้น IPO ครั้งแรกเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2560 โดยผลประกอบการในปีที่ผ่านมามีรายได้รวมทั้งหมดราว 1,684 ล้านบาท กำไรสุทธิประมาณ 351 ล้านบาท ส่วนสินทรัพย์และหนี้สินรวมอยู่ที่ราว 5,460 ล้านบาท และ 674 ล้านบาทตามลำดับ

 

ก่อนหน้านี้กรุงเทพธุรกิจเคยประเมินตัวเลขรายได้จากการขายสินค้าแบรนด์สเนลไวท์คร่าวๆ พบว่า ปีแรกที่เริ่มจำหน่ายสินค้า ดู เดย์ ดรีม มีรายได้จากยอดขายรวมกว่า 90 ล้านบาท และเติบโตถึง 5 เท่าในปีถัดมา (450 ล้านบาท) ก่อนขยับขึ้นเป็น 1 พันล้านบาทในปีที่ 3 โดยสราวุฒิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารตั้งเป้าไว้ว่าจะพาดู เดย์ ครีม โกยรายได้ในหลักหมื่นล้านบาทให้ได้ภายใน 5-10 ปีต่อจากนี้

 

เมื่อนำปัจจัยเบื้องต้นมาผนวกรวมเข้ากับอันดับเศรษฐีไทยใน Forbes ประจำปี 2561 ก็น่าจะพอชี้วัดได้ว่าดู เดย์ ดรีม ภายใต้การบริหารงานของ สราวุฒิ พรพัฒนารักษ์ คือธุรกิจที่กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นจริงๆ

 

สวนทางกันกลับธุรกิจสื่อเก่าเช่นโทรทัศน์ ที่ในปีนี้นักธุรกิจเจ้าของธุรกิจสื่อมีมูลค่าทรัพย์สินลดลงจากเดิมอยู่หลายคน เช่น กฤตย์ รัตนรักษ์ ประธานกรรมการของสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 ที่มีมูลค่าทรัพย์สินลดลงจากปี 2560 ราว 200 ล้านเหรียญสหรัฐ

 

โดยเฉพาะรายของ วิชัย มาลีนนท์ ประธานกรรมการและผู้ร่วมก่อตั้ง BEC World ที่ในปีนี้รั้งท้ายอยู่ในลำดับที่ 44 มีมูลค่าทรัพย์สินรวม 680 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากปีที่แล้วถึง 210 ล้านเหรียญสหรัฐ (-30%) รวมถึง ประณีตศิลป์ วัชรพล ประธานกรรมการบริษัท วัชรพล จำกัด และมูลนิธิไทยรัฐ (ลำดับที่ 46) ที่มีทรัพย์สินในครอบครองลดลงจากปีที่แล้ว 280 ล้านเหรียญสหรัฐเหลือ 670 ล้านเหรียญสหรัฐ (-29%)

 

สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้บรรดาเศรษฐีและเศรษฐีนีวงการสื่อไทยได้รับผลกระทบมูลค่าทรัพย์สินลดลง Forbes เชื่อว่าเป็นผลมาจากการที่ผู้ประกอบการสื่อส่วนใหญ่ต้องแบกรับภาระหนี้สินค่าใช้จ่ายจากการประมูลช่องโทรทัศน์ทีวีดิจิทัลในปี 2556 หรือเมื่อ 5 ปีที่แล้ว บวกกับภาวะซบเซาของสื่อเก่าที่ปัจจุบันเริ่มได้รับความนิยมน้อยลงเรื่อยๆ ตามพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป จนในที่สุดแบรนด์เอเจนซีก็เริ่มพิจารณาหันไปซื้อพื้นที่โฆษณาบนแพลตฟอร์มอื่นๆ แทน

 

10 อันดับเศรษฐีไทยไม่มีใครทำธุรกิจ บ.เทคโนโลยี โดยตรงเลย!

2 ปีที่แล้ว Forbes เคยออกมาสรุปรายงานว่ามหาเศรษฐีจากทั่วทุกมุมโลกที่อยู่ในลิสต์ของ Forbes สร้างเนื้อสร้างตัวมาจากอุตสาหกรรมใดมากที่สุดโดยพบข้อมูลดังนี้

  1. การเงินและการลงทุน: จำนวนนักธุรกิจผู้มั่งคั่งในอุตสาหกรรม 267 คน (15% ของจำนวนเศรษฐีในลิสต์ทั้งหมด)
  2. แฟชั่นและการค้าปลีก: จำนวนนักธุรกิจผู้มั่งคั่งในอุตสาหกรรม 221 คน (12% ของจำนวนเศรษฐีในลิสต์ทั้งหมด)
  3. อสังหาริมทรัพย์: จำนวนนักธุรกิจผู้มั่งคั่งในอุตสาหกรรม 163 คน (9% ของจำนวนเศรษฐีในลิสต์ทั้งหมด)
  4. เทคโนโลยี: จำนวนนักธุรกิจผู้มั่งคั่งในอุตสาหกรรม 159 คน (9% ของจำนวนเศรษฐีในลิสต์ทั้งหมด)
  5. อุตสาหกรรมการผลิต: จำนวนนักธุรกิจผู้มั่งคั่งในอุตสาหกรรม 157 คน (9% ของจำนวนเศรษฐีในลิสต์ทั้งหมด) 

 

เป็นเรื่องจริงที่ใครๆ ก็รู้ว่าสินค้าอุปโภคและบริโภคในกลุ่มปัจจัย 4 ย่อมจำหน่ายและขายได้วันยังค่ำ แต่ที่น่าสังเกตคือปัจจุบัน 10 มหาเศรษฐีไทยในปี 2561 นี้ (หรือปีก่อนๆ เองก็ตาม) กลับไม่มีรายชื่อของนักธุรกิจที่เป็นเจ้าของบริษัทเทคโนโลยี หรือดำเนินกิจการในส่วนงานด้านเทคโนโลยีเลยแม้แต่คนเดียว (ไม่นับการเป็นพาร์ตเนอร์กับบริษัทเทคโนโลยีจากต่างประเทศเช่น CP (True Wallet) x Alipay หรือ Central x JD)

 

ขณะที่ประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาหรือจีน ลิสต์ 10 อันดับอภิมหาเศรษฐีที่มั่งคั่งที่สุดล้วนแล้วแต่มีชื่อของนักธุรกิจที่ดำเนินกิจการในสายเทคโนโลยีติดอยู่ถึง 5 คนเท่าๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นเบอร์ 1 ของสหรัฐฯ อย่าง เจฟฟ์ เบโซส์ (Amazon: อีคอมเมิร์ซ, ธุรกิจสื่อและเทคฯ) นักธุรกิจวัย 54 ปีที่มีมูลค่าทรัพย์สินรวมล่าสุดราว 112,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ ‘หม่าฮั่วเถิง’ เศรษฐีเบอร์ 2 ของจีน เจ้าของอาณาจักร Tencent ที่มีมูลค่าทรัพย์สินรวมล่าสุดอยู่ที่ 39,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

 

ปัญหาการไม่มีนักธุรกิจผู้มีรายได้สูงเบอร์ต้นๆ ของประเทศมาจากสายเทคโนโลยี ยังสะท้อนให้เห็นว่าเป็นเรื่องที่ยากพอสมควรกับการที่เราจะส่งออกเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ในเซกเมนต์ดังกล่าวเป็นของตัวเองเพื่อทำตลาดในอนาคตอันใกล้

 

ไม่นานมานี้ THE STANDARD เคยมีโอกาสได้สัมภาษณ์ ธีระชาติ ก่อตระกูล ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท StockRadars (อ่านบทสัมภาษณ์เต็มๆ ได้ที่นี่) โดยเจ้าตัวได้สะท้อนมุมมองที่น่าสนใจกับบทบาทการส่งออกเทคโนโลยีของไทยไว้ดังนี้

 

“บริษัทที่มีมูลค่าสูงสุดในทุกประเทศและของโลกเป็นบริษัทเกี่ยวกับเทคโนโลยีกันหมด แต่ตลาดหุ้นไทยยังไม่มีบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ๆ เลย มันเกิดอะไรขึ้นกับประเทศเรา เราอาจจะต้องเห็นความสำคัญของการส่งออกเทคโนโลยีมากขึ้น”

 

ธีระชาติยังกล่าวอีกด้วยว่าการสร้างอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่มีคุณค่าจะส่งผลอย่างมากในการช่วยอัปไซส์ให้กับประเทศไทย

 

ด้านบริษัทรับให้คำปรึกษาด้านธุรกิจอย่าง Capgemini เคยออกผลสำรวจจากการไล่สอบถามผู้เชี่ยวชาญว่าธุรกิจใดจะทำเงินให้กับตัวบุคคลมากที่สุดภายในปี 2025 และพบว่า สายงานด้านเทคโนโลยีนำโด่งอยู่ในลำดับที่ 2 โดยผู้เชี่ยวชาญ 30.9% มองว่าอุตสาหกรรมนี้จะสร้างรายได้ให้กับบุคลากรและผู้ประกอบการได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ

 

แน่นอนว่าสินค้าอุปโภค-บริโภคและร้านค้าปลีกคือภาคธุรกิจที่มีบทบาทในชีวิตประจำวันของเราและทำรายได้ได้มหาศาลอยู่แล้ว แต่ก็ต้องไม่ลืมเช่นกันว่าในอนาคตอันใกล้นี้อุตสาหกรรมเทคโนโลยีจะเริ่มเข้ามามีบทบาทกับชีวิตของเราอย่างปฏิเสธไม่ได้ แล้วถ้าใครเห็นโอกาสหรือช่องทางในตลาดนี้ก่อนก็ย่อมเลี่ยงการถูก Disrupted และกุมความได้เปรียบในมือไว้ได้เสมอ

 

ภาพประกอบ (Infographic) :  Nisakorn Rittapai

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X