เว็บไซต์ Trading Economics ได้ทำการจัดอันดับประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อสูงที่สุดไล่ไปจนถึงต่ำที่สุดในโลก โดยรวบรวมข้อมูลจาก134 เขตเศรษฐกิจที่มีการประกาศตัวเลขเงินเฟ้อ ณ วันที่ 26 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยพบว่าประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อสูงสุดของโลกในปัจจุบันคือ เวเนซุเอลา ซึ่งมีระดับเงินเฟ้อในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาอยู่ที่ 429% ตามมาด้วย เลบานอน, อาร์เจนตินา, ซิมบับเว และซูรินาม ที่มีเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับ 260%, 114%, 86.5% และ 64.6% ตามลำดับ
ขณะที่ประเทศที่มีเงินเฟ้อต่ำที่สุดของโลก ได้แก่ หมู่เกาะเซเชลส์, บูร์กินาฟาโซ, จีน, ไนเจอร์ และปานามา โดยมีอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับ -1.02%, -0.30%, 0.20%, 0.20% และ 0.42%
สำหรับไทยถูกจัดให้เป็นประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำเป็นอันดับที่ 6 จากทั้งหมด 134 เขตเศรษฐกิจ โดยข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ไทยระบุว่า ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยสูงขึ้นเพียง 0.53%YoY ชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และต่ำสุดในรอบ 21 เดือน โดยสาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและค่ากระแสไฟฟ้า รวมทั้งราคาสินค้าในหมวดอาหารชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง และฐานราคาที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อในปีก่อนที่อยู่ในระดับสูง
ในวันที่ 5 กรกฎาคมนี้ กระทรวงพาณิชย์จะมีการแถลงตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมิถุนายนของไทย โดยคาดว่าเงินเฟ้อจะชะลอตัวต่อเนื่องหรือมีโอกาสหดตัวได้ตามการลดลงของสินค้าในกลุ่มพลังงาน โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีแนวโน้มลดลงและอยู่ในระดับต่ำกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อนค่อนข้างมาก และค่ากระแสไฟฟ้าที่ปรับลดลงจากมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาล ฐานราคาที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อในเดือนมิถุนายน 2565 ค่อนข้างสูง ประกอบกับมาตรการลดค่าครองชีพและการกำกับดูแลราคาสินค้าและบริการของหน่วยงานภาครัฐ
อย่างไรก็ตาม ความแปรปรวนของสภาพอากาศ อุปสงค์ในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น และต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการที่ยังอยู่ในระดับสูง ทั้งราคาก๊าซหุงต้ม ค่าแรง และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย อาจจะทำให้เงินเฟ้อมีโอกาสผันผวนได้บ้าง ซึ่งจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป
ภาพประกอบ: พุทธิพงศ์ โรจน์ศตพงค์