นัมเบโอ เว็บไซต์ฐานข้อมูลด้านเมืองและประเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลก รายงานดัชนีค่าครองชีพทั่วโลกปี 2562 ซึ่งคำนวณจากค่าสินค้าอุปโภคบริโภค ค่าอาหาร ค่าเช่าที่พัก และกำลังซื้อของประชากรในเมือง พบว่า กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่มีค่าครองชีพอันดับที่ 223 จาก 444 เมืองทั่วโลก สูงที่สุดเป็นอันดับ 2 ของกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน โดยดัชนีอยู่ที่ 55.63 จุด ขณะที่ค่าใช้จ่ายต่อคนไม่รวมค่าเช่าบ้าน เฉลี่ยอยู่ที่ 2.1 หมื่นบาทต่อเดือน รายได้หลังหักภาษีเฉลี่ย 2.4 หมื่นบาทต่อเดือน ส่วนค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของครอบครัวที่มีสมาชิก 4 คน ไม่รวมค่าเช่าบ้าน อยู่ที่ 7.58 หมื่นบาทต่อเดือน
รายจ่ายที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดของคนกรุงเทพฯ ปีนี้คือ ค่าอาหารในร้านอาหาร อยู่ที่ 30.42 จุด จาก 27.99 จุด เมื่อปี 2561 ราคาเฉลี่ย 80 บาทต่อมื้อ และค่าเช่าที่พักเพิ่มขึ้นเป็น 26.35 จุด ขณะที่ค่าสินค้าอุปโภคบริโภคดัชนีปรับลดลงเล็กน้อยที่ 58.32 จุด จากค่าใช้จ่ายทั้งสองส่วน (ค่าอาหารและค่าเช่าที่พัก) ที่เพิ่มขึ้น ทำให้กำลังซื้อของคนกรุงเทพฯ ลดลงมาอยู่ที่ 41.15 จุด จาก 44.94 จุดเมื่อปีที่ผ่านมา เมื่อพิจารณารายละเอียดสินค้าบางรายการพบว่า กาแฟคาปูชิโนที่คนกรุงเทพฯ จ่ายเฉลี่ย 77.09 บาทต่อแก้ว อาหารสำหรับสองคนในร้านระดับกลางอยู่ที่ 850 บาทต่อมื้อ ค่าอินเทอร์เน็ตรายเดือน 773.55 บาท
ไม่เพียงแต่กรุงเทพฯ เท่านั้น ภูเก็ต พัทยา และเชียงใหม่ ยังติดอยู่ในเมือง 10 อันดับแรกที่มีค่าครองชีพสูงที่สุดในอาเซียน โดยค่าใช้จ่ายเฉลี่ยไม่รวมค่าเช่าบ้านใน 3 เมืองดังกล่าวอยู่ที่ 1.6-1.8 หมื่นบาทต่อเดือน และถ้าเปรียบเทียบกับประเทศอาเซียนด้วยกัน สิงคโปร์ยังเป็นเมืองที่มีค่าครองชีพสูงที่สุด ดัชนีอยู่ที่ 69.79 จุด ตามด้วยกรุงเทพฯ ประเทศไทย และย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา โดยค่าครองชีพในย่างกุ้งต่ำกว่ากรุงเทพฯ เล็กน้อยจนเกือบจะเท่ากัน ส่วนภูเก็ตติดอันดับ 4 พัทยาติดอันดับ 6 และเชียงใหม่อยู่อันดับ 8 ของอาเซียน สำหรับเมืองที่มีค่าครองชีพสูงที่สุดในโลกคือเมืองบาเซิล ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งดัชนีค่าครองชีพอยู่ที่ 131.37 จุด ขณะที่เมืองที่มีค่าครองชีพสูงที่สุดในเอเชียคือโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ดัชนีค่าครองชีพอยู่ที่ 88.45 จุด
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: